อยู่ในวงการเครื่องปรับอากาศมากว่า 30 ปี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แถมยังผ่านตำแหน่งมารอบด้านทำให้คุณอดิศักดิ์ รัมมณีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีประสบการณ์จากการทำงานที่หลากหลาย อาทิ บริหารการเงิน การผลิต การตลาด ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญและรู้ลึกรู้จริงในเรื่องเครื่องปรับอากาศ
ด้วยความแน่วแน่และรักในงานที่ทำ คุณอดิศักดิ์จึงไม่เคยหยุดเรียนรู้ พร้อมหมั่นปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ จนกลายมาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิตคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
ก้าวแรกในแคเรียร์
ก้าวแรกในแคเรียร์ เริ่มต้นเมื่อคุณอดิศักดิ์ รัมมณีย์ ร่ำเรียนระดับอุดมศึกษาด้านการเงินอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งหลักสูตรกำหนดไว้ว่าต้องทำงานจริงไปด้วย เจ้าตัวจึงทำงานแทบเต็มเวลา ได้ค่าจ้างปกติจากแคเรียร์ และแคเรียร์เอก็ใจดี อนุญาตให้เลิกงานเร็วสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อมาเก็บชั่วโมงเลคเชอร์
หลังจากนั้น 10 ปี ย้ายมาอยู่แคเรียร์สาขาเมลเบิร์น ออสเตรเลีย และอยู่สำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ อีกที่ละ 3 ปี ประสบการณ์ด้านการเงินจากต่างประเทศรวมกว่า 16 ปี ประจวบเหมาะกับจังหวะพอดีที่แคเรียร์ตัดสินใจร่วมทุนกับโตชิบา คุณอดิศักดิ์จึงได้รับโอกาสกลับประเทศไทยในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินของ โตชิบา แคเรียร์ จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออกทั่วโลก ทั้งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ตะวันออกกลาง ยุโรป รวมถึงสแกนดิเนเวีย
ระบบที่ดี คือ รากฐานของคุณภาพ
จากงานด้านการเงินสู่ผู้บริหารโรงงานขนาดยักษ์ใหญ่ ความท้าทายย่อมมีไม่น้อย เพราะนอกจากต้องบริหารคน และควบคุมดูแลด้านสินค้าแล้ว อีกเรื่องที่คุณอดิศักดิ์นับเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
“หลายโรงงานลืมตรงนี้ไป เพิ่มแต่ความแข็งแกร่งของเครื่องจักร เพิ่มความเร็วในการผลิต แต่ลืมสนใจเรื่องการจัดการชิ้นส่วนและทิศทางการเคลื่อนย้าย เราต้องวางระบบ Production Engineering ซึ่งว่าด้วยการเคลื่อนย้าย ยิ่งเคลื่อนที่น้อย ยิ่งได้ประสิทธิภาพมาก ทั้งตัวพนักงานและการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วน (Parts) ไลน์การเคลื่อนที่และหมุนเวียนวัตถุดิบ (Material Flow) ต้องดี จะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดี และเกิดการสูญเสีย (Waste) น้อยลงมาก”
คุณอดิศักดิ์เล่าว่า ปี 2548 โรงงานโตชิบาแคเรียร์ ตัดสินใจรื้อเลย์เอาท์ โรงงานเพื่อวางผังใหม่ ปรับทิศทางของการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและชิ้นส่วนให้ไปทางเดียว เข้าซ้าย ออกขวา ตรงไปที่โกดัง ลดความสับสน และข้อผิดพลาดรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มาก
“เช่น ล็อตนี้ ต้องผลิตแอร์รุ่นนี้ 20 เครื่อง เราจะจัดชิ้นส่วนให้ครบพอดี สำหรับ 20 เครื่องลงไปในไลน์การผลิต ฉะนั้น เมื่อประกอบเสร็จ ชิ้นส่วนต้องหมดพอดี ไม่ขาด ไม่เหลือ หากมีชิ้นส่วนเหลือตกค้าง แสดงว่า มีอะไรผิดพลาดแล้ว ต้องหยุดไลน์การผลิต และเช็กว่า เครื่องไหนผิด เช็กทั้ง 20 เครื่อง ก็ยังดีกว่าต้องไปเช็กในโกดังซึ่งมีสต็อกเป็นร้อยเป็นพันเครื่อง เราพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้สินค้าที่ผิดพลาดหลุดไปในตลาด หลุดไปถึงลูกค้า เจอในโรงงานดีกว่า
ปัญหาเรื่องคุณภาพ ขอให้เจอที่โรงงาน เจอที่โรงงาน แก้ไขได้รวดเร็วประหยัด ไม่เสียภาพลักษณ์ เราจึงทุ่มทรัพยากรเพื่อกักปัญหาเรื่องคุณภาพไว้ภายในรั้วโรงงาน หากปล่อยให้หลุดไปแล้วมาตามแก้ มันไม่คุ้ม โดยเฉพาะยุคโซเชียลมีเดีย เกิดหลุดไป 1 ตัว จะไปเร็วมาก” คุณอดิศักดิ์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
