Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

EEC Automation Park ส่งต่ออนาคตสู่ผู้ประกอบการและประเทศไทยในวันพรุ่งนี้

Eastern Economic Corridor (EEC) หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนตามนโยบายดึงดูดการลงทุนและเสริมศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งซัพพลายเชน ภาครัฐได้สนับสนุนให้มีหน่วยงานต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อทำการผลักดันอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้เกิดการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการผลิตยุค 4.0 จึงทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะทางสำหรับระบบอัตโนมัติขึ้นมาอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ EEC Automation Park ซึ่งมีเป้าหมายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายมิติ ซึ่ง Modern Manufacturing ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และเก็บเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ EEC Automation Park มาฝากกันครับ

ในปัจจุบันปัจจัยที่ขาดแคลนที่สุดของภาคการผลิต ไม่ใช่เพียงทรัพยากรการผลิตและเงินทุนเท่านั้น แต่ยังคงหมายรวมถึงทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำงานอีกด้วย ซึ่งผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กอีกมากมายยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้สำหรับการใช้งานเทคโนโลยียุค 4.0 ที่เหมาะสม และเมื่อไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ความสามารถในการแข่งขันที่มี ความสามารถในการปรับตัว ตลอดจนเมื่อไม่สามารถรับมือต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสมส่งผลให้เศรษฐกิจไม่อาจเติบโตได้อย่างมั่นคง ภาครัฐจึงได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการในการเปลี่ยนผ่าน การวางแผนการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสอดรับต่อการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งหน่วยงานที่มีคนรู้จักเป็นอย่างดี คือ สถาบันไทยเยอรมัน (TGI) และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ที่มีการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่ของ EEC นั้นก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานสำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะทางสำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นมา คือ EEC Automation Park ที่มีเป้าหมายเพื่อการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านระบบอัตโนมัติสำหรับพื้นที่ EEC นั่นเองครับ

EEC Automation Park คือใคร?

 EEC Automation Park นั้นเป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ตั้งเป้าเสริมสร้างทักษะเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยตามแนวทางของอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่การสนับสนุนของนโยบาย EEC ที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคการผลิต

จุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้นั้นมาจากความต้องการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ EEC นั้นถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและความได้เปรียบอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการสนับสนุนต่าง ๆ  โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิต เส้นทางขนส่งและท่าเรือที่มีความเพียบพร้อม จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพาและบริษัท Mitsubishi Electric Factory Automation โดยพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) เกิดขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 และเปิดตัวความร่วมมือเครือข่ายระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและภาครัฐ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ

ปัจจุบัน EEC Automation Park ได้เปิดดำเนินการและต้อนรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติแล้วภายใต้การดูแลของ ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park และคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง ผศ. ดร. มัทนา สันทัสนะโชค ผู้ทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ รวมถึงคณะทำงานของ EEC Automation Park ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม

EEC Automation Park กับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมไทย

Modern Manufacturing ได้พูดคุยกับ ดร. ไพบูลย์ และ ผศ.ดร. มัทนา ถึงเป้าหมายและหน้าที่ของ EEC Automation Park โดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการพัฒนากำลังคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ EEC ในฐานะ Jigsaw ที่ต่อเชื่อมกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อทำการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

จากข้อมูลของ EEC-HDC ที่ได้ทำการประเมินไว้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 พบว่าบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติมีความขาดแคลนมากถึง 37,000 อัตรา ซึ่ง ดร. ไพบูลย์ เห็นว่าตัวเลขดังกล่าวน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังสถานการณ์COVID-19 ซึ่งการแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของ EEC Automation Park 

หน้าที่หลักในการพัฒนาของ EEC Automation Park นั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

  1. การเรียนรู้อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยชุด Smart Factory Model Line และการทำ Fabrication Lab โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีคนเข้ามาเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 2,000 คนต่อปี 
  2. การ Training บุคลากรตั้งเป้าอบรม 1,000 คนต่อปี
  3. การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เป็นการจับคู่ SI พันธมิตร และอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนา ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อการแข่งขันเชิงธุรกิจได้ 

