หลายครั้งในการถกเถียงแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ‘ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)’ มักเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เนื่องจากความเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นคุณสมบัติหนึ่งในการคิดและจินตนาการที่จะสวมบทบาทเป็นตัวตนอื่นนอกจากตัวเองเพื่อทำความเข้าใจโดยมองผ่านมุมมองที่ใกล้เคียงกันที่สุด คุณสมบัตินี้ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันและอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากหุ่นยนต์แบบดั้งเดิม แต่ในปัจจุบันนักวิจัยได้เปิดประตูบานใหม่ให้กับวงการหุ่นยนต์ที่เริ่มจะคาดเดาคู่หูที่ต้องทำงานด้วยกันได้แล้ว
วิศวกรจาก Columbia สร้างหุ่นยนต์ซึ่งสามารถเรียนรู้ที่จะคาดเดาพฤติกรรมของหุ่นยนต์คู่หูออกมาเป็นภาพได้ นับเป็นการเปิดประตูไปสู่การเรียนรู้ในการเห็นอกเห็นใจ (Empathy) โดย Robot Theory of Mind ที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ตัวอื่นและมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำไมเทคโนโลยีนี้จึงมีความจำเป็นและน่าสนใจ? นึกถึงคู่หูที่ต้องทำงานร่วมกันตลอดเวลา นักดนตรีเก่ง ๆ หรือคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมาสักระยะหนึ่ง จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้ใจ’ หรืออาจจะเป็นความเข้าขากันได้เป็นอย่างดีเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี นึกถึงกิจกรรมการประกอบชิ้นส่วนที่ทำงานคู่กับเพื่อนที่รู้ใจจะสามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาการเรียนรู้ของหุ่นยต์เพื่อคาดเดาการทำงานขั้นต่อไปและเป้าหมายของหุ่นยนต์คู่หู โดยมีพื้นฐานมาจากเฟรมวิดีโอจำนวนไม่มากเท่านั้น
ทักษะในการคาดเดาการกระทำของบุคคลอื่นสำหรับมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นมีความง่ายดายยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้การอาศัยอยู่และทำงานร่วมกันมีความสำเร็จมากขึ้นอีกด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามนั้นหุ่นยนต์ที่ฉลาดและมีความก้าวหน้ารัดับสูงสุดยังคงเข้าไม่ถึงศักยภาพในการสื่อสารทางสังคมเหล่านี้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้อาจเปลี่ยนแปลงโลกของเราตลอดไปก็เป็นได้
นักวิจัยได้สร้างหุ่นยนต์สำหรับสังเกตการณ์ในพื้นที่จำกัดขนาด 3×2 ฟุต และออกแบบหุ่นยนต์ที่ถูกสังเกตการณ์ให้หาและเคลื่อนที่ไปยังวงกลมสีเขียวที่มองเห็น โดยหุ่นยนต์สามารถมองเห็นและเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายได้ทันที หรือบางครั้งอาจมีสิ่งกีดขวางเป็นกล่องสีแดงซึ่งทำให้หุ่นยนต์ต้องหาทางไปยังวงกลมสีเขียวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
หลังจากเฝ้าสังเกตการณ์หุ่นยนต์คู่หูเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง หุ่นยนต์สังเกตการณ์เริ่มที่จะคาดเดาเป้าหมายของหุ่นยนต์คู่หูและเส้นทางได้โดยสามารถดำเนินการได้ถึง 98 ครั้งจาก 100 ครั้งภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลายทั้งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมุมมองของหุ่นยนต์คู่หูใด ๆ เลย
การค้นพบครั้งนี้นั้นแสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์นั้นสามารถมองโลกผ่านมุมมองของหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งได้ ทักษะในการเฝ้าสังเกตนี้ด้วยการเอาตัวเองไปแทนที่หุ่นยนต์เป้าหมาย เพื่อที่จะพูด เพื่อที่จะเข้าใจได้โดยไม่ต้องได้รับการแนะนำใด ๆ ไม่ว่าคู่หูจะเห็นหรือไม่เห็นวงกลมสีเขียวจากจัดของตัวเอง ซึ่งกิจกรรมนี้นั้นอาจเป็นจุดตั้งต้นอันเรียบง่ายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเห็นใจ’ ก็เป็นได้
ในช่วงแรกของการออกแบบการทดลอง นักวิจัยคาดหวังว่าหุ่นยนต์สังเกตการณ์จะเรียนรู้ในการคาดเดากิจกรรมเป้าหมายของหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งแบบระยะสั้นเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาไม่ได้คิดว่าจะเจอ คือ ความสามารถในการมองเห็นการเคลื่อนไหวล่วงหน้าของคู่หูที่ค่อนข้างมีความแม่นยำในระดับหนึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีดังที่วิดีโอได้บันทึกไว้
พฤติกรรมและเป้าหมายของหุ่นยนต์นั้นมีความเรียบง่ายกว่ามนุษย์อย่างมาก พวกเขาเชื่อว่างานวิจัยนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ในสิ่งที่ปริชานศาสตร์ (Cognitive Science) เรียกว่า ‘Theory of Mind’ (ToM) เมื่อพิจารณาถึงเด็กอายุ 3 ปีซึ่งเริ่มที่จะเข้าใจได้ว่าคนอื่นอาจมีเป้าหมาย ความต้องการ และมุมมองที่แตกต่างไปจากตัวเอง อันจะนำไปสู่กิจกรรมสนุกสนานทั้งหลาย เช่น การเล่นซ่อนหา หรือกิจกรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นการควบคุมผลลัพธ์บางอย่าง เช่น การโกหก เป็นต้น ซึ่ง ToM นั้นเองเป็นที่จดจำในฐานะกุญแจสำคัญของการแยกแยะสำหรับมนุษย์และความรู้ความเข้าใจของ Primate และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตอบสนองทางสังคมที่มีความซับซ้อนตลอดจนการประยุกต์ปรับตัว เช่น การร่วมมือกัน การแข่งขัน ความเห็นใจ และการลวงหลอก
ในทางปฏิบัตินั้นมนุษย์สามารถอธิบายการคาดเดาของตัวเองได้ดีกว่าหุ่นยนต์เนื่องจากภาษาพูดที่ใช้สื่อสาร (Verbal Language) นักวิจัยได้ทำการสังเกตหุ่นยนต์ขณะทำการคาดเดาจากรูปแบบของภาพมากกว่าคำพูด เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในความซับซ้อนและยุ่งยากของภาษามนุษย์ แม้ว่ามนุษย์จะมีการจินตนาการเป็นภาพในบางครั้งแต่นั่นเป็นการจินตนาการด้วยดวงตาภายในไม่ได้เป็นการใช้ถ้อยคำใด ๆ
ที่มา:
Engineering.columbia.edu
บทความที่เกี่ยวข้อง:
11 ทักษะ Soft Skills ที่ต้องมีสำหรับวิศวกรยุคดิจิทัล