ถ้าพูดถึงซอฟต์แวร์กลุ่ม Simulation หรือซอฟต์แวร์การจำลองสำหรับงานอุตสาหกรรม หลายคนอาจเบือนหน้าหนีเพราะความยุ่งยากและซับซ้อนของหน้าตา ไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยในส่วนต่าง ๆ แต่สำหรับซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Visual Components ไม่ใกล้เคียงกับประสบการณ์ที่เคยเจอมาก่อน แต่เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ง่ายดายและอาจเรียกได้ว่าสนุกเหลือเชื่อเลยทีเดียว
จากประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสกับซอฟต์แวร์ Simulation ค่ายใหญ่ ต้องบอกเลยว่าอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดที่ยิบย่อย พร้อมความเคร่งครัดในการแสดงผลที่ไม่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้แต่อย่างใด และด้วยความละเอียดและเจ้าระเบียบนั้นเองต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมานั้นน่าประทับใจและเชื่อถือได้อย่างที่สุด แต่ในทางกลับกันการออกแบบ UX/UI และการลงรายละเอียดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในระดับสูงที่สุดนั้นดันกลายเป็นยาขมสำหรับคนส่วนใหญ่ ยากต่อการใช้งาน การเข้าถึง และรวมถึงการเรียนรู้ที่กลายเป็นอุปสรรคในการเพิ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีของ Visual Components นั้นอาจเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปไม่น้อย ด้วยความพร้อมของฐานข้อมูล Libraries ที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์จากค่ายต่าง ๆ ซึ่งแม้แต่หุ่นยนต์จากจีน หุ่นยนต์ราคาประหยัดอย่าง Dobot หรือหุ่น Cobot ก็มีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ตัวซอฟต์แวร์เองยังมีระบบช่วยสนับสนุนในการทำงานที่ทำให้การออกแบบเบื้องต้นเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว รวมถึง UX/UI ที่คนซึ่งไม่ีมประสบการณ์การเขียนโปรแกรมหรือทำงานเชิงลึกเกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาก่อนก็สามารถทำความเข้าใจได้ในเวลาชั่วอึดใจ
รู้จัก Visual Components ซอฟต์แวร์จำลองการผลิตที่ใช้ง่ายและได้ผลจริง
โอกาสในการทำความรู้จักกับซอฟต์แวร์การจำลองกิจกรรมต่าง ๆ ในงานอุตสาหกรรมนั้นเรียกได้ว่าไม่ได้พบเจอกันได้ง่าย ๆ ต้องขอขอบคุณบริษัท Virtual Manufacturing (Thailand) ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ที่ได้มอบประสบการณ์การออกแบบสายการผลิตยุคดิจิทัลที่กลายเป็นแรงบันดาลใจครั้งใหม่ผ่านหลักสูตร Visual Components – 3D Software for Automation Design ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเป็นเวลา 3 วัน
Visual Components เป็นซอฟต์แวร์ Simulation ที่ช่วยในการออกแบบระบบการผลิตทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นจนจบ หรือเจาะลงลึกในรายละเอียดของหน่วยการผลิตเล็ก ๆ หน่วยเดียว ก็สามารถทำได้ ซึ่งสามารถช่วยในการลดต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรหรือลงทุนระบบใหม่ไม่ให้เสียเปล่า หากเกิดการบูรณาการระบบหรือการปรับเปลี่ยนสายการผลิตขึ้นโดยไม่ได้ทำการประเมินผลลัพธ์ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนที่ใช้ไปนั้นอาจเกิดการสูญเปล่าและในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจกลายเป็นตัวถ่วงในการผลิตได้มากกว่าการสนับสนุน
ฟังก์ชันการทำงานที่น่าสนใจของ Visual Components
- สร้างแผนผังแบบสามมิติของกระบวนการ (3D Layout)
- จำลองการเคลื่อนไหว ชิ้นงาน หุ่นยนต์ คน เครื่องจักร ในโปรแกรมเดียว
