Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

จับประเด็น ‘อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย’ ความหวัง ความจริง และโอกาส

นับเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ของปีนี้กันเลยทีเดียว กับเรื่องเด่นประเด็นดัง ‘นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือที่หลายๆ คนเรียกกันติดปากว่า ‘รถ EV’(Electric Vehicles) หรือ BEV (Battery Electric Vehicles) ซึ่งหมายถึง รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว

จับประเด็น ‘อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย’ ความหวัง ความจริง และโอกาส

กระแสที่ใครๆ ก็พูดถึงอนาคตรถ EV เทคโนโลยียานยนต์ที่จะตอบโจทย์ตลาดรถยนต์ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงสูง มุ่งลดโลกร้อน ท่ามกลางนานาทรรศนะทั้งเชิงบวกและลบจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของนโยบายอย่างภาครัฐ ผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่กุมพลังแห่งการขับเคลื่อน และประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นไพ่ใบสำคัญที่จะมีส่วนช่วยชี้ชะตาอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทยว่าจะเปล่งประกายฉายแววเป็น ‘ดาวรุ่ง’ หรือจะแผ่วปลายกลายเป็น ‘ดาวร่วง’

ตั้งเป้ากำหนดกลยุทธ์ ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าให้ถูกทาง

ในฐานะที่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในฐานการผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์รายสำคัญแห่งหนึ่งของโลก การมุ่งเป้าก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันมากไปนัก หากต้องกลับมามองศักยภาพที่แท้จริง พิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้และความท้าทายที่ต้องเผชิญ เพื่อวางแผนกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างถูกทิศทาง

ทันทีที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579 ยิ่งตอกย้ำให้ยานยนต์ไฟฟ้าทะยานขึ้นแท่น ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ที่มีอนาคต สวมบทพระเอกขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

รัฐบาลปูพรม ส่งเสริม ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ อย่างต่อเนื่อง

ปี 2559

  • ปรับภาษีใหม่มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559
  • กระทรวงพลังงาน จัดทำแผนขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่รวม 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579
  • สวทช. มอบต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง EGAT EV ให้ กฟผ.นำไปใช้งาน และเก็บผลทดสอบสำหรับนำไป
  • ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ารายการแรก คือ มาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่
  • ครม.มีมติเห็นชอบกับมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ปี 2555

  • ครม.มีมติอนุมัติการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยวัดจากการปล่อย CO2 และ
    คุณสมบัติในด้านความปลอดภัย โด

ปี 2549

  • จัดตั้งและดำเนินโครงการอีโคคาร์

ปี 2547

  • รัฐบาลเริ่มวางแผนปรับภาษีสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถที่ปล่อย CO2 ต่ำไว้ที่ 10% ซึ่งต่ำที่สุดในรถยนต์นั่ง

รัฐปูพรมส่งเสริม ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ อย่างต่อเนื่อง

หากลองย้อนรอยเส้นทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา จะพบว่าภาครัฐให้ความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนกระทั่งล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนส่งเสริมลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้อนุมัติหลักการว่า บริษัทที่สนใจลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ต้องยื่นแผนการดำเนินงานในลักษณะแผนรวม (แพคเกจ) ประกอบด้วย แผนการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบการจ่ายไฟพร้อมทั้งให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicles : BEV) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอนาคตของยานยนต์ ซึ่งขณะนี้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะมุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

มาตรการส่งเสริมที่ภาครัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ ค่ายที่มีฐานโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยตื่นตัวขานรับนโยบาย ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

ISUZU มีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรถกระบะ Hybrid

NISSAN บริษัทแรกๆ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า มีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก

HONDA ส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์

นอกจากนี้ ในส่วนภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกโรงสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดัน ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ให้แจ้งเกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีอนาคตการเติบโตเป็นกลไกที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมกับค่ายรถยนต์ ทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่นรวม 3 – 4 ราย จัดตั้ง ‘สถานีชาร์จไฟฟ้า’ รองรับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งปัจจุบัน ปตท. มีสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6 แห่ง ภายในปีนี้ และเพิ่มอีก 14 แห่ง เป็น 20 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2560

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นสานฝันการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่่วมกับ บริษัท FOMM Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กจากประเทศญี่ปุ่น พัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบเชิงพาณิชย์ หรือ รถต้นแบบ Concept One ที่มีความเหมาะสมกับสภาวะภูมิอากาศในประเทศไทย ถือเป็นรถยนต์ขนาด 4 ที่นั่งที่เล็กที่สุดคันแรกของโลก ออกแบบตัวถังรถให้กันน้ำ ขอบล้อเป็นใบพัด ทำให้ลอยตัวพร้อมขับในน้ำได้ ส่วนแบตเตอรี่ เป็นรูปแบบของคาสเซ็ท สะดวกต่อการถอดเปลี่ยน และชาร์จด้วยไฟบ้านทั่วไป ภายในติดตั้งระบบทำความเย็นกำลังสูง และประหยัดพลังงาน สามารถขับเคลื่อนได้ 150 กิโลเมตร อัตราความเร็วสูงสุด 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“EV เป็นเทคโนโลยีใหม่ต้องอาศัยเวลา สิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็น Power Trend ดังนั้น เมื่อเทรนด์มา โอกาสมี การจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องมีการวางแผนให้รอบด้าน ต้องคำนึงถึงความพร้อมในเรื่องต่างๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า สถานีชาร์จ ความพร้อมของภาคการผลิต เพราะการที่เราจะมุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ ไม่ใช่ผู้ผลิตที่จะเป็นตัวกำหนด เราต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาด ไม่ควรส่งเสริมจนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง การสนับสนุนต้องดูกลไกทางอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เพราะ EV เป็น Product Scale ไม่ใช่ Mass Production จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง รถ EV มีข้อดี แต่ข้อที่เป็นอุปสรรคก็ต้องบอกด้วย”

