Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

จิรพร ศุภจำปิยา หญิงแกร่งแห่ง DECC ประสบควมสำเร็จด้วยชีวิตคิดบวก

ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) เป็นหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คอยให้คำปรึกษาภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานและต่อยอดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิต เมื่อปลายปี 2558 คุณจิรพร ศุภจำปิยา ได้มานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ จากตำแหน่งพนักงานสู่ตำแหน่งบริหาร จากฝ่ายมาร์เก็ตติ้งในองค์กรเอกชนสู่ผู้อำนวยการในองค์กรภาครัฐ ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยวิธีคิดเชิงบวกทำให้เรียนรู้และเติบโต ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ จนกลายเป็นความภาคภูมิใจความสุข และความสำเร็จ

จิรพร ศุภจำปิยา หญิงแกร่งแห่ง DECC ประสบควมสำเร็จด้วยชีวิตคิดบวก

DECC คิดเพื่ออุตสาหกรรม

การประกาศเดินหน้าแผนปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ 4.0 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษาที่ต้องปรับตัวกันไม่มากก็น้อย

คุณจิรพร ศุภจำปิยา
คุณจิรพร ศุภจำปิยา ผู้อำนวยการศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบ และวิศวกรรม (DECC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สำหรับ DECC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับปรึกษางานออกแบบและวิศวกรรม มองว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญจะนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในภาคการผลิตที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตแรงงานได้ในระยะยาว เพราะสามารถปรับประยุกต์และออกแบบงานวิศวกรรมในแบบสั่งตัด (Tailor-made) ให้เหมาะสมกับโรงงานหรือสายการผลิตของตัวเองโดยไม่ต้องลงทุนสูงมาก

คุณจิรพร เล่าถึงการทำงานว่า บริการออกแบบและวิศวกรรมของ DECC สามารถแบ่งคร่าวๆ ตามขนาดของอุตสาหกรรมได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ปตท. และโรงไฟฟ้าต่างๆ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนำเข้าจากต่างประเทศ สิ่งที่เขาต้องการจาก DECC คือ การออกแบบเชิงวิศวกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เทคโนโลยีการซ่อมบำรุง และการออกแบบเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานต่างๆ

ด้านผู้ประกอบการขนาดกลาง ส่วนใหญ่เป็นโรงงาน OEM ซึ่งมีปัญหาวิกฤตแรงงาน ต้องการระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เพิ่มเพื่อลดการใช้แรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่น่าสนใจ คือ บางรายเริ่มใช้การออกแบบทางวิศวกรรมสร้างแผนก New Product เป็นของตัวเอง

ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กอย่าง SMEs มีหลากหลายมาก ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องแรงงาน แต่ก็ลงทุนวางระบบ Fully-automation ไม่ไหว จึงต้องการระบบกึ่งอัตโนมัติ หรือ Semi-automation ที่เหมาะกับตัวเอง ต้องการแบบ Tailor-made โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs แปรรูปอาหาร

“สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีก่อนเลย คือ ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง หากคิดจะโต คิดจะเปลี่ยนแปลง คิดจะสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง มันง่ายมาก อาจจะลองตั้งทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ใช้ทรัพยากรที่โรงงานมี คิดอะไรใหม่ๆ ลองทำและทดสอบ ทุกวันนี้ทุกสิ่งเอื้ออำนวยมากๆ รัฐเองก็พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในรูปแบบของการสร้างพื้นที่ ใช้มาตรการทางภาษี ช่วยออกเงินวิจัย โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ที่มีการสร้างเขตวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรมเข้มข้น เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ มามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย

ถ้าอยากพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลง เดินเข้ามาหาเราได้เลย DECC อาจจะทำได้ไม่ครบทุกอย่าง แต่เรามีพาร์ทเนอร์ ทั้งทางวิศวกรรม เช่น MTEC NANOTEC BIOTEC และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น สถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง” คุณจิรพรกล่าว

ความเปลี่ยนแปลงคือความท้าทาย

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเรียน คุณจิรพรจบปริญญาตรีจากคณะเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มทำงานในบริษัทเอกชนที่ขายมัลติมีเดียโปรเจกเตอร์ในตำแหน่งเซลส์ และพัฒนาธุรกิจ ต่อมาย้ายมาอยู่บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงขนาดใหญ่ จากนั้นเริ่มจับงานบริหารในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาด

