ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ล้วนให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นวัสดุที่ช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าเท่านั้น ในด้านการตลาดบรรจุภัณฑ์ยังเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจในตัวสินค้าจนอาจจะมีอิทธิพลมากกว่าสินค้าที่อยู่ภายในเสียอีก
หลายคนคงรับรู้ความรู้สึกได้ดี ที่เมื่อมีใครก็ตามนำของขวัญของฝากจากต่างแดนมาแบ่งกันในสำนักงาน สิ่งที่สาวๆ แย่งชิงกันนั้นกลับไม่ใช่ตัวสินค้า แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สวย น่ารัก น่าใช้ต่างหาก
บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ดี บางครั้งก็ทำให้ผู้บริโภคเบื่อหน่ายและเสียความรู้สึกได้ง่ายๆ อาจพาลไปถึงไม่อยากซื้อสินค้านั้นอีกเลยก็ได้ “ความง่ายในการปิด” จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของสินค้าต้องคำนึงถึง ของบรรจุขนมจำนวนไม่น้อยที่ละเลยจุดนี้ เมื่อผู้บริโภคจะฉีกซองต้องออกแรงดึงมาก จนบางครั้งทำให้ขนมที่อยู่ภายในกระจายหล่นเกือบครึ่ง
“การออกแบบบรรจุภัณฑ์” เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการบริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน คือ ปกป้อง คุ้มครองสินค้าให้ปลอดภัยจากความเสียหายอันเนื่องมาจากกระทบกระเทือน และป้องกันสิ่งปนเปื้อนที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งจากโรงงานการผลิตไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งหน้าที่นี้ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์มีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย และเหมาะสมสำหรับสินค้าแต่ละประเภท ผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์จึงหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและออกแบบกันมากขึ้น
ในปัจจุบันไม่ใช่เพียงวัสดุภายนอกที่ใช้ห่อหุ้มสินค้าเท่านั้น แต่บรรจุภัณฑ์กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นเครื่องกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะวัสดุที่นำมาใช้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องก้าวตามให้ทัน เพื่อจะได้ไม่ตกขอบเวทีแข่งขันระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ในการพัฒนา หรือเลือกใช้วัสดุเพื่อนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชนิดหนึ่งๆ นั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบให้ถูกต้องสอดคล้องกับประเภทสินค้าสภาพการขนส่ง และการตลาดด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงไม่จบลงแค่ส่วนที่อยู่ภายในใกล้ตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ภายนอกด้วย การออกแบบจึงให้ความสำคัญในลักษณะดังนี้
- การออกแบบด้านโครงสร้าง (Structural design) หมายถึง เทคนิคในการเลือกใช้ชนิดของวัสดุ การกำหนดขนาด รูปแบบ วิธีการบรรจุและส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- การออกแบบด้านศิลปะ (Graphic design หรือ Visual design) หมายถึง การออกแบบที่ให้ผลต่อการส่งเสริมการขาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพการพิมพ์ การตบแต่งด้านสีสัน รูปภาพ รูปร่าง เพื่อให้ภาชนะบรรจุนั้นมีความสวยงาม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้นๆ ด้วย
ประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์ ที่มักคำนึกถึงทั่วไป อาทิ
- การป้องกัน (Protection) เช่น กันน้ำ กันความชื้น กันแสง กับอุณหภูมิสูงหรือต่ำ เพื่อต้านทานมิให้ผลิตภัณฑ์แปรสภาพ ไม่แตก ไม่ฉีกขาดง่าย และปกป้องให้สินค้าภายในอยู่ในสภาพใหม่สดเสมอ
- การจัดจำหน่ายและการกระจาย (Distribution) ที่ต้องเหมาะสมกับลักษณะการซื้อขาย ทั้งบรรจุภัณฑ์ย่อยเพื่อการแยกจำหน่าย และบรรจุภัณฑ์รวมสำหรับขายส่งรวมถึงการนำสินค้าไปตั้งโชว์บนชั้นหรือจุดแสดงสินค้า
- การส่งเสริมการจำหน่ายและเพิ่มยอดขาย (Promotion) เพื่อให้โดดเด่นกว่าสินค้าอื่นๆ ที่ตั้งวางอยู่ในพื้นที่เดียวกัน บรรจุภัณฑ์จึงต้องทำหน้าที่นำเสนอตัวเองได้อย่างสะดุดตา ทั้งสีสัน รูปทรง และชื่อผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ยังคงต้องมีรายละเอียดที่แจ้งเงื่อนไข ข้อมูลสินค้าตามที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด
- กลมกลืนกับสินค้าและกรรมวิธีการบรรจุ (Packing) ทั้งในแง่โครงสร้างที่เข้ากับขั้นตอนการบรรจุ และอำนวยความสะดวกในหิ้วถือ ตลอดจนใช้ได้กับเครื่องมือการบรรจุที่มีอยู่แล้ว ด้วยอัตราความเร็วในการผลิตที่ต้องการ ต้นทุนการบรรจุที่ต่ำ ที่สำคัญการบรรจุที่ดีต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ทางด้านโลจิสติกส์และการส่งออก บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่มักใช้วัสดุประเภทไม้มาใช้ จะต้องผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และแมลงที่อาจแฝงตัวอยู่ในไม้ด้วย ผู้ให้บริการด้านนี้จึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายข้อห้ามและข้อกำหนดของประเทศปลายทาง เมื่อได้รับคำสั่งของลูกค้าแล้ว จะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงพัฒนาการของบรรจุภัณฑ์รวมถึงข้อกำหนดและข้อของประเทศต่างๆ เพื่อสามารถปฏิบัติตามอย่างถูกต้องและเหมาะสม