คุณธนวัฒน์ คุ้มสิน
นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

เปิดเวทีระดมความเห็น นานาทรรศนะ คิดรอบด้าน มองต่างมุม

ท่ามกลางกระแสการผลักดัน ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ย่อมมีทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้าน เพื่อถ่วงสมดุลให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง การเปิดรับความคิดเห็นและนานาทัศนะ จากหลากหลายภาคส่วน ย่อมทำให้การวางนโยบาย การส่งเสริมสนับสนุน การตัดสินใจลงทุน และอื่นๆ มีความรอบด้านครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ภายในงานแสดงเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ ประจำปี 2559 ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงไม่พลาดที่จะมีเวทีเสวนาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แสดงทรรศนะความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

“หากจะส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยต้องมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยเป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจนในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ สวทช. เองก็ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่ โครงสร้างน้ำหนัก ตลอดจนนโยบายมาตรฐานต่างๆ ที่จะต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้ช้า ก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่ เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งเรื่องน้ำหนักและราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตคาดว่าจะมีผู้ลงทุนเรื่องการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาถูกลงตามกลไกทางการตลาด และในที่สุดก็จะเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย”

คุณชาตรี ศรีไพพรรณ
ที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ปูทางวางอนาคตคิดใหญ่เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

จากนานาทรรศนะของผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สะท้อนหลากหลายแง่มุมของการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่ากว่าประเทศไทยจะก้าวขึ้นแท่นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้นั้น อาจต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ แม้ว่าจะมีโอกาสที่หอมหวานเป็นแรงจูงใจให้พุ่งเป้าไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเพิกเฉยต่อการขึ้นขบวนรถไฟสายยานยนต์ไฟฟ้า แต่ในอนาคตอันใกล้ผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ต้องปรับตัวในหลายๆ เรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม การรับมือกับสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่ง การปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยียานยนต์สีเขียว ที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“รถไฟฟ้า EV ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับภาครัฐ เนื่องจากตระหนักดีอยู่แล้วว่าเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต จะได้รับการพัฒนาให้มีการใช้เชื้อเพลิงน้อยลง และปล่อย CO2 ต่ำ โดยปัจจุบันถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์ ซึ่งรัฐบาลมุ่งสนับสนุนในรูปแบบการลงทุนแบบแพกเกจ คือ ผู้ที่จะลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าต้องผลิตชิ้นส่วนหลัก เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า กล่องควบคุม (CBU) ควบคู่กันไป เช่นเดียวกันกับโมเดลของอีโค่คาร์ ซึ่งทำให้ต้นทุนถูก ทั้งยังมีการยกเว้นอากรนำเข้า CBU และยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนหลักหรือส่วนประกอบ อุปกรณ์ประกอบของรถยนต์นั่งไฟฟ้าในช่วงแรกของการประกอบรถยนต์ด้วยแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศฐานการผลิตยานยนต์ที่มีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 มีซัพพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพ แต่เชื่อว่า การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงเรื่องของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มทุน เรื่อง Business Model ด้วยเช่นกัน แม้ภาครัฐจะมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนพอสมควรแล้วก็ตาม”

คุณดุสิต อนันตรักษ์
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สมอ.)

ทั้งหมดนี้ หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการก้าวสู่อุตสาหกรรม ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ อย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ประกาศชัดเจนถึงแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่า ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ในประเทศไทยไม่ใช่แค่ความฝันที่เฟื่องฟุ้งไปตามวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล หากแต่เป็นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเท่าทัน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการยานยนต์ก็ต้องมองโอกาสให้เป็น ใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายๆ ประการ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวได้ เพราะผู้ที่ปรับตัวได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ และผู้ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงก่อน ย่อมได้กำชัยชนะก่อนนั่นเอง

“มติ ครม. ล่าสุดได้เห็นชอบแผนส่งเสริมลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ที่จะลงทุนต้องยื่นแผนการดำเนินงานแบบแผนงานรวมประกอบด้วย แผนลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ โดยบริษัทฯ ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว จะได้รับลดหย่อนภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่ผลิต เพื่อทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนด ทั้งยังได้สิทธิลดหย่อนยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าสำคัญที่ยังไม่สามารถผลิตภายในประเทศได้ในช่วงเริ่มต้นการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า หลังการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว คาดว่าจะเห็นการลงทุนผลิตจริงภายใน 2 ปี ทั้งนี้ บีโอไอ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่อไป ซึ่งมาตรการนี้ บริษัทฯ ที่สนใจจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปีนี้ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุด”

คุณดุสิต ไตรศิริพานิช
ผู้อำนวยการสำนักบริหารการลงทุน 2
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

EXECUTIVE SUMMARY

Thailand is one the most important manufacturing base for automobile part and part assembly of the world. To aiming for an ultimate goal in automobile manufacturing, it wouldn’t be a long distance dream anymore. Thailand must realize their true potential and considering on the opportunities and challenges to plan the strategy for electrical vehicle (EV) and drive it into the proper direction. Thai government has been announced the support for automobile manufacturing while encouraged the plan for EV usage about 1.2 million cars in 2036. This is an emphasize for EV to storming into ‘New Industry’ that has a bright future and act as a hero to drive overall economic of the country with stronger growth rate.

You could say that ‘EV’ in Thailand is not just an imagination or day dreaming from wide spread vision anymore. This is an adaptation to support the transformation that will occur soon while the real entrepreneur which experienced in automobile manufacturing business must figure and catch the opportunities. They must take a chance to make the most profit even they must face many challenge factors.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924