“ในด้านการเรียนรู้อุตสาหกรรม 4.0 นั้น EEC Automation Park ได้รับโจทย์ใหม่เข้ามาว่า จะมีการเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับ EEC ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยบูรพา ประมาณ 3,000 คนต่อเทอม หรือราว ๆ 6 พันคนต่อปี โดยนักศึกษาทุกคนทุกคณะจะได้เข้ามาเรียนรู้ที่ Automation Park ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ EEC ซึ่งเป็นโจทย์ที่มากกว่าตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้” ดร. ไพบูลย์เล่าถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรในเบื้องต้น

การทำงานของ EEC Automation Park นั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการทำงานแบบ Standalone แต่เป็นการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น ในด้านของการจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจระหว่างโรงงานกับ SI ก็มีการสนับสนุนจากเครือข่าย TARA ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และในด้านของการพัฒนาศักยภาพแรงงานต่าง ๆ ก็ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำให้มีความพร้อมสนับสนุนทั้งในด้านของธุรกิจ การผลิตและการสร้างศักยภาพแรงงานที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการความช่วยเหลือ และสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมนั้น ก็สามารถใช้บริการของ EECi ที่ตั้งอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งมีพื้นที่ Sandbox และมีนักวิจัยของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจำนวนมาก

สำหรับการพัฒนา SI นั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมแล้ว การสร้างพาร์ทเนอร์ก็สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการพัฒนาทักษะเลยทีเดียว โดย ดร. ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรมต้องการ SI ที่แก้ปัญหาให้กับเขาได้ 

เพราะ SI ที่ดีต้อง จบงานได้จริง

ด้วยภาระหน้าที่ในการผลักดันให้เกิด SI เพื่อสร้างความสามารถในการ Transformation และการทำงานในยุค 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร. ไพบูลย์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งส่งเสียงออกมาว่า

“อยากให้ SI แก้ปัญหาได้จบ”

สำหรับทักษะที่สำคัญหรือ Skill สำหรับ SI คือ การแก้งานได้จริงแล้วจบ ต้องมีทักษะในส่วนการเข้าไปแก้งาน การที่ SIเข้าไปแก้งานในภาคอุตสาหกรรมนั้นอาจจะไม่ได้มีเพียงรายเดียวในการดำเนินการทุกขั้นตอน แต่จะมีพาร์ทเนอร์เขาเข้าไปด้วย ดังนั้นในแต่ละส่วนแต่ละ SI จะมีความถนัดเฉพาะตัว ประสบการณ์ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ต้องมองออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะจัดการอย่างไร ต้องไปดึงพาร์ทเนอร์ตรงไหนมา ถ้าไม่สามารถทำครบทั้งหมดได้ ก็ต้องดึงพาร์ทเนอร์มาช่วยกัน

สำหรับกลุ่ม SI ที่ Automation Park พัฒนาขึ้นมาอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่เป็น SI เต็มตัว อาจจะเป็นแนว Developer หรือ Maker อาจจะดูเล็กลงมาบ้าง แต่ว่า EEC Automation Park จะบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาไม่เฉพาะทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล หรืออุตสาหการ เท่านั้น ผศ.ดร. มัทนา ให้ความเห็นว่า แม้แต่ภาคเคมีเองก็สามารถผันตัวมาได้เช่นกันเนื่องจากมีการเรียนรายวิชาที่ เป็นกระบวนการทางวิศวกรรม Plant design อยู่ด้วยเหมือนกัน ทำให้สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งมาจากพื้นฐานที่แตกต่างที่หลากหลายกันได้