จากนั้น คุณจิรพร ย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่บริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจำหน่าย รับติดตั้ง และให้บริการเกี่ยวกับระบบ GPS

เรียกว่าอยู่ในองค์กรเอกชนมาร่วม 10 ปี ทั้งตำแหน่งพนักงานสู่ผู้จัดการ จากงานขาย สู่งานการตลาด และงานพัฒนาองค์กร คุณจิรพรไม่หยุดตัวเองเพียงเท่านั้น จึงเริ่มเรียนปริญญาโทในหลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชน มหาบัณฑิตที่นิด้า และที่นี่เองที่คุณจิรพรได้รู้จักคนมากขึ้น ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์การทำงานจากหลากหลายองค์กรทำให้เธอรู้สึกว่า การบริหารงานภาครัฐเป็นความท้าทาย

โอกาสและความท้าทาย

อาจารย์วิโรจน์ ลิ่มตระการ ผู้อำนวยการ DECC ในขณะนั้น บริหารองค์กรในภาพกว้างและดูเรื่องวิศวกรรม ส่วนคุณจิรพรมานั่งตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปช่วยซัพพอร์ทหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

การบริหารคนที่ว่า ก็ไม่ใช่เพียงให้พนักงานมีความสุขกับงานและองค์กร แต่ต้องผลักดันให้พนักงานทำงานได้สำเร็จตามเป้าด้วย

“การทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการ หมายความว่า เราต้องดูแลพนักงานกว่า 30 คนที่อยู่กับเรา ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตความเจริญเติบโตทางหน้าที่การงาน Career Path รวมถึงต้องทำงานให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมด้วย ต้องทำให้พนักงานอยู่ได้ เงินเดือนเราอาจไม่สูงเท่าเอกชน แต่ถ้าแฮปปี้ก็จะอยู่ได้”

‘คิดบวก’ ยาทันใจ แก้ได้ทุกโรค

ที่ผ่านมา ดูเหมือนคุณจิรพรมีโอกาสได้ทำงานหลากหลาย ทำให้ได้พบเจออุปสรรคที่ต้องก้าวผ่านไป เธอยืนยันว่า การ ‘คิดบวก’ สามารถปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง และจะทำให้เราแก้ปัญหาและผ่านอุปสรรคได้

“ทุกงานมันมีปัญหาตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่มีงานไหนง่าย ไม่มีอาชีพไหนไม่มีปัญหา ตั้งแต่เรียนจบมา งานเปลี่ยนไป ตลอดเวลา ไม่ได้คิดว่า เราเก่งเรื่องนี้ เราก็จะทำแต่เรื่องนี้ ถ้ามีทัศนคติเชิงบวก เราจะมองว่ามันไม่ใช่ปัญหา แต่มันคือความท้าทายให้เราผ่านมันไปได้ มันจะช่วยเสริมแรงเรา

บางเรื่องที่บั่นทอนจิตใจต้องบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร ช่างมัน นิ่งๆ ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง” คุณจิรพรเปิดเผยเคล็ดลับ

ไม่ใช่แค่ให้ตัวเองคิดบวกเท่านั้น แต่ยังพยายามแบ่งปันความ ‘คิดบวก’ นี้ เพื่อเสริมแรงทีมงานในองค์กรด้วย

“เรื่องคนต้องดูแลให้เขาแฮปปี้กับการทำงาน และเขาต้องรับผิดชอบในตัวงานของเขาได้ด้วย DECC ไม่ใช่เอกชน ฉะนั้นเป้าหมายการทำงานไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด แต่พวกเราทำงานเพื่อตอบโจทย์ เพื่อสร้างมูลค่า เพื่อช่วยอุตสาหกรรมเป็นรากฐานของเศรษฐกิจชาติ ฉะนั้น คุณจะมีความภาคภูมิใจในตัวคุณเองด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราต้องให้ทัศนคติเชิงบวกให้พนักงาน ต้องเสริมแรงทีมให้ได้ตลอดเวลา” คุณจิรพรเล่าถึงการมองปัญหาด้วยทัศนคติเชิงบวก

