Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

“สุริยะ”ลงพื้นที่อีอีซี ขับเคลื่อนโครงการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีอีซี เพื่อติดตามงานตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ พร้อมกำชับหน่วยงานในพื้นที่เร่งขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามเป้า!

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (กลุ่มจังหวัดอีอีซี) ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ในเขตพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ (Investment Promotion) โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อเยี่ยมชมศูนย์การผลิตแหลมฉบัง ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อรับทราบความคืบหน้าโครงการการผลิตรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเภทปลั้กอินไฮบริด โดยเป็นการผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก พร้อมรับทราบข้อมูลการลงทุนเพื่อปรับปรุงศักยภาพการผลิต (Restructuring Project) สอดคล้องกับแผนระยะกลาง 3 ปี ซึ่ง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศ ญี่ปุ่น ได้ประกาศไว้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศไทย  ทั้งนี้ ศูนยการผลิตแหลมฉบังของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีกำลังการผลิตสูงสุด 424,000 คัน เป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศ ญี่ปุ่น และส่งออกไปกว่า 120 ประเทศทั่วโลก

 “กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าต่อผลักดันแผน Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเร่งให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตรงตามเป้าหมายและให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาดำเนินการให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม  โดยกระทรวงฯ ได้มีมาตรการสนับสนุนทั้งในส่วนของอุปสงค์ (ความต้องการใช้) และอุปทาน (ผู้ผลิต) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว สอดรับกับเป้าหมายในปี 2030 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปยังพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่โครงการ ฯ ซึ่งล่าสุดยังอยู่ระหว่างการศึกษาขยายพื้นที่ที่จะรองรับโครงการดังกล่าวฯ ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ณ สำนักงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการของนิคมฯ  ความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 และความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park)

ด้านนางสาวสมจิณณ์ ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี ติอดันดับ 1 ใน 5 ของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมคอมเพล็กซ์มีจำนวน 5  นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก  นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย  นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล  นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงานจำนวน 151 โรง จำนวนแรงงาน 30,000 คน มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย ปิโตรเคมีขั้นกลาง ปิโตรเคมีขั้นปลาย ก๊าซ เคมีภัณฑ์ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน เหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น

สำหรับพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมประมาณ 2,870 ไร่ และระยะที่ 3 ประมาณ 1,000 ไร่ ปัจจุบันท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีท่าเทียบเรือให้บริการ 12 ท่า แบ่งเป็นท่าเทียบเรือสาธารณะ (Public Berths) 3 ท่า และท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ 9 ท่า มีปริมาณเรือผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดจำนวน 4,258 ลำ ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 41,977,778 ตัน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค 19 เป็นผลให้ปริมาณสินค้าผ่านท่าลดลงประมาณ 6.8%

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีระบบบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางน้ำโดยใช้ระบบ VTMS (Vessel Traffic Monitoring System : VTSM) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของการให้บริการจราจรทางน้ำ  ซึ่งเป็นระบบเฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนที่ของเรือในทะเล โดยใช้หลักการทำงานจากอุปกรณ์เซนเซอร์ต่างๆ เช่น เรดาร์ AIS (ระบบแสดงตนโดยอัตโนมัติเป็นอุปกรณ์สำคัญในการบริหารจัดการทางน้ำ) กล้องโทรทัศน์วงจรปิด อุปกรณ์ตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา และอุปกรณ์ตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยระบบดังกล่าวสามารถติดตามการเคลื่อนที่ของเรือได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถควบคุมการจราจรทางน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

และในปี 2562 กนอ.ลงนามสัญญาร่วมทุนในรูปแบบการบริหารธุรกิจ (PPP : Business Case ) ในการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและเป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยความคืบหน้าการก่อสร้างฯ หลังได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยองแล้ว บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งในส่วนของการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569

ส่วนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มีแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนา คือ มุ่งเน้นการเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนา Smart Eco และใช้นวัตกรรมในการให้บริการระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กลางทางพาณิชย์ของชุมชนที่ทันสมัย รองรับการเจริญเติบโตของการใช้บริการภาคธุรกิจในพื้นที่

นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีพื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ ปัจจุบันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563  และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการโครงการฯได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี (คิดฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ15,000 บาท)

“นิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค (Smart Park ) มีมูลค่าการลงทุนระยะแรก ประมาณ 2,480.73 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าออกแบบแนวคิดโครงการและการจัดทำ EIA และค่าดำเนินการก่อสร้าง เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device) กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)” มีความได้เปรียบในเรื่องของระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบขนส่งทางอากาศสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด  ระบบขนส่งทางบก อันได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางด่วนมอเตอร์เวย์ เป็นต้น และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยจะแล้วพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924