Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

หญ้ายักษ์เนเปียร์สู่พลังงานยิ่งใหญ่ ฝันที่ยังไม่เป็นจริงของคนไทย

ข่าวเมื่อปลายปี 2555 “หญ้าเนเปียร์” ที่ถูกพัฒนาจากหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้กลายเป็น Feedstock เกรดพรีเมี่ยมของพลังงาน หมักเป็นก๊าซใช้แทน LPG ก็คุ้ม ผลิตไฟฟ้าก็ได้ อนาคตอาจจะถูกกว่าไฟฟ้าจากเขื่อนและถ่านหิน เมื่อเปรียบเทียบการใช้พื้นที่ต่อประโยชน์ที่ได้รับถือว่าดีกว่าพืชอื่นๆ รวมทั้งข้าวที่ทั้งคนจนคนรวยกินกันอยู่นี้ ก็สู้เจ้าหญ้าเนเปียร์ยักษ์ไม่ได้ ดูเหมือนว่ารถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ของ รมว.พลังงานจะหยุดไม่ได้เสียแล้ว

หญ้ายักษ์เนเปียร์สู่พลังงานยิ่งใหญ่ ฝันที่ยังไม่เป็นจริงของคนไทย

แต่หลังจากการประชุม กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ออกมา ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายหายใจได้ทั่วท้อง รถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ต้องโยนหินถามทางก่อนค่อยเดินหน้าเต็มตัว มิฉะนั้น อาจจะตกรางและพาเอานโยบายประชานิยมกลายเป็นประชาไม่นิยมไปก็เป็นได้

เพื่อตอบคำถามสมาชิกผู้ติดตามอ่านนิตยสาร Modern Manufacturing ไปพร้อม ๆ กัน ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปตามหาความจริงที่กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาจนได้ข้อมูลดังนี้

ความเป็นมาของหญ้าเนเปียร์

หญ้าเนเปียร์ (NAPIA) รู้จักกันหลาย ๆ ชื่อ เช่น หญ้ายักษ์ (Giant King Grass) และหญ้าเลี้ยงช้าง เนื่องจากมีการปรับปรุงพันธุ์จึงทำให้มีลักษณะเฉพาะตัวที่คล้ายกัน เป็นพืชตระกูลเดียวกับอ้อยที่เราใช้ผลิตน้ำตาลนี่เองแต่เป็นชนิดไม่ผลิตน้ำตาล จึงโตเร็วกว่า ชอบพื้นที่แบบ “นาดอน ” มีความเหมือนกับหญ้าอีกหลาย ๆ ชื่อ ที่มีโฆษณาขายต้นพันธุ์ในเว็บไซต์มานานแล้ว จึงขอเรียกชื่อแบบเข้าใจง่าย ๆ ร่วมกันว่า “หญ้าเนเปียร์ยักษ์” ก็แล้วกัน ซึ่งก็มีหลายพันธุ์ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์ปากช่อง 1 ซึ่งหลายปีก่อน ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมาได้ร่วมกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผสมพันธุ์หญ้าเนเปียร์จากแอฟริกาซึ่งเติบโตเร็วกับหญ้าท้องถิ่นพันธุ์ไข่มุกซึ่งหาอาหารเก่ง จนได้หญ้าเลี้ยงสัตว์ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่เจริญเติบโตเร็ว ผลผลิตสูง ตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยได้ดี และตั้งชื่อว่า “หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1

เท่าที่สัมผัสดูพบว่าพันธุ์ปากช่อง 1 มีความเหมาะสมในการใช้เป็นอาหารสัตว์มาก เนื่องจากใบไม่คมเหมือนพันธุ์อื่น ๆ ในตระกูลเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมายังมีโครงการพัฒนาพันธุ์ “ปากช่อง 1” กับทางญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็น Feedstock ผลิตพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ประมาณการผลผลิตจากหลายแหล่งข้อมูล

ในเชิงพลังงานทดแทนแล้ว ภาคเอกชนทั้งบริษัทเล็กหรือใหญ่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยบางแห่งได้มีการทดลองปลูกและทดสอบความคุ้มค่าบ้างแล้ว เช่น มีข้อมูลว่าถ้านำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ อายุการตัดน่าจะอยู่ที่ 45-60 วัน และควรจะให้ปุ๋ยและน้ำให้เพียงพอ เพื่อหญ้าจะมีความหวานและหมักก๊าซได้มาก

แต่ถ้าจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าโดยทำให้แห้งก่อน อายุการตัดอาจต้องรอถึง 4 เดือน เนื่องจากเมื่อหญ้ามีอายุมากขึ้นความชื้นของต้นจะลดลง และให้ค่าความร้อนสูงขึ้น เป็นต้น

