พพ.เยี่ยมชมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของประเทศ เจาะเทคโนโลยีพลังงานโรงงาน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 3.2 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการผลิตของโรงงานและทำความเย็น ลดค่าไฟฟ้าได้ 10% ชูเป็นหนึ่งในต้นแบบโรงงานพลังงานสะอาด ร่วมขับเคลื่อนนโยบายโซล่าร์รูฟเสรีตามแผนปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศ พร้อมยกระดับการเป็นสมาร์ท แฟคทอรี่ในอนาคต
นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย ว่า พพ.ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมพร้อมศึกษาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนที่ประสบความสำเร็จ ของ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ณ โรงงานที่ 5 นิคมอุตสาหกรรมบางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยบริษัทได้พัฒนาการนำระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟท็อป เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในโรงงาน ซึ่งบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วหลายโรงงาน ขนาดกำลังการผลิตรวม 6.3 เมกะวัตต์
“นับเป็นต้นแบบของภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ที่สอดรับกับนโยบายพลังงานของประเทศในด้านการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้ไฟฟ้าสัดส่วนที่สูง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการนำพลังงานทดแทนไปใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่จะนำไปสู่การปรับตัวและยกระดับการเป็นสมาร์ท แฟคทอรี่ (Smart Factory) ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานมาปรับใช้ในการผลิตพลังงานสะอาด รวมถึงยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของกระทรวงพลังงานให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2580”นายสุรีย์ กล่าว
โดยการศึกษาและลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ พบว่ามีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ในโรงงานที่ 5 ขนาดกำลังการผลิต 3.2 เมกะวัตต์ จำนวนแผงโซลาร์เซลล์ 18,347 แผ่น บนพื้นที่หลังคากว่า 22,532 ตารางเมตร สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 4,675,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ประหยัดเงินได้มากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ด้วยมูลค่าการลงทุน 125 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถคืนทุนภายใน 6 ปี นับเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนในการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ในสถานประกอบการ
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ พพ.และกระทรวงพลังงาน ที่มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในสถานประกอบการ เพื่อการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในสถานประกอบการ สำนักงาน อาคารธุรกิจ และโรงงาน