Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

กรอ.เผย6เดือนแรก ปี 63 โรงงาน.เปิดใหม่เพิ่มขึ้น

กรอ. เผย 6 เดือนแรกปี 63 มีโรงงานเปิดใหม่ 1,702 ราย  เพิ่มขึ้น 10.22 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62และมีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท

กรอ. เผย 6 เดือนแรกปี 63 รง.เปิดใหม่เพิ่มขึ้น 10.22 %

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี 63 (ม.ค.–29 มิ.ย.63) มี จำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22 % มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09% อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกตคือมีปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งใน 2 ไตรมาสแรก  ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19มากนัก ทั้งนี้ ต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ

“แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของโลกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติที่ทั่วโลกประสบอยู่ เพราะนักลงทุนต้องรอดูสถานการณ์ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ แต่ในส่วนของประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดี ๆ โดยพบว่าตัวเลขความต้องการจ้างงานใหม่ของโรงงานที่ขออนุญาตใบ ร.ง.4 และขยายกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีอื่น ๆ พบว่าช่วง  6 เดือนแรกของปี 63 มีความต้องการแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปถึงปี 61 ซึ่งอย่างน้อยก็จะสามารถเข้ามารองรับการจ้างงานในไทยให้เพิ่มขึ้นรวมถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงาน  จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง” นายประกอบ กล่าว

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน สาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการแรงงานสูงเนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการใช้แรงงานในการประกอบและตรวจสอบอุปกรณ์จำนวนมาก รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีความต้องการแรงงาน 20,112 คน, กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน, กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน

ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานในครึ่งแรกของปี 63 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 62 จำนวน 1,702 ราย แบ่งเป็นยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36 % จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58 % และเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16 % และการขยายกิจการ จำนวน 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07 % โดยอุตสาหกรรมอาหารมีการขอใบอนุญาตขอจัดตั้งโรงงานและขยายกิจการสูงสุดจำนวน 97 ราย เพิ่มขึ้น 44.78 % มีการจ้างงาน 15,631 คน เพิ่มขึ้น 44.21 % และเงินลงทุน 14,390.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.19 % สาเหตุที่มีการขออนุญาตลงทุนโรงงานประเภทนี้มากสุดเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมนี้มีการเจริญเติบโตสูง

ส่วนอันดับสองเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก 36 รายลดลง 41.94% จ้างงาน 2,363 คน ลดลง 36.16% และเงินลงทุน 2,763.92 ล้านบาท ลดลง 64.93% กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 32 ราย เพิ่มขึ้น 6.67% จ้างงาน 1,706 คน เพิ่มขึ้น 79.58 % เงินลงทุน 5,266.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.71%, ผลิตภัณฑ์อโลหะ 31 ราย เพิ่มขึ้น 82.35% จ้างงาน 2,474 คน เพิ่มขึ้น 1,346.78% ลงทุน 2,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 645.68% และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 26 ราย ลดลง 15.38% จ้างงาน 3,462 คนเพิ่มขึ้น 69.54 %เงินลงทุน 3,076.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.63%

สำหรับทิศทางของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารซึ่งถ้าดูจากตัวเลข จะเห็นว่ายังมีการขออนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายประกอบ กล่าวถึง แผนฟื้นฟู ส่งเสริม หรือสนับสนุนสถานประกอบการอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ล่าสุดกรอ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม (พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ) ตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้ว จำนวน 5 โครงการวงเงินกว่า 148 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มที่ 1 โรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคมี ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก และต่อเรือซ่อมเรือ

“นอกจากนี้ยังมีโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนโดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ 2 โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยา ไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งทอ เซรามิก แก้วและกระจก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, โครงการฟื้นฟูและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม, โครงการพัฒนายกระดับศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ หรือ IoTs ให้ได้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และโครงการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนก็จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้” นายประกอบ กล่าว

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924