บรรดาหญ้ายักษ์ทั้งหลายมีอายุหลายปี ทรงต้นเป็นกอตั้งตรง สูงประมาณ 2-4 เมตร ชอบปุ๋ยชอบน้ำเหมือนพืชทั่ว ๆ ไป สบายใจไปได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ต้องกังวลว่าหญ้าเหล่านี้จะกลายพันธุ์และขยายตัวไปโตตามที่ต่าง ๆ จนยากแก่การควบคุมเหมือนพืชบางชนิดในอดีต เนื่องจากหญ้าเหล่านี้ไม่สามารถขยายพันธุ์ทางดอกได้ แต่มีดอกบ้างเล็กน้อยและไม่สามารถโตได้ตามธรรมชาติ ต้องตั้งใจปลูกและตั้งใจดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตดี

ดังนั้น วิธีการขยายพันธุ์จึงต้องใช้วิธีปักชำเพียงวิธีเดียว หากต้องการรายละเอียดการปลูกเพิ่มเติมสามารถเข้าเว็บไซต์ http://www.dld.go.th/ncna_nak/ หรือติดต่อ ดร.ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ (E-mail : [email protected]) หรือหากจะลองศึกษาเปรียบเทียบจากตารางเชิญชวนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่งก็ได้ ทางที่ดีไปซื้อต้นพันธุ์ปากช่อง 1 มาลองปลูกเล่น ๆ ที่หัวไร่ปลายนาไปก่อน จนกว่าจะมีตลาดที่แน่นอนและยั่งยืน

เปรียบเทียบผลผลิตและตอบแทน กำไรของหญ้ายักษ์เนเปียร์

ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีบริษัทหนึ่งได้พยายามส่งเสริมการปลูกหญ้ายักษ์ (Giant King Grass) ซึ่งเหมือนกับเนเปียร์เกือบ 100% ในเขตอบอุ่นใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกับประเทศในอาเซียน เพื่อใช้ Giant King Grass เป็นพลังงานทดแทน แต่เนื่องจากหญ้ายักษ์ผลผลิตสูงแต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็นเหมือนข้าวโพดและหญ้ามิสแคนทัส (ตระกูลเดียวกับหญ้ายักษ์) จึงทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่อปีน้อยจนอาจไม่ถึง 20 ตัน เนื่องจากหญ้ายักษ์ชอบพื้นที่อบอุ่น ข้อได้เปรียบของตระกูลหญ้ายักษ์ทั้งหลาย คือ สามารถปลูกเป็นร่องเป็นแนว สามารถใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวได้สะดวก

มุมมองเชิงสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนของ “ปากช่อง 1”

คุณภาพของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1
คุณภาพของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 – กลุ่มวิเคราะห์อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ 2554

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 น่าจะได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง แข่งกับมิสแคนทัสของทางสหรัฐอเมริกา เนื่องจากแข็งแรง โตเร็ว ใช้ปุ๋ยน้อยแต่ใช้ประโยชน์ได้มาก หากจะปรับชื่อให้ทันสมัยขึ้นอาจใช้ชื่อว่า “มิสปากช่อง 1” ก็ได้ โดยภาพรวมของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 แล้วสามารถใช้เป็นวัตถุดิบประเภทเชื้อเพลิง (Feedstock) เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า/ความร้อน หรืออัดเป็นแท่งเล็ก (Pallets) อัดเป็นก้อน (Briquettes) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือแทนถ่านหินใน Boiler ผลิตไฟฟ้าก็ได้ กระทรวงพลังงานกำลังส่งเสริมอย่างตั้งอกตั้งใจก็เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ดังนั้น หากมีการปลูกที่แน่นอนและต้นทุนไม่ผันแปรมาก ในอนาคต “หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1” สามารถใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้

ประโยชน์ของหญ้าเนเปียร์

  • ใช้เซลลูโลสเหลว เพื่อผลิตเอทานอลและบิวทานอล (Butanol)
  • ผ่านกระบวนการ Pyrolysis เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ
  • เป็นสารเร่งปฏิกิริยา (Catalytic) ในการผลิตไบโอดีเซล
  • ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastic) และชีวเคมี
  • ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Gasification
  • อัดแท่งใช้แทนถ่านหินเพื่อลดมลพิษในอากาศ
  • ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษและสิ่งทอ

นอกจากนี้ “ปากช่อง 1” ยังนำไปทดลองปลูกในบริเวณที่มีน้ำทิ้งจากโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากอุตสาหกรรมแป้งมัน ปรากฎว่าได้ผลดีมาก แบบ win-win นั่นก็คือ ลดกลิ่นน้ำทิ้งลง และ “ปากช่อง 1” สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบไปปลูกหญ้าเนเปียร์ เพราะต้องรอกระแสเปลี่ยนเป็นเนื้อแท้ก่อน แต่ถ้าเป็นเงิน “เย็น” ก็ทำไปได้เลย ถ้าท่านมีที่ดินที่เหมาะสมหรือเครือข่ายผู้ปลูก อย่าลืมว่าโรงไฟฟ้า 1 MW ต้องใช้พื้นที่ปลูก 800-1,000 ไร่ และจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวไร่เปลี่ยนใจไปปลูกพืชอื่นก่อนโรงไฟฟ้าคืนทุน?