- Library ทั้งสายพาน เครื่องจักร หุ่นยนต์ จากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก
- เขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ได้ทุกยี่ห้อ
- วัดค่า Cycle Time และ OEE ของกระบวนการ
- Export เป็น Drawing, 3D CAD, Video
- ใช้แว่น VR เข้าไปดูงานออกแบบในโลกเสมือนจริง
จุดเด่นของ Visual Components ที่สัมผัสได้ คือ UX/UI ที่มอบประสบการณ์ในการใช้งานที่สะดวกสบาย สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ไปจนถึงมีชุดจำลองสถานการณ์ให้สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจกับซอฟต์แวร์ได้จำนวนมาก รวมถึงฐานข้อมูลออนไลน์ที่สามารถใช้ในการอ้างอิงหรือประกอบองค์ความรู้เพื่อใช้งานจริงก็มีหลากหลาย การเรียนรู้และเริ่มต้นใช้งานจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคยมองภาพเอาไว้สำหรับซอฟต์แวร์ที่มีรายละเอียดสูงแบบนี้
การใช้งานซอฟต์แวร์ตัวนี้จึงมีประโยชน์กับผู้ผลิตในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสายการผลิตก่อนทำการลงทุน การขยายสายการผลิต ไปจนถึงการวางแผนปรับเปลี่ยนสายการผลิต และยังสามารถช่วยบริษัทรับออกแบบระบบอัตโนมัติ (System Integrator) ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบระบบหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยการนำสิ่งที่คิดคำนวณหรือข้อมูลที่มีมาทำให้เกิดภาพ 3 มิติขึ้น กลายเป็นข้อมูลที่จับต้องได้มากกว่าแค่การคำนวณและความคาดหวังในใจ นอกจากนี้ Visual Components ยังสามารถใช้งานคู่กับระบบแบบ Real-time เพื่อทำการจำลองและคาดการณ์ในการทำงานจริงของโรงงานได้อีกด้วย
ประสบการณ์ตรงกับ Visual Components 3 วันบอกอะไรได้บ้าง?
สำหรับโอกาสในการฝึกอบรมและการได้สัมผัสกับ Visual Components ผ่านคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญตลอดการฝึกอบรมนั้น ผู้เข้าอบรมทุกท่านที่มีพื้นเพประสบการณ์แตกต่างกันสามารถทำความเข้าใจและซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่น้องเล็กที่สุดในคอร์สที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ยังเป็นหนึ่งในคนที่สามารถทำแบบฝึกหัดได้อย่างรวดเร็วเป็นคนแรก ๆ หรือแม้แต่คนที่จบสายศิลปะและไม่ได้มีทักษะด้านวิศวกรรมใด ๆ ก็ยังสามารถเข้าใจได้ไม่ต่างจากผู้เข้าอบรมท่านอื่นเช่นกัน
ความสามารถของ Visual Components นั้นถูกแบ่งย่อยกระจายออกเป็น 3 วันตามระยะเวลาของการอบรมภายใต้การดูแลของคุณณัฏฐิกา เดชคุณากร Head of Robotics และทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญจากบริษัท Virtual Manufacturing (Thailand) คอยประกบผู้เข้าอบรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งจุดเด่นและรายละเอียดที่น่าสนใจจะขอเล่าในแต่ละวันไล่เรียงไป ดังนี้
Day 1 ก้าวแรกของการเดินทาง
ในวันแรกนั้นเปิดกิจกรรมกันด้วยการแนะนำตัวและการแลกเปลี่ยนมุมมองความคาดหวัง มีทั้งผู้เข้าอบรมที่รู้จักระบบอัตโนมัติเนื่องจากทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่และผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับระบบอัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเนื้อหาสำคัญนั้นจะเป็นการทำความรู้จักกับเครื่องมือต่าง ๆ ผ่านแบบฝึกหัดสำหรับพื้นฐาน Layout และ Process Design (การออกแบบกระบวนการ)
ในการออกแบบ Layout และการออกแบบกระบวนการนั้น Visual Components มาพร้อมกับ Libraries เครื่องจักร หุ่นยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ครบครัน ทั้งยังมีตัวอย่างสถานการณ์ตัวอย่างให้ได้ทดลองเรียนรู้ ทำให้การออกแบบเบื้องต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง
