จากสถานการณ์พลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ประเทศไทยก็เช่นกัน
ล่าสุดในการประชุม 6th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2016) ซึ่งJGSEEหรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ.และมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ร่วมกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 ขึ้นโดยในการประชุมดังกล่าวได้มีการระบุว่าสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกมีแรงขับเคลื่อนหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลัก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งปัจจุบันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระหว่างทั่วโลกนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และประเทศไทยเองตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 % ภายในปีค.ศ.2030 ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะมีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้กำลังก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวว่า“โดยเฉลี่ยของโลกและประเทศไทย ในภาคการผลิตและการใช้พลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% ดังนั้นหากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเริ่มที่ภาคพลังงานเป็นอันดับแรก อีกสิ่งที่สำคัญที่ต้องตระหนัก ก็คือ ผลกระทบต่อโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากภาวะ Green Disruption หรือเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาของโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างมาก ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน IoT หรือ Internet of Thingsจะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเปลี่ยนไป ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตั้งรับ ทางกระทรวงพลังงานก็เตรียมพร้อมเรื่องการใช้ Smart Grid ระบบเก็บพลังงานที่รองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยและ มจธ. เองสามารถดำเนินการได้เลยเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ก็คือการพัฒนากำลังคนที่จะตอบสนองหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลังงานในอาเซียนจะขยับไปสู่ความเป็น Sustainability ในที่สุด และอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยขยับเข้าหาอาเซียนมากขึ้น เห็นได้ชัดจากความมุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์กลาง หรือHUB ด้านพลังงานของอาเซียน พร้อมทั้งสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายไปสู่อาเซียนได้ ซึ่งสองประการดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน
รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. ได้กล่าวเสริมว่านอกจาก มจธ. จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานและสร้างกำลังคนแล้ว ยังต้องมุ่งแก้ไขปัญหาและตั้งรับอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์พลังงานโลกได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสถานการณ์ร่วมกัน
จากความสำคัญดังกล่าว JGSEE จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการวาระพิเศษ “Franco-Thai Workshop on Smart Grids” ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Grid ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ทั้งในมิติของการวางแผน การดำเนินการในด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grids สำหรับการจัดการพลังงานของประเทศไทยในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ผลจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการภายในงานช่วยสนับสนุนในการมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจก 20-25%ภายในปี ค.ศ.2573 ซึ่งทางตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นต่อไป