นอกจากนี้ คุณจิรพรยังกล่าวอีกว่า โจทย์และเป้าหมายของชีวิตคนเราแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่เหมาะกับที่นี่ หรือที่นี่ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตของเขา ต้องการไปที่อื่นที่ดีกว่า เราก็ยินดีที่เห็นคนอื่นมีความสุข

“คนกับงาน ถ้าเขาไม่แมทช์กับเรา เขาไปได้ดีกับสิ่งอื่นที่ดีกว่าเราก็ยินดีกับเขานะ องค์กรอยู่ได้ด้วยความเป็นทีม ถ้ามีใครที่มองว่า เรือลำนี้ไม่สามารถตอบโจทย์เขาได้ อยู่ที่อื่นแล้วแฮปปี้กว่า เราก็ยินดีกับเขาไป ไม่เป็นไร มาเป็นพาร์ทเนอร์กันเป็นศิษย์อาจารย์กัน เป็นพี่น้องกัน ส่วนใครมีทัศนคติตรงกันทำงานได้ในภาพที่เราเข้าใจตรงกันก็อยู่กันได้” คุณจิรพรกล่าว

เงินไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต ความภูมิใจ และความสุข แม้เปลี่ยนงานบ่อย แต่กลับทำงานที่ DECC ได้นานกว่าที่อื่น เพราะคุณจิรพรมองว่า ที่นี่มีความท้าทายให้ต้องเจอตลอดเวลา ยังสนุกกับงาน และที่สำคัญ คือ อยู่แล้วมีความสุขมาก

“การที่เคยทำงานกับบริษัทเอกชน มุ่งเน้นแต่กำไรสูงสุด คิดแต่ว่าจะต้องปิดการขายให้ได้ สนใจแต่ตัวเอง ตอนเราเป็น Sales ต้องทำยอด พอมาเป็น Manager ในองค์กรเอกชน แม้ความกดดันเรื่องยอดจะลดลง แต่ภาพใหญ่ของการทำงาน ต้องเชื่อมโยงกับกำไรสูงสุดของบริษัทอยู่ดี

พอมาเป็น DECC มันไม่ใช่เลย เรามองหาแต่ว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมขาดอะไร เราจะไปเติมตรงนั้นให้เขาได้อย่างไร มีเทคโนโลยีอะไรมาใหม่ เราจะเสิร์ฟผู้ประกอบการได้อย่างไร อยู่ตรงนี้มีโจทย์หลากหลาย มีคนหลากหลาย

แม้ DECC ต้องหารายได้ ต้องขายงานวิจัยและความรู้ แต่สิ่งที่เราให้ไปมันมากกว่ากำไรที่เป็นตัวเงิน เราพบว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยสูงสุดของตัวเราบางทีการอยู่ในตัวแหน่ง ผอ. ถ้ำไปเทียบกับบริษัทเอกชน อาจจะถือว่าเป็นผู้บริหารระดับกลางๆ เอง แต่มันดีมาก แฮปปี้มาก เรารู้สึกดีมากที่ได้ทำตรงนี้ จึงอยู่ได้นานมีความสุขมาก” คุณจิรพรเล่าด้วยความภูมิใจ

เช่นเดียวกับหลายคนที่พบว่า ที่สุดแล้วเงินไม่ใช่ปัจจัย สูงสุดของชีวิตกรทำงาน ความภาคภูมิใจในตัวเองต่างหาก คือสิ่งที่ทำให้คนมีคุณค่า สำหรับคุณจิรพร DECC เป็นทั้งความท้าทาย ความสุข และความภาคภูมิใจ ที่นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ อุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้คนทำงานอีกด้วย

EXECUTIVE SUMMARY

Ms. Jiraporn Supajumpiya, Director of Design & Engineering Consulting Service Center (DECC) created her successful pathway which started from officer to executive position, marketing in private sector to Director of DECC which is one of National Science and Technology Development Agency (NSTDA) department. DECC provide consulting for industrial sector to create good ground work and improve Thai’s economic, particularly
in manufacturing sector. Every issue have it own hardness, but with positive thinking that could give an opportunity to learn and growth to overcome the obstacle and challenge which become dignity, happiness and successful.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924