Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

Electric Welding ความรู้สู่ปฏิบัติการ งานเชื่อมไฟฟ้า

สี่บทความแล้วนะครับที่เราคุยกันเกี่ยวกับงานเชื่อมโลหะ โดยเริ่มจากประวัติงานเชื่อม งานเชื่อมแก๊ส ลวดเชื่อมไฟฟ้า และเครื่องเชื่อมไฟฟ้า สำหรับบทความนี้ เราจะคุยกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในงานเชื่อมไฟฟ้า ซึ่งอย่างไรเสียผู้ที่สนใจจะเชื่อมเป็นก็จะต้องฝึกปฏิบัติการ อ่านอย่างเดียวเชื่อมไม่เป็นแน่ ช่างเชื่อมต้องฝึกปฏิบัติมาก และรู้จักวิเคราะห์ผลงานที่ได้จากฝีมือตนเอง พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขให้ได้งานฝีมือที่ดียิ่งขึ้นไป จึงจะเป็นช่างเชื่อมที่ดีได้

Electric welding ความรู้สู่ปฏิบัติการ งานเชื่อมไฟฟ้า

ผู้เขียนเป็นช่างเชื่อมเก่า โดยจบช่างท่อและประสาน รุ่น 2 จากวิทยาลัยเทคนิค ไทย-เยอรมัน จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี สมัยนั้นเราฝึกปฏิบัติการกันสัปดาห์ละ 3-4 วัน ไม่ขาดแคลนทั้งเครื่องจักรและวัสดุฝึก เพราะมีนักศึกษาน้อย และยังอยู่ในช่วงแรกของการสนับสนุนจากเยอรมนี มีอาจารย์ชาวเยอรมันคุมการฝึกเข้มงวดอยู่

เมื่อไปฝึกงาน ก่อนเข้าศึกษาต่อในเยอรมนีต้องการมีพาสปอร์ตงานเชื่อม ดังนั้น ตอนเย็นจึงไปเข้าคอร์สเชื่อม แม้จะเชื่อมเป็นแล้ว ก็ยังต้องฝึกต่ออีก ทั้งเชื่อมแก๊สและไฟฟ้า ร่วม 500 ชั่วโมง จึงสอบผ่าน และก็ได้พาสปอร์ตนี้เองช่วยให้หางานทำได้ในยามขาดเงินระหว่างการศึกษา พาสปอร์ตงานเชื่อม ต้องต่ออายุทุกปีด้วยการไปสอบปฏิบัติ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ทำ เพราะเมื่อเรียนสูงมากขึ้นแล้ว ชีวิตรับหน้าที่อื่นมากกว่า แต่ยามจำเป็นก็ยังเชื่อมเองได้ แม้จะไม่ดีเท่าเก่า แต่ไม่เลวกว่าช่างหลายๆ คน ที่รับจ้างอยู่เป็นแน่

โต๊ะฝึกงานเชื่อมไฟฟ้าพร้อมระบบดูดควัน
ตัวอย่างโต๊ะฝึกงานเชื่อมไฟฟ้าพร้อมระบบดูดควัน

ดังนั้น จึงอยากฝากให้สถานศึกษาทั้งหลายเตรียมสถานที่ฝึก อุปกรณ์ และวัสดุให้พร้อมสำหรับการฝึก ยิ่งสังคมมีการพัฒนาแข่งขัน เพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ยิ่งต้องพัฒนาฝีมือให้ดีมีแต่หัวไม่มีมือ แข่งอย่างไรก็แพ้ เพราะทุกสังคมย่อมต้องมีมือมากกว่า จะเตรียมอย่างไร จะฝึกอย่างไร เรามาคุยกันครับ…

สถานที่ฝึกงานเชื่อมไฟฟ้า

ในการปฏิบัติงานจริงของช่างเชื่อมนั้น เลือกสถานที่ไม่ได้ อาจต้องปีน ต้องมุดต้องนอนเชื่อม และบางครั้งอาจต้องดัดลวดเชื่อมแล้วใช้กระจกช่วยส่องให้มองเห็นแนวเชื่อม แต่ในการฝึก ต้องเริ่มจากท่าง่ายๆ ตามมาตรฐานก่อนเมื่อชำนาญแล้วจึงพลิกแพลงได้

