พระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเป็นการเพิ่มเครื่องมือชักจูงการลงทุนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง ในการดึงให้กิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญมาลงทุน มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือการให้บริการในประเทศมาก่อน หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมทั้งกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาและเจรจากับผู้ประกอบกิจการเพื่อให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามกรอบแนวทางในการสรรหาและเจรจาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิและประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ซึ่งการอนุมัติให้สิทธิและประโยชน์ ดังกล่าวให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย และอาจกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมแต่ละรายได้รับสิทธิและประโยชน์แตกต่างกันได้ โดยให้พิจารณาจากความจำเป็น ความคุ้มค่า และประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น และกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้
สำหรับเงินปันผลจากกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น โดยคณะกรรมการนโยบายอาจพิจารณาให้เงินสนับสนุนจากกองทุนแก่ผู้ได้รับการส่งเสริม เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ได้ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาให้เงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ภายใต้ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังได้กำหนดให้มีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนและดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยเงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่มีภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี 2) เงินสนับสนุน จากกองทุนขนาด 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3) สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน โดยไม่รวมสิทธิประโยชน์ด้านยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ การอนุญาตให้นำผู้เชี่ยวชาญช่างฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศพร้อมการให้บริการขอวีซ่าและWork Permit เป็นต้น ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเงินดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ รวมถึงรายละเอียดแต่ละโครงการอย่างเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่ากับเงินที่สนับสนุนไป โดยมีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย และประเทศไทยเป็นหลัก
ทั้งนี้ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของประเทศได้เป็นอย่างดี
EXECUTIVE SUMMARY
The act to improve country’s challenge capability for targeted industries, 2017 has been assigned to create the committee for this act in order to improve the challenge capability. The committee must enlist the strategic plan to improve targeted industries and form subcommittee to seek and negotiate with entrepreneur to invest in targeted industries along with the way that the committee assigned.
For the purpose of the act, it assigned that the recipient could be abstain for income tax which got from the net profit by targeted industries business as settied period within 15 years. The act to improve country’s challenge capability for targeted industry also set the fund to support challenge capability. The privilege for this act could separate into 3 groups, as follow, 1. income tax’s exception for business within 15 years, 2. 10 billion baht supporting fund to support the investment for research and 3. development in technology and innovation or develop the expert for targeted industries and the other privilege as the act for encourage the investment regulation that exclude the
privilege of lower income tax for business.