Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) ประหยัดอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

ระบบปรับอากาศในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ถือว่ามีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุด ในบางแห่งสัดส่วนการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศอาจสูงกว่า 50% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในอาคาร ดังนั้น การออกแบบระบบปรับอากาศที่ดี มีการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ประหยัดพลังงานและประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น

ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) ประหยัดอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

ระบบปรับอากาศมักจะถูกออกแบบเพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอยู่ในช่วงความสบายของผู้ที่อยู่ใน Comfort Zone คือ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22-27 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง 20-75% โดยทั่วไประบบปรับอากาศที่มีการใช้งานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีการออกแบบอยู่หลายประเภทโดยระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) ถือเป็นระบบที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดประหยัดพลังงาน และผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ต้องรู้จักดัชนีตรวจวัดพลังงาน ก่อนเริ่มมาตรการประหยัด

การดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานสำหรับระบบปรับอากาศในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น ก่อนอื่นผู้ใช้ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) จำเป็นต้องทราบถึงดัชนีในการตรวจวัดพลังงานในส่วนของระบบปรับอากาศเสียก่อน ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการในขั้นตอนแรก คือ การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานในระบบ ซึ่งควรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับสมรรถนะความสามารถเดิมว่าลดลงเท่าใด ก่อนที่จะหาแนวทางในการปรับปรุงเพื่อเพิ่มสมรรถนะหรือทำการเปลี่ยนเครื่องใหม่

เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดนั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นระดับ SME ส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในส่วนนี้

ทำความรู้จักพารามิเตอร์ในการตรวจประเมิน

สำหรับวิธีการตรวจประเมินความเหมาะสมในการติดตั้งใช้งานและพารามิเตอร์ต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนในเบื้องต้น ซึ่งสามารถประเมินด้วยสายตาได้ ดังนี้

การเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับพื้นที่

การติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดการทำความเย็นเหมาะสมจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งหากจะทำการคำนวณโดยละเอียดนั้น จะต้องมีการพิจารณาถึงค่าภาระความร้อน (Cooling Load) ทั้งหมดภายในห้องนั้น ๆ ทั้งความร้อนจากแสงแดดที่เข้ามาสู่ห้องทางผนัง กระจก หลังคา และความร้อนภายในห้อง ซึ่งเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวนคน กิจกรรมที่ทำ เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปสามารถประเมินขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมได้ จากพื้นที่ของห้องที่ต้องการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ
ตารางแสดงการเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ

ตำแหน่งการติดตั้งคอยล์ร้อนและคอยล์เย็นที่เหมาะสม

ตำแหน่งการติดตั้งคอยล์ร้อนควรอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีอุณหภูมิต่ำ เช่น ในที่ร่ม ไม่มีแหล่งความร้อนทั้งจากธรรมชาติ หรือเครื่องจักร และควรติดตั้งให้ด้านหลังของชุดคอยล์ร้อนอยู่ห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร และปราศจากสิ่งกีดขวาง ทางด้านหน้าอย่างน้อย 80 เซนติเมตร

ตำแหน่งการติดตั้งคอยล์เย็นที่เหมาะสมควรอยู่ในบริเวณที่สามารถกระจายอากาศเย็น (Supply Air) ได้อย่างทั่วถึงและลมกลับ (Return Air) สามารถหมุนเวียนกลับมาเข้าคอยล์เย็นได้สะดวก และไม่มีสิ่งกีดขวางทางทั้งลมจ่าย และลมกลับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการติดตั้งในบริเวณที่มีแหล่งความร้อน เช่น ใกล้ประตู หน้าต่าง หรือบริเวณที่มีแดดส่องถึง

Check List เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน

ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นถือเป็นการประเมินด้วยสายตา ซึ่งถ้าต้องการการประเมินที่แม่นยำมากขึ้น จะต้องอาศัยการตรวจเช็กที่ละเอียดมากขึ้น โดยมีรายละเอียดการตรวจเช็กอุปกรณ์ต่างๆ ดังไฟล์เอกสารตารางประกอบด้านล่าง

 รายการ Checklist ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน

ข้อมูลที่ควรดำเนินการสำรวจและตรวจวัดของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน
  • สำรวจชนิด ขนาด จำนวน ยี่ห้อ รุ่น Specification และข้อมูลประสิทธิภาพจากผู้ผลิต
  • อัตราการไหลของอากาศ ปริมาณที่รับความเย็น
  • ตรวจวัดขนาด ขนาดพื้นที่ หน้าตัดของลมกลับ
  • อุณหภูมิและความชื้น วิเคราะห์เอนธาลปีของลมจ่ายและลมกลับ
  • ตรวจวัดค่ากำลังไฟฟ้า หาค่ากำลังไฟฟ้าของคอมเพรสเซอร์ พัดลม Evaporator พัดลม Condenser

มาตรการเพื่อการประหยัดพลังงาน สำหรับระบบปรับอากาศแบบ Split Type

ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบปรับอากาศของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสำหรับระบบปรับอากาศในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ประกอบการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อประเทศชาติเมื่อการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1) การล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศจะมีประสิทธิภาพดี เมื่อคอยล์ร้อนสามารถระบายความร้อนได้ดีและคอยล์เย็นสามารถกระจายลมเย็นได้ดี ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อใช้งาน ไประยะหนึ่งฝุ่นละอองในอากาศจะถูกดูดด้วยพัดลม และเกาะตัวบริเวณฟิลเตอร์และแผงคอยล์

