Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ความเชื่อมั่น SME พ.ค.พุ่งสูงสุดรอบ 5 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนพฤษภาคม 2563 เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน หลังรัฐบาลคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดันยอดขายสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น

ความเชื่อมั่น SME พ.ค.พุ่งสูงสุดรอบ 5เดือน

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ที่ระดับ 27.6 มาอยู่ที่ระดับ 40.9 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นมาก ตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 เดือน  แต่ยังคงต่ำกว่าฐาน 50 สะท้อนภาพรวมภาวะธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลใจ แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐที่ให้สถานประกอบการหลายแห่งเปิดดำเนินการได้ และลดข้อจำกัดการเดินทางในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวในทุกภูมิภาค 

ทั้งนี้สาเหตุการปรับขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและบริการ และกำไร ที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่ระดับ 35.2 35.6 และ 35.1 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านการลงทุน และการจ้างงาน เพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 43.9 และ 42.5 ตามลำดับ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค และเกือบทุกสาขาธุรกิจ เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐมากขึ้นทำให้สถานประกอบการเริ่มดำเนินการได้ และจำหน่ายสินค้าและให้บริการได้ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

โดยภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.9 42.2 และ 40.3 ตามลำดับ ส่วนสาขาที่มีค่าระดับดัชนีฯ สูงที่สุด และเพิ่มมากที่สุด คือ บริการสุขภาพและเสริมความงาม อยู่ที่ระดับ 46.1 เพราะการปิดสถานประกอบการหลายเดือน ยอดใช้บริการจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังการเปิดกิจการได้ อย่างไรก็ตามจากการจำกัดคนใช้บริการ ทำให้สถานประกอบการยังมีข้อจำกัดในการให้บริการ เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกที่ค่าดัชนีฯก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าอุปโภค/บริโภค (Modern trade) เพราะได้ขยายเวลาเปิดกิจการส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 37.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 27.8 เนื่องจากประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยและเดินทางสัญจรมากขึ้น ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และสถานีบริการน้ำมัน มีแนวโน้มขยายตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 44.3  เพิ่มขึ้นจาก 29.6 เนื่องจากร้านค้าส่วนมากเริ่มเปิดกิจการ และกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 43.3 เพิ่มขึ้นจาก 26.6 เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือก ทำให้ภาคเกษตรกรรม และร้านค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาค มีแนวโน้มขยายตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 38.1 เพิ่มขึ้นจาก 27.6 จากการที่ภาคการผลิตในพื้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้นจาก 27.8 แม้การท่องเที่ยวในพื้นที่ยังคงซบเซาจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ และอนุญาตให้ขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกผ่านด่านปาดังเบซาร์ได้เหมือนเดิม อีกทั้งราคายางพารามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 38.9 เพิ่มขึ้นจาก 26.4 จากธุรกิจหลายสาขาเริ่มขยายตัวเพราะการผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะบริการสุขภาพและเสริมความงาม และร้านอาหาร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 60.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ระดับ 53.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวค่อนข้างมาก และสูงกว่าค่าฐาน 50 เพราะผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มองสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จากสัญญาณบวกของการขยายตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเริ่มจำหน่ายสินค้าและบริการได้มากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การติดเชื้อได้คลี่คลายลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME คาดการณ์ทั้งกำลังซื้อ การผลิตทั้งสินค้า และการให้บริการ รวมไปถึงผลประกอบการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้าที่จะสูงขึ้นในอนาคตและข้อจำกัดการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน

2. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล

3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การแข่งขันในตลาด และราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924