Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

อุตฯ – พลังงาน หนุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม

อุตฯ  ผนึกกำลัง พลังงาน ปั้นขยะเป็นไฟฟ้าใช้ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมหนุนตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่า ลดการฝังกลบ

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กระทรวงพลังงาน ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to-Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความยินดีในความร่วมมือในครั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

Springboard Venture | AUTOMATION EXPO 2022

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงพลังงานลงนามในบันทึกความเข้าใจการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste-to- Energy) และการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีระยะเวลาความร่วมมือ 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ และได้พลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ สร้างมูลค่าจากขยะอุตสาหกรรม สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นในการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีความต้องการให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ และสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) และนโยบายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนการดำเนินงาน (Roadmap) กำหนดเป้าประสงค์ (Achievement Target) และเป้าความสำเร็จย่อยเป็นระยะ ๆ (Milestone) โดยมีคณะกรรมการร่วมฯ ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 โดยได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุคสาหกรม (กรอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมรวมถึงวัตถุอันตรายด้านการผลิต สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ตามกรอบของกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินงาน

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า กรอ. จะเร่งดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ โดยสนับสนุนข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทย เช่น ปริมาณ ประเภท และคุณสมบัติของขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อมูลผู้ประกอบกิจการขยะอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนให้ขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้สำรวจปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่มีค่าความร้อนที่เหมาะสมสำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า เช่น เศษพลาสติก เมื่อทราบปริมาณและพื้นที่เป้าหมายแล้ว จะนำมาวางแนวทางความเป็นไปได้ในการตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนว่า กระทรวงพลังงานมีพันธกิจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาพลังงานในระดับพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) และยังคงให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการจัดการด้านขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน 

ทั้งนี้ ทั้งสองกระทรวงเห็นตรงกันว่าควรจะกำจัดขยะอุตสาหกรรมแล้วได้พลังงานไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการผลักดันเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรโดยการใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ 

พร้อมทั้งการนำขยะหรือวัสดุเหลือใช้กลับมาสร้างมูลค่า เศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ในสาขาพลังงาน เรามีความมุ่งหวังว่า บันทึกความเข้าใจฯ ของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการขับเคลื่อนและบูรณาการร่วมกัน เพื่อช่วยส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ได้เป็นอย่างดี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสนับสนุนการบริหารจัดการขยะ โดยทำการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม และมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว รวมเป็นปริมาณทั้งสิ้น 343.94 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นขยะชุมชน 313.16 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30.78 เมกะวัตต์) และในส่วนของการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อนมีปริมาณทั้งสิ้น 135 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Kiloton of oil equivalent : ktoe) 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ปริมาณขยะยังคงเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำจัดที่ถูกต้องและเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะช่วยผลักดันให้การจัดการขยะของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และแสดงความมั่นใจว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะโดยการร่วมมือกันของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม จะบรรลุเป้าหมาย และช่วยให้เกิดความตระหนักในทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือกันกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ช่วยลดปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924