หากผู้ประกอบการต้องติดต่อ SI คำแนะนำจาก ดร. ไพบูลย์ คือ ลำดับแรกเลยต้องเข้าใจกระบวนการผลิตของตัวเองก่อน ว่ากระบวนการแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ไม่มีใครจะตอบแทนกันได้ รู้ตัวเองนั้นหมายถึงการรู้ว่ากระบวนการไหนจะสามารถนำระบบอัตโนมัติเข้าไปใช้ได้ ไม่ได้หมายความว่าทุกกระบวนการใช้ได้ทั้งหมด อาจต้องพิจารณาด้วยวิธีการ Kaizen ที่ต้องเข้าใจเงื่อนไขของตัวเองเสียก่อน จึงค่อยเตรียมที่จะปรับเรื่องระบบอัตโนมัติเข้าไป ต้องมีการทำ System Analysis ดูว่ากระบวนการเป็นอย่างไร จุดไหนทดแทนได้บ้าง อย่ามองว่ามาถึงปุ๊ปจะเอาหุ่นยนต์เข้าจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมดทันทีก็ไม่ใช่

ผู้ประกอบการต้องมองว่าในแต่ละอุตสาหกรรมมีกระบวนการที่เหมือน ๆ กันอยู่อะไรบ้าง เช่น อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการประกอบ ต้องขออ้างถึง รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็น4.0 โดยเริ่มจาก 80 โรงงาน ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่จะเป็นตัวอย่างว่าถ้าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใดจะมีแนวทางการทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าจะต้องมีขั้นตอน 1 2 3 ในการเตรียมตัวในการดำเนินงาน อาจจะมีความแตกต่างในตัวอุตสาหกรรมแต่ละแบบบ้าง แต่จะมีภาพที่ชัดเจนจับต้องได้เกิดขึ้นมา และทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะมีแนวทางนำร่องอย่างไรบ้าง

EEC Automation Park ในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบอัตโนมัติที่ใช้งานได้จริง

ตลอดการพูดคุยกับ ดร. ไพบูลย์ และ ผศ. ดร. มัทนา ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งที่สุด คือ การสร้างบุคลากร ตลอดจนถึงการสร้าง Passion ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนในการเติบโตภายใต้โลกยุคดิจิทัล

“ในตอนนี้ Learning Factory หรือ Model Line of Smart Factory ที่เรามีนั้นเป็นตัวอย่างผลิตในรูปแบบการประกอบชิ้นงาน ด้วยคอนเซ็ป e-F@ctory ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบ 4.0 จริง ๆ มีการเชื่อมต่อขึ้น Cloud และมีการบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นต่าง ๆ โดยระบบนี้ไม่ได้ใช้สายพาน แต่ใช้ AGV ที่มีแขน Robot ซึ่งสามารถ Customized Process ได้ ระบบของเรานั้นสามารถสั่งเริ่มการทำงานจนเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรไม่ว่าจะเป็น บริษัท Tanabe ซึ่งเป็นวางระบบ Mechanics และระบบ AGV ใน Operation Technology ทั้งหมด  ส่วน Information Technology เราได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับ Security Gateway จากบริษัท Cisco System ที่มีการส่งข้อมูลผ่านสัญญาณ 5G ของ True Corporation เพื่อประมวลผลบนระบบคลาวด์หรือที่เรียกว่า Cloud Computing บน Microsoft Azure และมีทางบริษัท Fujitsu มาติดตั้ง IT System ทั้งหมดให้  จากความร่วมมือของพันธมิตรทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นการเชื่อมข้อมูลระหว่าง Operational Technology และ Information Technology อย่างสมบูรณ์แบบ  และการที่จะเป็น Learning Factory หรือเป็นระบบที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ของคนได้นั้น จำเป็นต้องมีการสร้าง Fault หรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาจริง ซึ่งบริษัท มิตซูบิชิ สนับสนุนการทำให้เกิดเป็น Learning Factory ที่ไม่ใช่เพียง Showcase เพื่อให้ได้ดู แต่ต้องให้เกิดการลงมือทำ ให้เกิดความเข้าใจที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้อีกด้วย” ดร. ไพบูลย์ กล่าวพลางแนะนำให้ดูสายการผลิตที่บริษัท Mitsubishi Electric Factory Automation ให้การสนับสนุน และในส่วนของการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ได้รับความร่วมมือในการจัดทำแนวทางเรียนรู้จากสถาบัน TGI และ SIMTec ที่มีความเชี่ยวชาญในระบบอัตโนมัติ ตลอดจนความร่วมมือจากภาคีสถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก และวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น ซึ่งสถาบันเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตในพื้นที่ EEC ทั้งสิ้น

