ส.อ.ท.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน กันยายน 2562 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เหตุ เงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ระดับ 92.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.8 ในเดือนสิงหาคม โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,103 ราย ทั่วประเทศในเดือนกันยายน ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 70 ยังคงกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีทีท่าคลี่คลายลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 50 กังวลในเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน 2562 เงินบาทแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแข็งค่ากว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ทำให้ผู้ประกอบส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลลงบ้าง แต่ยังมีปัจจัยกดดันภายในประเทศที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น ประกอบกับการชะลอการลงทุนภายในประเทศ สะท้อนจากการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตลดลง รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัว นอกจากนี้อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลงด้วย
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 103.4 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.9 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช็อปใช้ ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี 2562
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่ารัฐบาลควร 1) ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดที่มีศักยภาพ โดยปรับเงื่อนไขการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจผู้ลงทุนมากขึ้น พร้อมกันนี้ควรให้การ 2) สนับสนุนสินค้า Made in Thailand พร้อมส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภคใช้สินค้าไทย