เห็นได้ว่า แม้ร่ำเรียนและทำงานด้านการเงินมาตลอด แต่กลับไม่ปิดกั้นตัวเองไว้เพียงเท่านั้น คุณอดิศักดิ์ใส่ใจจะพัฒนาด้านไลน์การผลิต คิดหาวิธีการลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพไลน์การผลิตให้เต็มศักยภาพในที่สุดจึงขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
คุณภาพและความซื่อสัตย์ มีประเทศไทยเป็นเดิมพัน
จนเมื่อกลางปี 2554 ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของแคเรียร์ (ประเทศไทย) ว่างลง เป็นโอกาสสำคัญให้คุณอดิศักดิ์ได้หันมาจับงานบริหารคน และบริหารองค์กรเต็มรูปแบบ
คุณอดิศักดิ์ย้ำเสมอถึงวัฒนธรรมองค์กรของแคเรียร์ว่า การทำงานของแคเรียร์ต้องมี 3 ข้อ คือ ความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด คุณภาพของสินค้าทั้งในมิติการรักษาคุณภาพและการปรับปรุงคุณภาพอยู่เสมอ และข้อสุดท้าย คือ ความซื่อสัตย์
“ความปลอดภัย คือ เราจะไม่ฝ่าฝืนกฎของความปลอดภัยเด็ดขาด คุณภาพ เราต้องรักษาคุณภาพ และต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่มีจุดจบ ต้องสร้างนวัตกรรม และก้าวให้ทันโลก
และสุดท้ายความซื่อสัตย์ เราทำงานกับฝรั่ง ถ้าเราโกง เสียชื่อประเทศ เขาจะคิดว่า คนไทยไว้ใจไม่ได้ ต้องเอาคนต่างชาติมาคุม เราไม่เอา เราคุมตัวเอง ผู้ถือหุ้นไว้ใจว่าคนไทยบริหารกันเองได้ ไม่ต้องเอาคนนอกมาคุมคนของเรา ทั้งหมดถือเป็น Core Value ขององค์กร” คุณอดิศักดิ์ขยายความ
ย้ายจาก MD ของโรงงานผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลก สู่ MD ของแคเรียร์ (ประเทศไทย) ดูเหมือนขอบเขตความรับผิดชอบจะแคบลง แต่คุณอดิศักดิ์กล่าวว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“เหมือนพื้นที่รับผิดชอบแคบลง ดูแลแค่ยอดขายในประเทศไทย แต่ความยุ่งยากในการทำงานกลับมีมากขึ้น เพราะสินค้าหลากหลายมากขึ้นโรงงานผลิตแอร์ 9,000 – 24,000 บีทียู มีอยู่แค่ 50 กว่ารุ่น เพื่อขายทั่วโลก กว้างแต่ไม่ยุ่งยาก เพราะมีระบบ เป็นขั้นตอนเป๊ะๆ
แต่งานขาย เราขายตั้งแต่ชิลเลอร์ 2,000 ตัน ไปถึงแอร์ 9,000 บีทียู ขายทุกโปรดักส์ ทุกเซ็กเม้นต์ หันมาเน้นการเอาใจใส่กับธุรกิจ เน้นเรื่องการขาย ซึ่งเป็นงานยืดหยุ่นต้องปรับตัวให้เข้ากับแต่ละกลุ่มลูกค้า ดีลกับลูกค้าก็ยุ่งยากกว่า และต้องทำงานตลอดเวลา ทุกวันแทบ 24 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้ ทักไลน์มา ตอบช้าไป 1 ชั่วโมงก็หงุดหงิดแล้ว” คุณอดิศักดิ์แบ่งปันประสบการณ์
สิ่งที่คุณอดิศักดิ์เรียนรู้ได้ชัดเจน คือ การสื่อสาร ทั้งการสื่อสารกับลูกค้าและการสื่อสารภายในองค์กร
“ต้องเพิ่มเติมเรื่องการสื่อสาร องค์กรใหญ่จะมีคนตกข่าวอยู่เรื่อยๆ เรานึกว่าเรารู้ดี แต่อีก 2 ขั้นลงไปจากเราเริ่มคลาดเคลื่อนแล้ว เช่น การสื่อสารด้วยอีเมล เหมือนว่าจะรับรู้รับทราบ แต่เข้าใจความหมายไม่ตรงกัน คลาดเคลื่อนไป ต้องสื่อสารให้ครบถ้วนและชัดเจน วิธีที่ดีที่สุด คือ การสื่อสารต่อหน้าด้วยการพูดคุย อีเมลมันสะดวกก็จริง แต่เป็นแค่ตัวช่วย ในที่สุดต้องกลับมาที่การพูดคุย”
อย่าหยุดยั้ง หากไม่พัฒนาก็เท่ากับถอยหลัง
ตลอดบทสนทนา มีหนึ่งคำที่คุณอดิศักดิ์ย้ำอยู่บ่อยครั้ง คือ Continuously Improving ต้องปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
“เราห้ามหยุด หยุดไม่ได้ การอ่านช่วยได้มาก เสพรับสิ่งใหม่ๆ โลกนี้ี มีอะไรใหม่ๆ ที่ดีขึ้นเสมอ
