Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

3D Printing อาจปฏิวัติวงการยาให้เหมาะกับผู้ป่วยยิ่งขึ้น

การผลิตยาในปัจจุบันแบบหนึ่งเม็ดปริมาณ (โดส) ครอบจักรวาลอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่ ทั้งต้นทุนและปริมาณยาที่เกินกว่าความจำเป็น การผลิตยาโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจึงกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการออกแบบปริมาณโดสยาและส่วนผสมที่เหมาะกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มแต่ละบุคคลมากกว่า

ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านการผลิตยา (เภสัชกรรม) นั้นได้เดินออกห่างจากการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) มุ่งหน้าสู่โมเดลที่ตอบรับลักษณะยาที่เหมาะกับแต่ละบุคคลมากขึ้น การผลิตยาโดยใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติสามารถผลิตยาได้ตรงกับคุณสมบัติของผู้บริโภคได้มากกว่าด้วยกำลังผลิตขนาดเล็ก ไม่ว่าจะปริมาณโดส รูปร่าง ขนาด และคุณสมบัติในการปลดปล่อยสาร

การผลิตด้วยการเติมเนื้อวัสดุนี้ทำให้สามารถเติมรสชาติลงไปในเม็ดยาโดยไม่ต้องการการเคลือบฟิล์ม จึงสามารถสร้างรสชาติจากสารประกอบทางเคมีได้ทันที เครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถติดตั้งได้ในร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิกและพ้นที่ห่างไกล ทำให้การผลิตยาตามความต้องการได้อย่างตรงประเด็น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาในการดูแลเกี่ยวกับห้องเย็น สำหรับบริษัทผู้ผลิตยาการพิมพ์ 3 มิติ สามารถลดต้นทุน ความสูญเปล่าและภาระทางสิ่งแวดล้อมเนื่องจากใช้วัตถุดิบในการผลิตเท่าที่จำเป็น

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ Spritam จาก Aprecia Pharmaceutical นั้นเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติสำหรับการผลิตยาที่ได้รับการรับรองโดย FDA ในปี 2015 โดยใช้เทคโนโลยีเฉพาะที่เรียกว่า ZipDose ซึ่งยาสำหรับการแตกตัวเร็วในช่องปาก (Orodispersible Tablet) ยากลุ่มนี้สามารถสลายตัวได้เร็วในหลักวินาทีที่สัมผัสกับของเหลว นอกจากนี้รองรับโดสปริมาณสูงได้ถึง 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในการผลิตยาด้วยกรรมวิธีทั่วไป เทคโนโลยี ZipDose ใช้การหยดและกลายเป็นของแข็ง โดยสารเหลวจะถูกหยดจากหัวพิมพ์ลงบนฐานพิมพ์ที่เป็นผงสำหรับเภสัชกรรมแบบอิสระ ทำให้เกิดการจัดตัวในพื้นที่ที่เกิดการสัมผัสกันเป็นรูปทรงอิสระ ฐานพิมพ์จะขยับตัวลงเพื่อให้สามารถพิมพ์ชั้นต่อไปเพิ่มได้ อนุภาคผงแป้งที่ไม่เกิดพันธะจะกลายเป็นโครงสร้างสนับสนุนไม่ให้โครงสร้างหลักพังทลายลงมา

การผลิตยาแบบเม็ดเดียวครอบคลุมทุกความต้องการนั้นถือเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูง บริษัทผู้ผลิตยาทั้งหลายจำเป็นต้องปรับเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ เช่นการใช้การพิมพ์ 3 มิติ เพื่อให้การรักษาเกิดขึ้นได้อย่างตรงกับลักษณะความต้องการของผู้ป่วยมากที่สุด ยกระดับประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนา ลดต้นทุน และที่สำคัญที่สุด ลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้น หากเป็นไปได้จริงต้นทุนในซัพพลายเชนจะสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น และยังยกระดับความยั่งยืนได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ที่มา:
Medicaldevice-network.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ม.นวมินทร์ – IRPC จัดตั้งแล็บตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924