บทความหลัก… สถาบันอาหารหนุนเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ปั้น ‘ฮับเมืองนวัตกรรมอาหารโลก’
หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า ‘Silicon Valley’ แหล่งรวมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีระดับโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดของ Facebook, Google, Apple ด้วยหลักคิดที่ว่า หากรัฐสร้างสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา ให้เกิดทั้งการส่งเสริมและแข่งขันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้
ประเทศไทยกำลังจะมีโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่ ‘World Food Valley’ หรือฮับเมืองนวัตกรรมอาหารโลก ซึ่งวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์รวมวัตถุดิบโลก รัฐจะสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในแง่เงินทุน มาตรการทางภาษีองค์ความรู้ และเทคโนโลยี โดยภายในฮับจะแบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่
One Stop Service ศูนย์บริการครบวงจร ตั้งแต่การรับโจทย์ให้คำปรึกษา วิเคราะห์ตลาด ร่วมวิจัยและพัฒนา ตลอดจนออกแบบ บรรจุภัณฑ์
Co Creation Center เป็นหน่วยงานที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือแต่ละภาคส่วนในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน Industrial Estate เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ให้ผู้ประกอบการมาตั้งโรงงานและห้องแล็บ
Trading and Service เพื่อสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์และธุรกิจต่างๆ สามารถส่งจำหน่ายอย่างมีศักยภาพตามหลักการบริหารโลจิสติกส์
และหน่วยสุดท้าย คือ Tax Incentive for Big Brother หน่วยภาษีที่จะมีมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งทำให้เราได้ประโยชน์ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการก้าวกระโดด
คุณอรวรรณกล่าวอีกว่า เรียกผู้ประกอบการว่า Food Warrior เป็นผู้ประกอบการแบบนักรบ มีความแข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการไว้ที่ 35,000 ราย ให้มาร่วมเป็น Food Warrior กับเราเบื้องต้นให้งบประมาณ Food Warrior รายละ 1 ล้านบาท โดยเปิดรับทั้งเกษตรกร นักอุตสาหกรรมอาหาร และนักพัฒนาอาหารต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอาหาร ที่จดทะเบียนกับกรมแรงงาน 110,000 ราย ฉะนั้น เป้า 35,000 ราย ที่เราตั้งไว้ ไม่เกินไปจากความเป็นจริง
เล็งจัดมหกรรม World Food Expo 2018
คุณอรวรรณยังกล่าวถึงงานใหญ่ในปีหน้า อย่าง World Food Expo 2018 ที่ต้องการเปิดหน้าต่างให้โลกรู้จักอาหารไทย ตามคอนเซ็ปต์ Window of Thai Taste โดยมีจุดเด่นเรื่องที่มาของวัตถุดิบ โดยให้โปรดักส์ต่างๆ มาขึ้นทะเบียนว่าสินค้าหรือวัตถุดิบมาจากไหน ปลูกจากไหน เลี้ยงที่ไหน ในรูปแบบการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จะทำให้สินค้ามีคุณค่า ซึ่งย่อมสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วย
“เราจะลุยทุก Expo เพื่อประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้จักอาหารและวัตถุดิบจากไทย เบื้องต้นเราแบ่งผู้บริโภคเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มความสนใจเฉพาะ เช่น กลุ่มฮาลาล มังสวิรัติ อาหารคลีน อาหาร ออร์แกนิก เป็นต้น กลุ่มพรีเมี่ยมหรือเน้นความสะดวกสบาย เช่น สินค้า กึ่งสำเร็จรูป อเนกประสงค์ เป็นต้น กลุ่มทางกายภาพ เช่น ลดน้ำหนัก แพ้ถั่ว กลูเตนฟรี ผู้สูงอายุ เบาหวาน เป็นต้น และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มเพื่อสังคม เช่น กลุ่มควบคุมอาหาร กลุ่มต้องฟื้นฟูร่างกาย เป็นต้น
เราต้องตั้งเป้าให้ชัด ว่าสินค้าของคุณขายใคร ตอบสนองใครไม่งั้นกลายเป็นว่า มันแผ่ว ไม่มีแก่น เข้าได้ทุกกลุ่มอาจจะเข้าไม่ได้
สักอย่าง ฉะนั้น ต้องโฟกัสให้ชัด ต้องเห็นหน้าคนกิน” คุณอรวรรณกล่าวทิ้งท้าย
เห็นได้ว่า สถาบันอาหารในฐานะเจ้าภาพของโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ ที่จะกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารนั้น ไม่สามารถทำได้โดยลำพังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
ต้นทุนด้านวัตถุดิบพร้อม สาธารณูปโภคพร้อม เงินทุนพร้อม คำถามถูกส่งกลับมาที่ภาคอุตสาหกรรมแล้วว่า จะไปด้วยกันไหม