พื้นที่การเรียนรู้ภายใต้ EEC Automation Park นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นการเรียนรู้องค์ประกอบทั้งหมดของระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นกลไกการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แขนกล การจัดการข้อมูลผ่าน IIoT การออกแบบสายการผลิต การจำลองการทำงานต่าง ๆ ตลอดจนการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ดร. ไพบูลย์ เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ใด ๆ ก็แล้วแต่ คือ ความสามารถที่จะผิดพลาดได้ การเรียนรู้จำเป็นต้องมี Playground ให้ได้ลองเล่น ลองคิด ลองทำ ซึ่งในปัจจุบัน EEC Automation Park ได้พูดคุยกับภาคเอกชนในการจัดพื้นที่เหล่านี้เพื่อเกิดการเรียนรู้ในพื้นที่จริงด้วย ซึ่ง Model Line ที่มีอยู่ที่นี่ก็มีหน้าที่นี้เช่นกัน ซึ่งทาง Mitsubishi ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ระบบนี้ไม่ได้มีหน้าที่ไว้เพื่อโชว์ของ แต่มีไว้เพื่อเรียนรู้และเป็น Playground ที่จับต้องได้ โดย Mitsubishi สนับสนุนให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ EEC Automation Park ยังเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำมาตรฐานของหลักสูตร เพื่อที่การเรียนหลักสูตรระบบอัตโนมัติที่ใดก็แล้วแต่จะมีมาตรฐานที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งในเครือข่าย CoRE ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อยู่ ในอนาคตจะทำให้สามารถเรียนหลักสูตรเหล่านี้ที่ใดก็ได้ ก็จะได้ทักษะที่เหมือนกันที่สามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้

เปลี่ยนระบบอัตโนมัติให้เป็นเรื่องง่ายเพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่

เมื่อพูดถึงรายละเอียดในด้านการศึกษาของ EEC Automation Park สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีความต้องการในการ Upskill และ Reskill อยู่แล้ว และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ นักเรียนนักศึกษา โดย ผศ. ดร. มัทนา ชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญสำหรับบุคลากรรุ่นใหม่หรือเยาวชนนั้น คือ แรงบันดาลใจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของเยาวชนมากขึ้น เนื่องจากการทำงานกับระบบอัตโนมัตินั้นไม่ได้ครอบจำกัดอยู่เพียงการทำงานเฉพาะสายการผลิตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสายงานอื่น ๆ ที่มีในปัจจุบันอีกด้วย

นอกจากนี้ EEC Automation Park ยังให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Automation Roadshow ที่จะเดินทางออกไปให้ความรู้และจัดกิจกรรมให้กับเด็กนักเรียนที่โรงเรียน จำนวน 7 โรงเรียนในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างแรงบันดาลใจผ่านกิจกรรม  ที่ผ่านมาได้แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มละ 30 คน เข้าทำกิจกรรมเวียนกัน 3 ฐาน ใช้เวลารวม 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นเรื่องของการจับต้องแขนหุ่นยนต์ การเล่นกับชุด Micro Controller และชุด PLC ที่ใช้ในเครื่องจักรจริง และการควบคุมการเคลื่อนไหว Humanoid Robot จุดประสงค์ก็คือ เราต้องการให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงสิ่งที่เหมือน ๆ กัน ซึ่งเด็กบางคนอาจจะไม่สามารถหาเล่นเองได้  

การสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เยาวชนได้สัมผัส โดยการเรียนรู้ผ่าน Fabrication Lab (Fab Lab) ที่มีชุด Micro Controller แขนกล และ PLC ให้ได้ลองเล่น ถ้าเห็นว่าชอบตรงนี้จะสามารถเลือกเรียนต่อในสาขาที่เป็นทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านไอที ก็สามารถเรียนต่อมัธยมปลายและต่อมหาวิทยาลัย หรืออาจเรียนต่อด้านอาชีวศึกษา ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน คนที่มาจากสายอาชีวะนั้นมีการเติบโตในสายงานระบบอัตโนมัติที่ไม่แตกต่างจากคนที่จบจากมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

สำหรับกลุ่มมัธยมหรือประถมนั้นเป้าหมายหลักของ EEC Automation Park คือ การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเชื่อมโยงบุคลากรในอนาคตที่จะก้าวเข้ามาในโลกของการผลิต เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่จะเจอในอนาคตนั้นเป็นอย่างไร ในการสื่อสารกับเยาวชนจะต้องเปลี่ยนจากรูปแบบที่นำเสนอให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมซึ่งมีความรู้อยู่แล้วว่าอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม ส่วนไหนทำงานอย่างไร การสอนเด็กจึงเป็นเหมือนการบอกเล่าเรื่องราว อย่างเช่นกรณีหุ่นยนต์จะไปหยิบปากกาที่วางเรียงกันบนถาด ปากกาก็จะวางสะเปะสะปะอยู่ ต้องบอกว่า หุ่นยนต์ที่เห็นสามารถหยิบได้แม่นมากนะ ทำไมถึงหยิบได้แม่น เลือกสีได้ มีส่วนประกอบอะไรบ้างซึ่งเป็นพื้นฐานของงาน Vision หมายความว่าต้องเน้นในเรื่องของเทคนิคแทนที่จะเป็นเรื่องของชื่ออุปกรณ์ ทำเทคนิคให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และด้วยการที่มี Fab Lab ให้เล่น ตลอดจนชุด Model Line โดยที่ผ่านมา มีโครงการสอนเด็กเขียนโปรแกรมสำหรับ Arduino ซึ่งเป็นการสอนออนไลน์ในช่วง COVID-19 โดยกลุ่มอาจารย์ที่สอนได้ทำคลิปสอนการเขียน Code Arduino ให้เด็ก แล้วก็ Upload ขึ้น Youtube และ Breadboard ส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เด็กหัดทำตามในวิดีโอที่ส่งไป มีกิจกรรมสัปดาห์ละครั้งทั้งหมด 4 สัปดาห์ มีคลิปจำนวนมาก เด็ก ๆ จะมารวมกันที่โรงเรียน โดยจะส่งคลิปให้ครูดูก่อนว่าวันนี้ทำอะไร มีทั้งเด็กประถมและมัธยม ซึ่งสิ่งที่พบจากการทำครั้งนี้ก็คือ เด็กมัธยมสามารถเขียน Code ได้เร็วกว่า แต่เด็กประถมก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยคอร์สที่ให้ไปนั้นเด็กให้ความสนใจอย่างมาก และเด็กประถมก็สามารถทำได้

ระบบอัตโนมัติมาแน่แต่ประเทศไทยจะพร้อมแค่ไหน?

แนวโน้มของการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัตินั้นจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เป็นผลจาก Digital Disruption ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกเร่งด้วยการมาถึงของ COVID-19 เรียกได้ว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ดังนั้นในตอนนี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเวลาที่ต้องทำความเข้าใจความต้องการของธุรกิจตัวเองให้ดีเสียก่อนดังที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้

เมื่อพูดคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงก็หนีไม่พ้นประเด็นของความอ่อนไหวสำหรับแรงงาน ความรู้สึกจะถูกหุ่นยนต์เข้ามาแย่งตำแหน่งงาน แน่นอนว่าแรงงานทักษะสูงอาจไม่ได้ผลกระทบจากประเด็นนี้มากเท่ากับแรงงานทักษะน้อย ซึ่งการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวต้องใช้เวลา ต้องปรับเปลี่ยนชุดความคิด แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วถึงเวลาหนึ่งผู้คนเหล่านี้จะปรับตัวได้ เพราะงานที่ต้องใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่นั้นโดยมากมักจะเป็นงานซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดโอกาสบาดเจ็บในการทำงานหรือมีความเสี่ยงสูงสำหรับแรงงาน ซึ่งในประเด็นนี้ ดร. ไพบูลย์มีมุมมองว่าไม่มีอะไรที่แรงงานปรับตัวไม่ได้ เพียงแต่ต้องให้เวลาเพื่อทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงก็เท่านั้น

ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะเกิดขึ้นก็ตามแต่ ทรัพยากรมนุษย์จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการต่าง ๆ ดังเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทและทักษะที่ใช้ ยกตัวอย่างเช่น งานซ่อมบำรุงที่ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่และในส่วนนี้เอง ดร. ไพบูลย์ ให้แง่คิดไว้ว่า ความต้องการแรงงานในส่วนการซ่อมบำรุงยังมีความต้องการอยู่ เนื่องจากต้องใช้คนในการตัดสินใจ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ Predictive Maintenance จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น เนื่องจากช่องว่างที่ลดลงระหว่าง IT กับ OT ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ 

หากลองถอยออกมามองภาพกว้าง เราอาจมองเห็นปัญหาเรื่องของเทคโนโลยีกับช่วงอายุที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คนรุ่นก่อนอาจจะบอกว่าตัวเองไม่เข้าใจเทคโนโลยี ไม่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่าลืมกันว่าเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มักตักเตือนเด็กไม่ให้เล่นมือถือบนโต๊ะอาหารอยู่เลย แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นเด็กอายุน้อยที่กลายเป็นฝ่ายเตือนว่าพักโทรศัพท์มานั่งกินข้าวบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนเปลี่ยนแปลงได้เมื่อ Ecosystem เกิดและผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนได้อย่างไม่ขัดข้อง ถ้าในวันนี้ความเปลี่ยนแปลงสู่ระบบอัตโนมัติยังไม่เกิดขึ้นในวงกว้างอาจบอกได้ว่า Ecosystem ไม่พร้อมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พร้อมตลอดไป การเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรในองค์กรจะสามารถทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้อย่างไม่ติดขัด อาจเริ่มจากการพูดคุยเพื่อส่งเสริมชุดความคิดและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับแรงงาน เช่น ความปลอดภัย หรือความเหนื่อยล้าร่างกายที่ลดลงก็ได้เป็นต้น

ในวันนี้ประเทศไทยอาจดูเหมือนยังไม่พร้อมรับเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคส่วนของการผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้วคนไทยมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ การซื้อสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ ตลอดจนแอปพลิเคชันการสนทนาซึ่งใช้กันในชีวิตประจำวันกันอยู่ไม่น้อย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนอย่างการผลิตจึงไม่ใช่เรื่องที่บอกว่าไกลตัว หรือทำไม่ได้อีกต่อไป หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้องในเวลาอันไม่นานและมีเงินทุนที่มากพอก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันสั้นเช่นกัน

EEC Automation Park อยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่บ้าง?

สำหรับเด็กมัธยมหรือวัยรุ่นมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจในด้านระบบอัตโนมัติ หรือเกิดความสงสัยใคร่รู้ในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใกล้ตัว ดร.ไพบูลย์ แนะนำว่าอยากให้เข้าใจเรื่องของกระบวนการคิด ตรรกะที่ชัดเจน คือ Logic 0 1 0 1 (Binary) ต้องรู้ให้ชัดว่าอะไรจริง อะไรเท็จ สิ่งไหนต้องตัดสินใจเป็นบวกหรือลบอย่างไร การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาร่ำเรียนในด้านระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานเท่านั้น เขาอาจจะไปเป็นหมอที่นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในการรักษา เขาอาจจะทำงานที่โรงแรมที่ใช้ระบบ e-Hotel ก็ได้ ซึ่งความเข้าใจใน Logic ในเรื่องของการคิดจะต่อยอดได้ง่ายขึ้น คิดได้ สามารถลงมือใช้งานได้ แบบเดียวกับการที่นำเรื่อง Logic ไปสอนในระดับประถม มัธยม เพื่อให้เด็กเข้าใจและต่อยอดไปหลาย ๆ ทาง คล้ายกับว่าสมัยก่อนบอกว่าไปเรียนสายวิทย์จะมาต่อสายศิลป์ได้นะ แต่สายศิลป์มาสายวิทย์อาจจะยากเสียหน่อย