สถานที่ฝึกงานจะต้องไม่เปียกชื้น ห้องเชื่อมต้องมีแสงสว่างพอเพียง และมีอากาศถ่ายเทได้ดี ต้องมีการกั้นห้องเชื่อมแยกจากกัน ผนังกั้นห้องควรใช้สีด้านทึบ เพื่อลดการสะท้อนแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รังสีจากไฟอาร์ก สถานที่ฝึกที่ดีจะมีระบบดูดควันพิษที่เกิดจากการเชื่อมออก เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อผู้เชื่อม ดังรูปที่ 1 เป็นรูปแบบหนึ่งของโต๊ะฝึกงานเชื่อมไฟฟ้า

อุปกรณ์สำหรับงานเชื่อมไฟฟ้า

  1. หน้ากากเชื่อม ซึ่งมีช่องมองใส่กระจกพิเศษป้องกันแสง อาทิ กระจก Athermal หรือ Sinesin สีดำประกบด้วยกระจกใสธรรมดา เพื่อป้องกันความเสียหายจากลูกไฟกระเด็นใส่ หน้ากากอาจเป็นแบบมือถือ หรือสวมศีรษะก็ได้ ปัจจุบันมีหน้ากากแบบที่ใช้กระจกปรับแสงอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวก ผู้ใช้ไม่ต้องคอยระวัง คอยปิด-เปิดหน้ากาก แต่ราคาค่อนข้างสูง
  2. ถุงมือหนังแบบยาว เพื่อป้องกันมือและแขน
  3. แผ่นหนังป้องกันหน้าอก ลักษณะคล้ายผ้ากันเปื้อน ใช้ป้องกันอันตรายจากน้ำเหล็ก ลูกไฟ และของร้อนต่างๆ ระหว่างปฏิบัติงาน
  4. ค้อนเคาะสแลคออกจากรอยเชื่อม เพื่อทำความสะอาดรอยเชื่อม ปกติจะมีปลายข้างหนึ่งแหลม อีกข้างหนึ่งแบนเหมือนสกัด
  5. แปรงลวดเหล็ก เพื่อขัดทำความสะอาดรอยเชื่อม
  6. มือจับลวดเชื่อมพร้อมสายเชื่อม
  7. สายดินพร้อมปากคีบหรือแคล้ม เพื่อจับยึดกับชิ้นงานหรือโต๊ะเหล็ก
อุปกรณ์สำหรับงานเชื่อมไฟฟ้า

การป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน

ช่างเชื่อมไฟฟ้า ต้องไม่ประมาทกับไฟฟ้า การไหลของกระแสไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเมื่อวงจรไฟฟ้าถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน ความแรงของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านนั้น ขึ้นอยู่กับความต้านทานของตัวนำ หากความต้านทานต่ำ กระแสจะสูง ตราบใดที่ประกายไฟอาร์กติดอยู่แสดงว่าวงจรไฟฟ้าถูกต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน อันตรายจะไม่เกิดแก่ผู้เชื่อม แต่เมื่อประกายไฟอาร์กหยุดลงและเครื่องเชื่อมยังคงทำงานอยู่ แม้ว่าเครื่องเชื่อมไฟฟ้ากระแสสลับจะมีแรงดันประมาณ 70 V หรือเครื่องเชื่อมไฟฟ้ากระแสตรง จะมีแรงดันไฟประมาณ 100 V (อาจสูงกว่า) การเชื่อมด้วยหม้อแปลงไฟกระแสสลับ ซึ่งขั้วไฟเปลี่ยนแปลงตลอด เวลานั้นอันตรายมากกว่ากระแสตรง อาจถึงแก่ชีวิตเมื่อมีการสัมผัสกับลวดเชื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากร่างกายของผู้สัมผัสเปียกแฉะด้วยเหงื่อหรือน้ำ และยืนอยู่บนพื้นซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ไปเชื่อมต่อกับขั้วสายดินของเครื่อง ซึ่งทำให้เกิดการต่อเชื่อมวงจรเข้าด้วยกัน เราไม่ควรให้น้ำหนักกับอันตรายไปอยู่ที่แรงดันไฟฟ้าต่ำอย่างเดียว แต่ควรตระหนักเรื่องกระแสไฟฟ้าสูงด้วย แรงดันไฟฟ้าเพียง 70 V อาจส่งผลถึงชีวิตได้ ถ้าร่างกายเปียกชื้น เพราะจะมีความต้านทานต่ำ

