เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในสาขาเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 36.5 รองจากภาคขนส่ง และยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของประเทศไทย จากความสำคัญดังกล่าว กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมที่จะบูรณาการในการร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับกรอบความร่วมมือเพื่อบูรณาการการดำเนินงานดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ
2. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
3. ด้านระบบฐานข้อมูล
4. ด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม และ
5. ด้านพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ
ทั้งนี้ คาดว่าผลที่เกิดขึ้นจากการ MOU ในครั้งนี้รวมแล้วทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE) และการใช้พลังงานทดแทน (RE) คิดเป็น 1,264 kTOE (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 13,727 ล้านบาท/ปี ในด้านของการประหยัดพลังงาน 1,247 kTOE ต่อปี เทียบเท่าการประหยัดงบประมาณ13,542 ล้านบาท/ปี โดยมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อไอน้ำในโรงงานขนาดกลางและย่อม (EE-SMEs) 10 kTOE ต่อปี มาตรการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านหม้อไอน้ำและพัฒนาหม้อไอน้ำสู่ Smart Boiler ทั้งหมด 129 kTOE ต่อปี ปรับปรุง Heat Rate โรงไฟฟ้าชีวมวล 272 kTOE ต่อปี การจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code) 836 kTOE ต่อปี ในขณะที่ด้านพลังงานทดแทน จากการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นชีวมวล สามารถลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ 17 kTOE ต่อปี
|
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ได้มีการร่วมมือกันระหว่าง พพ. และ กรอ. ในการดำเนินโครงการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานในระบบไอน้ำสำหรับโรงงานควบคุม และในอนาคตจะมีการร่วมมือกันในการดำเนินงานอีกหลายกิจกรรม เช่น การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) การเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำโดยวิศวกรด้านหม้อน้ำหรือวิศวกรพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล การยกระดับประสิทธิภาพพลังงานหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (Boiler Efficiency for SMEs) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม และการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Energy Code)
ทั้งนี้ กิจกรรมความร่วมมือระหว่าง พพ. และ กรอ. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป โดยในปีนี้ กรอ. ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน 10 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการนำร่องการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีโรงงานเข้าร่วมโครงการ 100 ราย และในปี 2561 กรอ. เตรียมของบประมาณจากกองทุนฯ อีก 100 ล้านบาท เพื่อขยายโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการพัฒนาบุคลากร วิศวกรให้มีความรู้ความสามารถด้านการอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ สำหรับโครงการนำร่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และการเสริมความปลอดภัย โดยเบื้องต้นจะมุ่งเน้นโรงงานที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมต้นน้ำ โรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น
EXECUTIVE SUMMARY
Department of Alternative Energy Development and Efficiency signed MOU with Department of Industrial Plant to hurriedly promote energy conservation and renewable energy use for environment and safety in industrial sector, upgrade the efficiency to use energy in industrial plants and SME, as well as pull out energy conservation fund to jointly propel the plan in order to gain even more concrete outcome.