ผศ. ดร. มัทนา มองเห็นความแตกต่างในเด็กรุ่นใหม่ ๆ โดยพบว่าอาจมีเด็กบางกลุ่มที่ไม่ชอบ แต่อีกมุมหนึ่งจะพบว่า มีเด็กที่สนใจสิ่งเหล่านี้อยู่และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจเฉพาะตัวเอง ซึ่งผู้ปกครองก็มีส่วนที่ไม่ได้ใส่ใจที่จะใกล้ชิดและเรียนรู้ไปกับเด็ก ๆ ซึ่งเด็กกลุ่มหลังที่สนใจเฉพาะตนเองจะเข้าถึงได้ยาก เราตอบได้ยากว่ากลุ่มเด็กที่สนใจมีมากน้อยขนาดไหน แต่จะเห็นได้ชัดว่าเด็กที่สนใจเฉพาะในเรื่องที่ตนสนใจเท่านั้นมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งมองว่าประเด็นนี้ก็เกี่ยวข้องการออกจากงานก็มากขึ้นเช่นกัน 

สำหรับ ผศ. ดร. มัทนา แล้วมองว่าอยากให้ EEC Automation Park เป็นที่เรียนรู้ ที่เตรียมพร้อม อยากให้มองว่าถ้าเขาเล่นเกมส์ ถ้าเขาชอบสิ่งที่อยู่ในเกมส์ แล้วเกิดอยากสร้างอะไรขึ้นมาให้เป็นจริงได้ ที่นี่ทำให้เขาได้สร้าง ได้ออกแบบด้วย น่าจะดึงความสนใจได้มากขึ้น ต้องยอมรับว่าครูที่ดีมีส่วนอย่างมาก จะถ่ายทอดอย่างไรให้เขาไม่เบื่อ ทำให้เขาสนใจ ยกตัวอย่างกรณีของ ดร.ไพบูลย์ ที่เคยสอนการเขียน Coding ให้กับเด็กประถมต้นโดยให้พ่อแม่มาอบรมด้วย ซึ่งพ่อแม่ที่มาอาจไม่เข้าใจว่าให้ทำไม แรก ๆ อาจจะเบื่อ แต่หลัง ๆ เมื่อเห็นว่าเด็กสามารถทำได้ พ่อแม่ที่มาด้วยจะเกิดความภูมิใจและเล่นไปกับเด็กด้วย ซึ่งการให้โอกาสเขาได้สัมผัส ได้เปิดโลก เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจริง ๆ แล้วคอร์สที่กล่าวถึงนี้ การให้ผู้ปกครองมาเขียน Coding พร้อมกับเด็กมีเป้าประสงค์สองอย่าง คือ ให้ผู้ปกครองมาช่วยดูแลเด็ก และอีกประการคือให้ผู้ปกครองเรียนรู้พร้อมเด็ก ให้เขารู้ด้วยว่าสิ่งที่เด็ก ๆ เล่นอยู่นั้นคืออะไร ไม่ใช่แค่เห็นว่าเขาเล่น แต่เป็นการเติมเต็มช่องว่างที่อาจจะหายไปให้สมบูรณ์มากขึ้นได้

สำหรับใครที่สนใจติดต่อเข้าชมสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าผ่านทางช่องทาง www.automationpark.or.th ทั้งการเข้าชมเป็นกลุ่มและการเข้าปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ EEC Automation Park เปิดทำการวันอังคาร-วันเสาร์ และปิดทำการวันอาทิตย์-วันจันทร์ โดยวันเสาร์เปิดรับผู้เข้าชมทั่วไปที่มีความสนใจอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง:
Rethink Redo และ Revolution สานต่อโอกาสการผลิตในยุค Post COVID-19

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924