พพ. เดินหน้ายกระดับพลังงานทดแทนไทย โชว์ความสำเร็จ 20 ปี ลดใช้พลังงาน 9,500 ล้านบาท ด้านทีพีไอพีพีคว้ารางวัลไทยแลนด์เอนเนอร์ยี่อวอร์ด ปี 2562 หนุนนโยบายรัฐเปิดโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-80 หรือ เออีดีพี 2018 เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) ซึ่งจะมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดซึ่งจะสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและตอบโจทย์นโยบายกระทรวงพลังงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและคงความเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมาภาคเอกชนไทยมีการตื่นตัวในการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศให้เกิดการเติบโตและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและลดการใช้พลังงานโดยพิสูจน์จากเวทีประกวดไทยแลนด์ เอนเนอร์ยี่อวอร์ด ที่พพ.ได้เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมียอดส่งผลงานเข้าประกวดรวม 3,465 ผลงาน ได้รับการคัดเลือกรับรางวัลในสาขาต่างๆ จำนวน 951 รางวัล คิดเป็นสัดส่วนลดการใช้พลังงานมูลค่ากว่า 9,300 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.9 ล้านตันและผลงานนี้ยังถูกเสนอไปประกวดในระดับเวทีอาเซียน เอนเนอร์ยี่ อวอร์ด ที่คว้ารางวัลมาได้ทั้งสิ้นถึง 211 รางวัล ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุด และเป็นที่หนึ่งในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 10 ปี จนเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกอาเซียน
ด้านนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลไทยแลนด์ เอนเนอร์ยี่อวอร์ด ปี 2562 หรือ ครั้งที่ 20 จากผู้ที่ได้รับรางวัลปีนี้ทั้งสิ้น 66 รางวัล กล่าวว่า บริษัทได้รับรางวัลประเภทรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน โครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) ในส่วนโรงงานผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน โครงการ 2 จังหวัดสระบุรี โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการนำเชื้อเพลิงที่ผลิตจากขยะชุมชน หรือ RDF มาใช้ในกระบวนผลิตไฟฟ้าที่มีการต่อยอดเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยการออกแบบเครื่องจักรให้เหมาะกับขยะของไทย ซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยมีขนาดกำลังการผลิต 180 เมกกะวัตต์
ทั้งนี้การใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงในส่วนของโรงไฟฟ้า และโรงผลิตปูนซีเมนต์เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะและยังเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิง เนื่องจาก RDF มีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันขยะที่จะนำมาใช้เพื่อขยายการผลิต RDF ไม่เพียงพอ หากมีการนำไปใช้ในโรงผลิตปูนซีเมนต์ จึงได้ขยายโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดระยอง รวมถึงยังโรงงานคัดแยกขยะอยู่ที่จังหวัดนครราชศรีมา และ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างรอดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลต่อการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนรอบใหม่ ที่คาดว่าจะมีออกมาในช่วงปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่จังหวัดอื่นๆเพิ่มอีกในอนาคต