ดังนั้น จึงต้องมีการบำรุงรักษาด้วยการล้างทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปกรองอากาศคอยล์เย็นซึ่งสามารถถอดล้างเองได้ง่าย ควรทำความสะอาดทุกๆ 2-4 เดือน และแผงคอยล์ร้อนแผงคอยล์เย็น และพัดลม ควรล้างทำความสะอาดโดยช่างผู้ชำนาญทุกๆ 4-6 เดือน ซึ่งความถี่ในการล้างขึ้นอยู่กับชั่วโมงการเปิดใช้งานและสภาพอากาศในบริเวณที่ใช้งาน และสามารถประหยัดพลังงานได้สูงถึง 10% เมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ก่อนล้างทำความสะอาด

ตรวจสอบความสะอาดของแผงคอยล์ร้อน คอยล์เย็น และกรองอากาศบริเวณคอยล์เย็นอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรจัดให้มีแผนการบำรุงรักษา โดยการล้างทำความสะอาดฟิลเตอร์คอยล์เย็นทุกๆ 2-4 สัปดาห์ และล้างแผงคอยล์ร้อน คอยล์เย็นทุกๆ 3-6 เดือน

2) การเพิ่มอุณหภูมิปรับตั้ง (Set Point) ของเครื่องปรับอากาศคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนจะทำงานเมื่ออุณหภูมิอากาศด้านลยกลับมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิปรับตั้ง และจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิอากาศเย็นเท่ากับค่าที่ตั้งไว้ และเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิอากาศสูงกว่าที่ตั้งค่าไว้ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส สำหรับการทำงานเมื่อใช้อุปกรณ์ควบคุมแบบเล็กทรอนิกส์ โดยเซนเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิอากาศติดตั้งไว้บริเวณแผงคอยล์เย็น ด้านลมกลับเป็นตัวส่งสัญญาณ เพื่อควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์

จะเห็นได้ว่าเมื่อตั้งอุณหภูมิต่ำจะส่งให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก และในทางตรงกันข้ามหากทำการปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นก็จะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศลง ซึ่งโดยทั่วไปการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้ 10%

3) การลดอุณหภูมิอากาศระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ จากหลักการทำงานของระบบปรับอากาศ ซึ่งเป็นการนำความร้อนในห้องไประบายทิ้งด้านนอก ดังนั้น หากคอยล์ร้อนสามารถระบายความร้อนได้ดี ห้องก็จะเย็นเร็ว และประหยัดพลังงานซึ่งอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อนที่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้สามารถระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็นได้ดี โดยทั่วไปเมื่ออากาศระบายความร้อนมีอุณหภูมิต่ำลง 1 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดพลังงานได้ 2%

4) มาตรการใช้ระบบปรับอากาศแบบ VRV (Variable Refrigerant Volume) ระบบปรับอากาศแบบ VRV คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่มีคอยล์เย็นหลายชุดต่ออยู่กับคอยล์ร้อนชุดเดียว โดยควบคุมปริมาณการไหลของน้ำยาไปยัง Evaporator แต่ละตัวได้อย่างอิสระ ทำให้ระบบปรับอากาศทำงานได้หลายโซนที่ต้องการอุณหภูมิและความชื้นแตกต่างกัน

หัวใจสำคัญของระบบอยู่ที่ Variable Speed Compressor เหมาะสมกับการใช้งานในอาคารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และการปรับปรุงหรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศสำหรับอาคารเก่า ถึงแม้จะเป็นระบบที่มีความซับซ้อนภายในวงจรควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในแง่ของผู้ใช้ผู้ดูแลรักษา การใช้งานและดูแลรักษาเหมือนกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนทั่วไป

5) มาตรการนำความร้อนทิ้งจากระบบปรับอากาศกลับมาใช้ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน มีการระบายความร้อนด้วยอากาศที่ชุดคอยล์ร้อน ซึ่งอุณหภูมิผิวท่อน้ำยาร้อนสูงถึง 80-90 องศาเซลเซียส จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำให้น้ำอุณหภูมิสูงประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ สามารถใช้น้ำร้อนที่ได้สำหรับการอาบน้ำหรือกระบวนการผลิตต่างๆ ที่ต้องการใช้น้ำร้อน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าไฟฟ้าจากการต้มน้ำแล้ว ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศสูงขึ้นได้ เนื่องจากการระบายความร้อนที่ดีขึ้น โดยทั่วไปการดำเนินการตามแนวทางนี้สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 10-30%

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเพื่อการประหยัดพลังงานที่ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าสำหรับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหากผู้ประกอบการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังย่อมทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการเองและประเทศชาติในทางอ้อมด้วยเช่นกัน

EXECUTIVE SUMMARY

Split type air conditioner is a famous choice in various field of manufacturing that could create cost saving for the business as a concrete evidence.The methods for entrepreneur to use in order to create worthy value of cost saving are cleaning the air conditioner, raise the set point of air conditioner, reduce the heat sink’s temperature, also the use of Variable Refrigerant Volume (VRV) and the method to recycling waste heat from the air conditioner. You can see that these methods don’t need to added more investment or just use few of it. The methods based on the sharp information analysis.


Source:

https://goo.gl/zv144Z
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924