Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

บีโอไอชี้ช่องผู้ประกอบการ มองโอกาสการค้าใหม่ชูอาเซียนเติบโตสูง แนะ 5 ประเทศตลาดเปิดใหม่น่าสนใจ

หากเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ในอาเซียนพบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการส่งออกต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุด คือ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำชาติการค้าในอาเซียนในปี 2564 ไทยควรตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากการส่งออก และการเพิ่มยอดการลงทุนต่างประเทศ (Outward FDI) ในอาเซียนของไทยให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2564 หรือควรมีสัดส่วนดังกล่าวอย่างน้อยเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนไม่รวมบรูไนที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ซึ่งพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ภายใต้เงื่อนไขของการกำหนดตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง คือ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ผลิตภาพการผลิตของปัจจัยการผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ต่อปี และผลิตภาพการผลิตของแรงงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกของไทยไม่น่าต่ำกว่าร้อยละ 9.2

บีโอไอชี้ช่องผู้ประกอบการ มองโอกาสการค้าใหม่ชูอาเซียนเติบโตสูง แนะ 5 ประเทศตลาดเปิดใหม่น่าสนใจ

โอกาส 3 ด้านของผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในอาเซียน

เพื่อเป็นการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอาเซียน เนื่องจากค่าแรงของไทยอยู่ระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันประเทศในอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูง ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

โอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอาเซียน

การลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอาเซียน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไปสู่โอกาส 3 ด้าน ได้แก่

  1. โอกาสที่ธุรกิจไทยไปตั้งฐานการผลิต เพื่อแก้ปัญหาที่อุตสาหกรรมไทยมีอยู่ ทั้งด้านแรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน
  2. โอกาสที่ธุรกิจไทยรุกเข้าถึงตลาดอาเซียน ที่จะรวมกันเป็นตลาดเดียวในอนาคต ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้สินค้าไทยไปสู่ระดับอาเซียน
  3. โอกาสก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค จากการที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น ความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ธุรกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์จากอาเซียนในอนาคตได้อีก

ชี้ลงทุนในอาเซียน ต้องมีสายป่านยาว และศึกษาตลาดให้ดี

คุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวได้ถึงผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนของไทยในอาเซียน” ภายในงานสัมมนา ‘Thailand Overseas Investment Forum 2017’ ว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการไปลงทุนในอาเซียน ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เข้าใจตลาดท้องถิ่นดีพอ ขณะเดียวกันธุรกิจควรมีสายป่านที่ยาว และมีบริษัทแม่ที่ขายในไทยอยู่ก่อนแล้วเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากกฎหมายของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งสำคัญควรศึกษาตลาดของแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนให้ดี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนเพื่อขายสินค้าในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออกสินค้า เพราะตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และกำลังขยายตัวโดยเฉพาะในเกาะชวา อินโดนีเซียมีช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ดี สามารถใช้ผู้แทนจำหน่ายในการช่วยกระจายสินค้าได้กิจกรรมส่งเสริมการขายและทำการตลาด ควรใช้ช่องทางของสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก สินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุน คือ ชิ้นส่วนยานยนต์

ประเทศเวียดนาม แบ่งออกเป็น 3 เขต (เหนือ กลาง ใต้) พบว่ามีการแข่งขันสูงในเวียดนามใต้ ผู้บริโภคเปลี่ยนแบรนด์สินค้าง่าย แต่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ขณะที่เวียดนามตอนกลางการแข่งขันยังไม่สูงมาก และมีตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น การเข้าไปลงทุนควรมีพนักงานท้องถิ่นที่มีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นเนื่องจากกฎระเบียบเปลี่ยนแปลงบ่อย

ประเทศเมียนมา เป็นประเทศที่นักลงทุนหลายชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุน เพราะมีการส่งเสริมการลงทุน จากต่างประเทศ และเปิดเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนมากจึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมาควรหาพันธมิตรทางการค้า โดยมุ่งไปที่ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่

การลงทุนใน 5 ประเทศ โอกาสการค้าการลงทุนในประเทศตลาดใหม่

บีโอไอแนะ 5 ประเทศ โอกาสการค้าการลงทุนในประเทศตลาดใหม่

นอกเหนือจากการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศในอาเซียนแล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังแนะโอกาสขยายการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยใน 5 ประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และแทนซาเนีย

คุณโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ มีศักยภาพทางการตลาดที่นักลงทุนไทยควรขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ เนื่องจากศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนของทั้ง 5 ประเทศไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม การลงทุนในต่างประเทศจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของประเทศ เป้าหมายที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนไทยลดความเสี่ยงจากการลงทุนภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม โอกาสการลงทุนใน 5 ประเทศดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลเชิงลึกทุกด้าน อาทิ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎระเบียบ ตลอดจนอุปสรรคและข้อควรระวัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน อาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศที่มีรายได้สูง กำลังลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และมุ่งส่งเสริมธุรกิจในสาขาอื่นๆ อีกทั้ง ยังเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับการลงทุนและแรงงานจากต่างชาติ

เอธิโอเปีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2560 จะเติบโตด้วยอัตราก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่ร้อยละ 8.3

อินเดีย มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูง มีจำนวนประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน สะท้อนถึงตลาดในประเทศขนาดมหาศาล โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในประเทศที่กำลังเติบโต และยังมีอุตสาหกรรมสนับสนุนจำนวนมากในราคาถูก เช่น เหล็ก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม

แอฟริกาใต้ มีความพร้อมของทรัพยากร มีที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีความง่ายในการเริ่มทำธุรกิจ และเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้ง ยังมีศักยภาพทางด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง รวมถึงการเป็นฐานการผลิตของบริษัทยานยนต์หลายราย เพื่อส่งไปจำหน่ายในยุโรป และประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง จึงเหมาะต่อการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

แทนซาเนีย มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก การแปรรูปพืชผลทางการเกษตร การประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำ

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนักลงทุนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก การมองโอกาสการค้าการลงทุนและศักยภาพในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เติบโตเร็ว และมีความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุน จึงเป็นการสร้างโอกาสในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทแวดล้อมของโอกาสและการลงทุนใหม่ๆ นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดเดิมก็ตาม

EXECUTIVE SUMMARY

Thailand has the goal to move toward for becoming ASEAN’s commerce leader in 2021, and in order to achieve such goal, it is necessary for Thailand to continually add value added ratio from export and increase outward FDI in ASEAN by 10% per year up to 2021, or at least Thailand must gain such ratio by the third ranking in ASEAN excluding Brunei as it is considered as a small country, which mainly counts on gasoline export.

With this goal in mind, the Board of Investment of Thailand (BOI) has suggested entrepreneurs and investors to seek for new commerce and investment opportunities both from neighbor countries such as Indonesia, Myanmar and Vietnam, and interesting new market countries such as United Arab Emirates, Ethiopia, India, South Africa and Tanzania since these countries have fast growing trend and offer plentiful investment channels that shall help Thailand to create more investing opportunities.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924