การออกแบบสายการผลิตหรือกิจกรรมในเบื้องต้นนั้นสามารถใช้งานชุดคำสั่งพร้อมใช้ ที่เป็นเหมือน Preset ที่รอการปรับตั้งค่าตามต้องการ การเชื่อมจุดคำสั่งระหว่างตำแหน่งและอุปกรณ์ในสายการผลิตจึงเกิดขึ้นได้เพียงไม่กี่คลิก
Day 2 ต่อยอดออกแบบการทำงานหุ่นยนต์
สำหรับวันที่ 2 นั้นช่วงเช้าเป็นการเริ่มต้นด้วยฟังก์ชันที่บางคนอาจคิดว่าไม่ค่อยสำคัญ หรือเป็นฟังก์ชันที่วิศวกรหลายคนอาจรู้สึกยุ่งยากอย่างฟังก์ชันสำหรับการประเมินผลค่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Cycle Time หรือ OEE ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสายการผลิตโดยรวมไปจนถึงความสามารถในการทำงานของเครื่องจักรและหุ่นยนต์แต่ละเครื่อง โดยสามารถปรับแต่งการแสดงผลตามเงื่อนไขที่ต้องการได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการดูช่วงเวลาการทำงาน การรอคำสั่ง หรือการเลือกความถี่ในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ และในส่วนของการแสดงผลก็สามารถเลือกการแสดงสถิติได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แบบแผนภูมิวงกลม หรือแบบแผนภูมิแท่งเป็นต้น
และในภาคบ่ายนั้นเป็นการลงรายละเอียดเบื้องต้นในการสั่งงานหุ่นยนต์ คำสั่งที่ใช้ตลอดจนรูปแบบการทำงานนั้นแตกต่างไปจากวันแรกอย่างเห็นได้ชัด โดยในวันแรกนั้นเป็นการใช้ชุดคำสั่งอัตโนมัติที่ทำให้สามารถดูภาพรวมได้อย่างรวดเร็วเหมาะสำหรับการวางแผนภาพใหญ่ (Concept Design) แต่สำหรับในวันที่ 2 นั้นเป็นการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมสั่งงานหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นการออกแบบทางเทคนิคโดยละเอียด (Detailed Technical Design) ยกตัวอย่างเช่น การเขียนค่าคำสั่งสำหรับหุ่นยนต์ในการหยิบกล่องสินค้าและวางลงบนพาเลท ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกอุปกรณ์จับที่เหมาะสม การตั้งค่า TCP ที่ถูกต้อง ไปจนถึงการวางจุดตำแหน่งเพื่อเขียน Path และการให้วัตถุยึดติดกับมือจับอย่างถูกต้อง อันเป็นการต่อยอดจากการออกแบบภาพรวมสู่การลงรายละเอียดเชิงลึกให้เครื่องจักรและหุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการ
Day 3 Workshop แห่งความท้าทาย
จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้การอบรมเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นออนไลน์ โดยแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ได้เข้าร่วมด้วยนั้นให้ความสนใจเกี่ยวกับการ Mapping จุดเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในโมเดลใหม่ที่ไม่อยู่ใน Library เช่น การมีหุ่นยนต์ตัวใหม่ หรือการมีแขนยกจับใหม่จะสามารถกำหนดจุดเคลื่อนไหวและเงื่อนไขทางกายภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ผ่านการ Import โมเดลตัวอย่างที่เฟ้นหากันมาเอง ซึ่งการทำ Workshop ของกลุ่มนี้ถือว่าอยู่นอกเหนือหลักสูตร แต่ทาง Virtual Manufacturing เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดและเป็นการก้าวข้ามความท้าทายหลักสูตร เพื่อฝึกการออกแบบตำแหน่งสำหรับเคลื่อนไหวของโมเดลที่เป็นเพียงไฟล์ CAD 3 มิติ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำการ Export ไฟล์จาก Visual Components ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพเคลื่อนไหว ภาพ 2 มิติที่เป็นโครงสร้างคล้ายพิมพ์เขียวของพื้นที่ หรือการส่งออกไฟล์ที่สามารถใช้กับซอฟต์แวร์เฉพาะเพื่อรันไฟล์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องลงซอฟต์แวร์หลักผ่านแอปพลิเคชัน Visual Components Experience อีกด้วย