เราขายเครื่องปรับอากาศ เราเน้นให้สภาพแวดล้อมการทำงานและการอยู่อาศัยของลูกค้าดีขึ้น และต้องพัฒนาอย่างที่สุดเพื่อให้ประหยัดพลังงานใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า อย่างนวัตกรรม Inverter ซึ่งทั่วโลกใช้มานานมากแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย เราพยายามให้ความรู้ตรงนี้กับลูกค้าผ่านเซลส์และดีลเลอร์ต่างๆ ว่า การเปลี่ยนเป็น Inverter จะประหยัดไฟได้ถึง 30%” คุณอดิศักดิ์กล่าว
อีกเรื่องที่แคเรียร์พยายามเน้นย้ำ และปรับปรุงตัวเอง คือ นอกจากประหยัดพลังงานให้ลูกค้าแล้ว ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เรียกว่าเป็นหนึ่งในสำนึกความรับผิดชอบต่อโลก ที่ต้องเปลี่ยนสารเคมีในเครื่องปรับอากาศ จาก HCFCs เป็น HFCs ตัดคลอรีนทิ้ง เพราะคลอรีน คือ สารก่อก๊าซเรือนกระจก
เช่นเดียวกับนวัตกรรมล่าสุดของแคเรียร์ ในนาม AquaEdge 19 DV ซึ่งเป็นเครื่องทำความเย็นขนาด 1000 ตัน มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากระบบ Inverter แล้ว คุณอดิศักดิ์ ยังนำเสนอว่า AquaEdge รุ่นนี้ ถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบ Part Load คือ ไม่ทำงาน 100% ตลอดเวลา โดยตัวระบบเครื่องปรับอากาศนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความแรงของเครื่องได้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้พลังงานให้คุ้มค่า ไม่เกิดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงขนาดเครื่อง (Footprint) ที่ถูกออกแบบมาให้เล็กลงมาก เพื่อประหยัดพื้นที่ของลูกค้า
“เรียกว่า ลูกค้าจะได้ทั้งประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น ใช้ไฟลดลง แถมยังประหยัดพื้นที่ได้อีกต่างหาก เพราะนวัตกรรมใหม่ในการวางเลย์เอาท์เครื่อง เราปรับโครงสร้าง และใช้วัตถุดิบใหม่ที่ลดขนาดลง ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เช่น แทนที่จะใช้เหล็กแบบนี้ก็เปลี่ยนไปใช้เหล็กอีกแบบที่ทนขึ้นเบาลง และเล็กลง สินค้าเราก็ดีขึ้น”
ยิ่งไปกว่านั้นมีอีกนวัตกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ Chiller Plant Management System คุณอดิศักดิ์เริ่มอธิบายให้เห็นภาพว่า ใน Chiller Plant ของเครื่องทำความเย็น ประกอบด้วยตัวทำความเย็น ปั๊มน้ำ และตัวระบายความร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้พลังงานมหาศาล กินไฟมาก แต่ระบบ Chiller Plant Management System จะช่วยคำนวณความเย็นที่เหมาะสมเร่งและหรี่ได้อัตโนมัติ รวมถึงช่วยคำนวณปริมาณไฟที่เหมาะสมให้ด้วย
“อย่างบางวันฝนตก อากาศก็เย็นลง ไม่ต้องเปิดชิลเลอร์แรงเท่าเวลาปกติ ระบบนี้ก็จะช่วยหรี่ลงอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้ เราไม่ทำแบบ Fully Automated เพราะผู้ใช้ของเรา ไม่ชอบผลิตภัณฑ์หรือระบบที่เขาเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้ แคเรียร์ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ให้เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ” คุณอดิศักดิ์ยกตัวอย่าง
ดูเหมือนคุณอดิศักดิ์และแคเรียร์ (ประเทศไทย) ต่างคือภาพสะท้อนของกันและกัน คือ ไม่ใช่เพียงรักษาคุณภาพเท่านั้น ทว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน ซึ่งหากไม่เรียนรู้และก้าวตามให้ทัน เราอาจล้าหลังและเสียที่นั่งไปโดยไม่รู้ตัว…
EXECUTIVE SUMMARY
Mr. Adisak Rammanee, Managing Director of Carrier (Thailand) Co., Ltd. has been in air-conditioning industry for over 30 years both domestically and internationally. He has had numerous work experiences in financial management, production, and marketing, while he also had insightful expertise in air-conditioner. With true passion and love in career he loves, Mr. Adisak has never stopped learning as well as always improved himself all the times until he became one of the most successful person in career and life living.