“ปากช่อง 1” กำเนิดเติบโตมาเพื่อเป็นพืชอาหาร

จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ประเทศไทยมีการปลูกหญ้ายักษ์เนเปียร์เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แล้วประมาณ 200,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่ใช้เครื่องย่อยบดให้เป็นชิ้นละเอียดผสมกับอาหารสัตว์ที่นำเข้า สามารถช่วยทดแทนการนำเข้าได้ประมาณ 50% นอกจากนี้ ยังมีการผลิตแบบแห้งด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจมาก… ถ้าอยากรู้เชิญที่ปากช่อง

ท่านทราบหรือไม่ว่า ราคาอาหารสัตว์จาก “ปากช่อง 1” ราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท หลังย่อยเป็นอาหารแล้ว ซึ่งคาดว่าถ้าปลูกจำนวนมากเพื่อใช้ผลิตพลังงาน ราคาต่อตันอาจจะลดลงเหลือตันละ 300-500 บาท

ท่านทราบหรือไม่ว่า “ปากช่อง 1” ไม่ได้เป็นเพียงอาหารชั้นดีของวัวพันธุ์ดีเท่านั้น หน่ออ่อน ๆ ยังเป็นอาหาร ไฟเบอร์สูงสำหรับต้ม “แกงเปรอะ” ของชาวบ้านอีกด้วย (แกงเปรอะ คือ “จับฉ่าย” แบบชาวจีน เป็นการนำผักสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดมาต้มเช่น ใบหญ้านาง) หากมีการวิจัยพัฒนาต่อ “ปากช่อง 1” อาจจะกลายเป็นอาหารจานโปรดบำรุงสุขภาพในภัตตาคารสุดหรูก็เป็นไปได้ และนี่คือพืชราชินีคนอีสาน

หากจะปล่อยให้หญ้าเนเปียร์เติบโตไปตามปกติ “ปากช่อง 1” ก็จะเป็นพืชอาหารสัตว์ชั้นดีในอาเซียน แต่ถ้าจะนำมาใช้เป็นพลังงานแล้วก็มีข้อควรคำนึงมากมายรวมทั้งการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนน้อยของเมืองไทยให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อความยั่งยืน ดังนี้

  • ปุ๋ยหมัก (Composting) จากการหมักต้องคืนกลับบำรุงดินให้หญ้าเนเปียร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยและรักษาสภาพดินให้เป็นธรรมชาติ
  • พลังงานทดแทนจากการปลูกพืช ไม่มีทางถูกกว่าพลังงานจากฟอสซิลใน 10 ปีนี้ ยังจำเป็นต้องให้รัฐอุดหนุนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
  • FIT (Feed-in Tariff) 4.50 บาท 20 ปี สำหรับ Biogas จากหญ้าเนเปียร์ เป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ค่าไฟฟ้าปกติช่วงพีค (Peak) ก็ประมาณ 4.30 บาท อีก 1-2 ปีข้างหน้าราคา FIT ก็ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าปกติในช่วงกลางวัน จะทำให้โครงการต่าง ๆ เลิกไปเองและเกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ
  • Adder จึงเหมาะกับโครงการจาก Biomass, Biogas และพลังงานขยะ เนื่องจากมีเชื้อเพลิง (Feedstock) เป็นต้นทุนผันแปร ส่วน FIT จะเหมาะกับ Solar Cell และ Wind มากกว่า เนื่องจากไม่มีราคา Feedstock มาให้กวนใจ

กระทรวงพลังงานทราบจะหรือไม่ว่า ภาพสวยหรูที่ปรากฏตามแผน AEDP ว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้มากมายนั้น แท้จริงแล้วมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายไม่ถึง 50% และยังมีโครงการที่ต้องเลิกล้มอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ต้องใช้ Feedstock จึงอยากให้นักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดส่วนเพิ่มการขายไฟฟ้า มีโอกาสมาลงทุนดูเองบ้าง อาจทำให้ AEDP ของเราถึงเป้าหมายอย่างยั่งยืน


Source:

คุณพิชัย ถิ่นสันติสุช
ประธานกลุ่มบริษัท ราชาอีควิปเมนท์ จำกัด
ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924