สำหรับ Spec ที่ต้องการใช้งานนั้น CPU ตระกูล i5-3xxx กับ Ram 8 GB ก็สามารถใช้งานได้แล้ว และใครที่กำลังวลเรื่องหน่วยแสดงผลหรือการ์ดจอ Intel HD Graphics 4400 ซึ่งเป็นแบบออนบอร์ดก็สามารถใช้ได้ขนาด AMD FX-8XXX เกือบ 10 ปีที่แล้วยังรันได้แบบไม่ติดขัด แต่สำหรับใครที่เป็นสาวกอารยธรรม Apple อาจต้องขอแสดงความเสียใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยเนื่องจากซอฟต์แวร์นั้นรองรับเฉพาะ Windows OS เท่านั้น
ในมุมมองส่วนตัวที่ได้สัมผัสกับซอฟต์แวร์การจำลองในงานอุตสาหกรรมค่ายอื่นมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์สำหรับทดสอบคุณสมับติชิ้นงาน ซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบ Jog การเคลื่อนไหวหุ่นยนต์ ต้องบอกว่า Visual Components นั้นมี Ecosystem ที่สะดวกใจในการใช้งานสูงกว่าค่ายอื่นอยู่พอสมควร แม้จะมีการออกแบบ UI ที่ชวนนึกถึงซอฟต์แวร์ออกแบบสามมิติอย่าง Blender อยู่บ้างก็ตามที แต่ Learning Curve หรือความท้าทายในการเรียนรู้เริ่มต้นใช้งานนั้นน้อยกว่าที่เคยเจอมา พอรู้จักเครื่องมือเบื้องต้นซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็พอจะเริ่มใช้งานเบื้องต้นได้ทันที สัมผัสแรกที่รู้สึกขึ้นมาในใจก็ไม่ต่างไปจากครั้งแรกที่ได้สัมผัส The Sims ที่พัฒนาโดย Electronic Arts เมื่อนานมาแล้ว แค่รู้จักเครื่องมือก็เริ่มปะนู่นแปะนี่ได้แล้ว
สำหรับกรณีการทำงานกำหนด Jog เคลื่อนไหวแขนกล กำหนดค่าต่าง ๆ ก็เรียกได้ว่าง่ายดายกว่าซอฟต์แวร์รายใหญ่เจ้าอื่น ๆ ข้อดีอีกหนึ่งประการที่นึกได้เลย คือ ซอฟต์แวร์ตัวนี้มีพื้นฐานจาก Python บางฟังก์ชันถ้าคนเคยชินกับ Coding ก็สามารถเขียนคำสั่งไปกำหนดการทำงานได้สบาย
แม้ว่า Visual Components จะไม่อลังการหรือมีรายละเอียดยุบยิบเชิงลึกมากมายเท่าเจ้าใหญ่รายอื่น แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นซอฟต์แวร์จำลองการทำงานแบบ ‘เป็ด’ ที่ดี ไม่ใช่เป็ดร้านไก่กาแต่เป็นเป็ด Four Season ที่ได้รับการปรุงแต่งมาอย่างดี เพียงพอต่อการใช้งานหลากหลาย ไม่ว่างานยาก ง่าย คนเริ่มใช้ นักศึกษาฝึกหัด หรือแม้กระทั่งผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางวิศวะใด ๆ ขอแค่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ ถ้าใครกำลังมองหาโอกาสเรียนรู้การจำลองการทำงานของโรงงาน การออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิต คลังสินค้า หรืออยากออกแบบเครื่องจักร หุ่นยนต์แล้วต้องการจำลองการทำงานเพื่อดูว่าสามารถทำงานได้ตามต้องการหรือไม่อย่างไร Visual Components ถือเป็นประตูบานแรกในการก้าวเข้าสู่การจำลองสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่สนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม อยากทดลองใช้ หรืออยากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และออกแบบปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานของแรงงานและ Productivity ของโรงงานสามารถติดต่อบริษัท Virtual Manufacturing ได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้
Virtual Manufacturing (Thailand) Co., Ltd.
Phone: 063-464-0724
E-mail: [email protected]
Facebook: www.facebook.com/VirtualManufacturingTH/
Website: www.virtual.se/en
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
5 จุดแข็งจากการปฏิวัติของ Simulation ในภาคการผลิต