มาตรการป้องกันง่ายๆ คือ หาแผ่นยางหรือแผ่นไม้มารองรับ เพื่อตัดการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานควรสวมถุงมือที่แห้งเป็นประจำ เพราะมือที่เปียกชื้น เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่ดีกว่า ควรใช้สายไฟที่ฉนวนหุ้มไม่เสียหายชำรุด ไม่เฉพาะกับสายที่ต่อจากไฟบ้านเข้าเครื่อง แต่สายเชื่อมก็ต้องดีด้วย และควรหลีกเลี่ยงงานเชื่อมกลางฝน

อันตรายจากไฟอาร์ก

นอกจากแสงสว่างจ้าจากไฟอาร์กที่เรามองเห็นแล้ว ยังมีสิ่งที่มาด้วยแต่เรามองไม่เห็น คือ แสงอุลตร้าไวโอเล็ตและแสงอินฟาเรด ซึ่งทำลายดวงตา และทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานเชื่อมไฟฟ้า จึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน กระจกดำธรรมดา หรือแม้แต่แว่นสำหรับเชื่อมแก๊ส ไม่อาจใช้ป้องกันรังสีจากไฟอาร์กได้ รังสีอุลตร้าไวโอเล็ตที่มากับแสงอาร์กของไฟเชื่อม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองในดวงตา ช่างเชื่อมในช่วงฝึกหัด จะยังไม่คล่องกับจังหวะการปิด-เปิดหน้ากากเชื่อมอาจทำให้พลาดมองเข้าไปในไฟอาร์กบ่อยครั้ง จนต้องไปนอนปวดแสบปวดร้อนดวงตาเหมือนทรายอยู่ในตา ต้องรักษาอยู่หลายวัน ประมาทมากอาจทำให้เสียสายตาถึงตาบอดได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่สถานศึกษาต้องมีห้องเชื่อมและสถานประกอบการควรมีฉากบังแสง ไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น และเด็กๆ ที่สอดรู้สอดเห็นมองเข้าไปยังไฟอาร์ก

อันตรายจากไอก๊าซและควันจากการเชื่อม

แม้จะดูเหมือนว่าไฟอาร์กไม่ใช่การเผาไหม้โดยตรง แต่ขณะเชื่อมไฟฟ้าจะเกิดการสูญเสียออกซิเจนในอากาศจำนวนมาก นอกจากนั้น การหลอมละลายของลวดเชื่อมกับการเผาไหม้ของฟลักซ์หุ้มลวดเชื่อมก่อให้เกิดควันและอากาศเสียที่ต้องการระบายอากาศที่ดี หรือมีระบบดูดควันพิษจากบริเวณรอบๆ จุดอาร์กออกไป

อันตรายจากความร้อน

การเชื่อม เป็นการหลอมโลหะเข้าด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงความร้อนที่เกิดขึ้น น้ำโลหะและสแลคอาจจะกระเด็นใส่ผู้เชื่อมหรือสิ่งของอื่นในบริเวณนั้นจนเกิดลุกไหม้ขึ้นได้ บาดแผลจากไฟไหม้จะรักษาให้หายได้ยากกว่าบาดแผลจากอุบัติเหตุอื่น ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยในเรื่องของความปลอดภัยและอุปกรณ์ป้องกันตัว โลหะอาจร้อนจัด แม้ไม่เปล่งแสงให้เห็นการจะหยิบจับต้องแน่ใจ ใช้คีมคีบจะดีที่สุด ในรัศมีประมาณ 10 เมตร จากจุดเชื่อมจะต้องไม่ให้มีเชื้อเพลิงอยู่ในบริเวณนั้น ทรายแห้งอาจเป็นวัสดุดับไฟที่ดีในยามฉุกเฉินที่ควรเตรียมเอาไว

อุบัติภัยถึงชีวิต

ไฟฟ้ามีหรือไม่ เรามองไม่เห็น ช่างเชื่อมไม่ควรประมาท ที่เยอรมันจะเตือนกันอยู่เสมอว่าไม่ให้เชื่อมด้วยมือเปล่า เราจำเป็นต้องใส่ถุงมือป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้

เรื่องที่อาจารย์เล่าเตือนนักเรียนฝึกงานประจำ คือ เรื่องช่างเชื่อมที่ไม่ชอบสวมถุงมือป้องกันเวลาเชื่อมไฟฟ้า ขณะหนีบลวดเชื่อมเขาถูกไฟช็อตจนต้องปล่อยลวดเชื่อมทิ้ง แทนที่จะใส่ถุงมือ เขาหาลังไม้รองพื้นเพื่อเชื่อมต่อ แล้วขอให้นักเรียนฝึกงานส่งหน้ากากเชื่อมให้ ซึ่งทำให้ร่างของคนทั้งสองสัมผัสกัน ไฟฟ้าไหลครบวงจร นักเรียนฝึกงานกระโดดเพราะถูกไฟช็อต ขณะที่ช่างเชื่อมตกลงจากลังไม้มาเสียชีวิตอยู่ข้างเครื่อง เพราะโดนไฟฟ้าช็อต ผลการพิสูจน์ทราบว่า แม้แรงดันไฟฟ้าขณะเปิดเครื่องแต่ยังไม่ได้ใช้งานจะเพียงแค่ 65 V ก็ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ดังนั้นจึงต้องเตือนกันอีกครั้งว่า “อย่าเชื่อมไฟฟ้าโดยปราศจากถุงมือป้องกันนตราย”

อันตรายจากงานเชื่อมไฟฟ้า
อันตรายจากไฟฟ้าช็อตขณะปฏิบัติงานเชื่อมโดยไม่สวมถุงมือเชื่อม

EXECUTIVESUMMARY

The method to do welding for those who are interesting is practicing with the real operation so many tines. Read-only behavior or be a Mr. Theory wouldn’t help them to provide a real know how for sure. Thus, welder must be trained so hard and also know the way to analyze their work output and improve the skill as usual to be a good welder. So, every institute should prepare the workshop, tools, equipment and material for training. While the society has more competition, the skill must be improved. People can know and imagine everything but without the skill that turn imagination and knowledge into real object, it’s nothing.


บทความโดย:
สุริยันต์ เทียมเพ็ชร์

Source:

  • Hons I.Fahrenwldt : “Praxiswissen Schweisstechnik”
  • 4.Aufl.2011 Viewey & Teubner Verlg, Germany
  • www.ewm.de : “Die EWM E-Hand-Fibel”
  • Schulungsunterlge Fronius Technology Center : “Elektroden – Schweissen”
  • มอก. 49 – 2556 : “ลวดเชื่อมไฟฟ้ามีสารพอกหุ้มใช้เชื่อมเหล็กกล้าไม่เจือและเกรนละเอียดด้วยการเชื่อมอ๊าร์คโลหะด้วยมือ”
  • Prof. Dr.-ing.Knuth – Michael Honkel Universitase Rostock : “Vorlesung
  • Schweissmetallurgie” 2015
  • www.voestlpine.com/welding : “Schweisspositionen nach EN ISO 6947W”
  • www.wikipedia.de : “Schweissstromquelle”/ “Gleichrichter” / “Leerlufspannung”
  • www.semikron.com/de/applikationen/…
  • “Schueissstrom fuer Lichtbogenschweissen”
  • Karl-Heinz Rellensmann: “Fachgerechtes Lichbogenschweissen” Verl.
    Handwerk und Technik 1963
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924