ปฏิวัติวงการอาหารกันอีกครั้งเมื่อนักวิจัยพัฒนาวัตถุดิบที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งการเปลี่ยนรูปร่างดังกล่าวนำไปสู่การลดขนาดและการใช้งานบรรจุภัณฑ์ และลด Footprint ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เวลาเห็นใครคุยกันเรื่อง “แปลงร่าง/แปลงกาย” อาจคิดว่าเป็นแค่เรื่องของเด็ก ไอ้มดแดง หุ่นยนต์ซุปเปอร์โรบอท หรือสายลับ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าอาหารนั้นก็มีการแปลงกายหรือเกิดการเปลี่ยนรูปร่างมานานแล้ว ในตำราทำอาหารหรือการแข่งขันทำอาหารสมัยนี้เราอาจจะเคยเห็นอาหารที่หยดไนโตรเจนเหลวแล้วเปลี่ยนรูป ให้ความร้อมเพิ่มรูปร่างจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะอยู่ในกลุ่ม Culinary Art หรือศิลปะการประกอบอาหารที่ต้องใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับประสบการณ์ไม่น้อยในการรังสรรค์ โดยมากอาหารที่เปลี่ยนรูปได้เหล่านี้มักจะเป็นอาหารที่ต้องปรุงสดหรือทำขึ้นเฉพาะกิจเท่านั้น
เมื่อขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหารมีปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของปัญหาการถมขยะในสหรัฐอเมริกา การค้นคว้าวิจัยเพื่อหาวิธีลดประมาณบรรจุภัณฑ์ นักวิจัยจึงได้คิดถึงการออกแบบวัตถุดิบให้สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้โดยคำนึงถึงความเรียบง่ายเป็นหลัก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีลักษณะเรียบแบน ลดพื้นที่ในการขนส่งและการจัดเก็บ หนึ่งในตัวอย่างที่นักวิจัยนึกถึง คือ พาสต้า ซึ่งมีหลายรูปทรง มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างหลากหลายอย่างมาก
ความท้าทายสำคัญสำหรับการผลิตพาสต้า 3 มิติที่สามารถเปลี่ยนรูปนี้อยู่ที่กลไกในการเปลี่ยนรูปร่างให้เป็นดังที่ต้องการระหว่างการทำอาหาร ซึ่งส่วนปัจจัยสำคัญในการวิจัยนี้อยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก คือ ส่วนผสมของแป้งที่ใช้ตั้งต้นและลวดลาย (Pattern) ที่อยู่บนผิวของพาสต้า
อย่างที่เรารู้กันดีว่าเมื่อวัตถุใด ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิขึ้นวัตถุนั้น ๆ สามารถที่จะยืดขยายหรือหดตัวได้ ในกรณีของพาสต้านี้ คือ การหดตัวเมื่อถูกต้ม ลวดลายบนผิวเมื่อถูกความร้อนผ่านน้ำจะทำให้รูปร่างของพาสต้าที่แบนเรียบอยู่แต่เดิมนั้นเปลี่ยนไปตามที่ถูกออกแบบไว้
ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างที่หลากหลายนี้จะนำไปสู่การลดปริาณบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ตลอดจนอาจสามารถลดวัตถุดิบเหลือทิ้งที่ใช้ในการผลิตได้ นอกจากจะประหยัดต้นทุนสำหรับผู้ผลิตแล้วยังเป็นการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมโลกไปพร้อมกันอีกด้วย
ที่มา:
Advances.sciencemag.org
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
งานวิจัยและพัฒนา เข็มทิศสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน…