Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

RPA เทคโนโลยีฝั่ง IT ที่คนอุตสาหกรรมควรรู้จัก

Robotic Process Automation (RPA) เป็นการใช้งานซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการข้อมูลแทนมนุษย์ ซึ่งกลายเป็นอีกเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยผลักดันการทำงานในยุคดิจิทัลสำหรับทางฝั่ง IT แต่ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องการใช้งานสำหรับกิจการโรงงานอุตสาหกรรมกันครับ

RPA นั้นเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบข้อมูลขององค์กรเหมือนอย่างที่มนุษย์ใช้ โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนหุ่นยนต์ในระบบสายการผลิตที่คอยทำกิจกรรต่าง ๆ ให้อย่างรวดเร็วและไม่เหน็ดเหนื่อย เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมหรือกระบวนการทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบของระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำซ้ำได้ มีการทำงานแบบ Rule-based งานที่มนุษย์ทำแล้วมีข้อผิดพลาดได้ง่าย หรืองานที่เป็นกิจวัตร

รู้หรือไม่ว่าการใช้งาน RPA สำหรับกระบวนการหลังบ้าน (Back End Operation) ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนได้กว่า 40% ในกิจกรรมการทำงานได้หลายภาคส่วน

การประยุกต์ระบบการผลิตอัตโนมัติด้วยการใช้ RPA สามารถลดความผิดพลาดของแรงงานและลดทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงเพิ่มความสามารถด้าน Productivity ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานที่ไร้ทักษะ กระบวนการที่มีเวลาเคร่งครัด ระบบการจัดการ Supply Chain ที่ล้าสมัย ซึ่งแน่นอนว่า RPA จะทำให้มิติขององค์กรนั้นเป็นระบบอัตโนมัติทั้งในส่วนของโรงงาน และในส่วนของพนักงานออฟฟิศได้อย่างครบถ้วนครอบคลุม

แล้ว RPA นิยมใช้กับงานแบบไหน?

อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า RPA นั้นแม้ในความหมายจะเป็นหุ่นยนต์ แต่ทว่ามันเป็นการทำงานเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์เป็นหลัก หรือกล่าว คือ ทำหน้าที่อยู่ในโลกดิจิทัล ไม่ได้มีกายภาพแบบหุ่นยนต์ในสายการผลิต ดังนั้น RPA จะเป็นการทำงานผ่านระบบเป็นหลัก โดยกิจกรรมที่สามารถใช้งาน RPA ได้แก่

1. ออกบิลสำหรับวัสดุ (Bill of Materials)

เอกสารสำคัญสำหรับการผลิตอย่าง Bill of Materials (BOM) นั้นเต็มไปด้วยรายชื่อของวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่าง ๆ จำนวนมาก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทำสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ แรงงานต้องกรอกข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดและแม่นยำจากนั้นจึงจะสามารถคิดออกว่าจะซื้อสินต้าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นจะกลายเป็นความเสียหายจำนวนมากของอุตสาหกรรม การใช้งาน RPA สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้เร็วชึ้น มีข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น และสามารถผลิตได้ทันเวลา

2. งานด้าน Administration และการรายงานข้อมูล

กระบวนการทำธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นมีความยากลำบากมากกว่าที่คิด งานส่วน Administration หรือที่เรียกกันติดปากว่าแอดมินไม่สามารถที่จะเข้าปะทะได้กับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด การใช้งาน RPA ในส่วนของแอดมินจะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของรายงานทุกกิจกรรมการผลิตรวมถึงงานอื่น ๆ ในธุรกิจได้ ทำให้สามารถตัดสินใจจัดการและบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. การสนับสนุนลูกค้า

“เมื่อลูกค้าพึงพอใจ ธุรกิจของคุณก็ประสบความสำเร็จ” อาจเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินไปนักสำหรับงานบริการลูกค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจ RPA นั้นสามารถสนับสนุนการสื่อสารกับลูกค้าได้ เช่น ใช้ในการแจ้งเตือนสำหรับการตามลูกค้า ทำการติดต่อในระยะเวลาตามสัญญาที่ระบุ และเมื่อลูกค้ามีการวิจารณ์ระบบสามารถแจ้งเตือนได้ทันที สำหรับผู้ขายหรือผู้ปฏิบัติงานฝ่ายหน้าจะสามารถใช้ข้อมูลที่หลากหลายในระบบนำทางเพื่อตอบคำถามของลูกค้า ด้วย RPA จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เก็บไว้จากหลากหลายแห่งได้ด้วยการเข้าถึงผ่านระบบ ทำให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

4. Data Migration

Data Migration เป็นการย้ายข้อมูลจากระบบเก่าไปยังระบบติดตั้งใหม่ ซึ่งการย้ายข้อมูลเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในงานอุตสาหกรรม RPA จึงเป็นหนึ่วในตัวเลือกของการย้ายข้อมูลที่เหมาะสมเป็นอย่างดี เมื่อบริษัทมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นข้อมูลเก่าจำเป็นต้องถูกเก็บรักษาเอาไว้ แม้ว่าการย้ายข้อมูลเพียงเล็กน้อยก็จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานและค่าใช้จ่าย การใช้ RPA ได้อย่างถูกต้องจะลดระยะเวลาและต้นทุน

5. Logistics Data Automation

แผนกโลจิสติกส์นั้นมีการทำงานที่หลากหลาย ยุ่งยาก และแปรเปลี่ยนตามปัจจัยต่าง ๆ เพื่อทำการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตสำเร็จแล้วไปยังลูกค้า การบริหารระบบขนส่ง ระบบบริหารจัดการควรผสานเข้ากับ RPA เพื่อเพิ่มศักยภาพบริการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การใช้งาน RPA บริหารการขนส่งทำให้สามารถติดตามการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ลองนึกถึงเวลาที่ต้องขนส่งสินค้าจำนวนมากกับเส้นทางที่หลากหลาย RPA จะคอยรายงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดไม่ว่าจะเป็นค้นทุน การประกัน และระยะเวลาการขนส่ง

สามารถติดตามการขนส่งแบบ Real-time เมื่อมีการใช้งาน RPA ทำให้รายงานที่ได้มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ให้บริการและลูกค้า สามารถรู้ได้ทันทีเมื่อสินค้ามาส่งถึงและมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

6. ERP Automation

การนำ RPA มาใช้งานกับ ERP นั้นเป็นการวางแผนสำหรับทรัพยากรขั้นต่อไป สามารถใช้งานการรายงานสินค้าคงคลัง การเบิกจ่าย ใบรับ ราคาและรายละเอียดอื่น ๆ ได้อัตโนมัติ ทั้งยังสามารถตั้งค่าอัตโนมัติให้ส่งผ่าน Email หรือ Upload เข้าไปยังโฟลเดอร์ที่ทำการแบ่งปัน สามารถใช้ติดตามข้อมูลในคลังสินค้าและตั้งค่าแจ้งเตือนเมื่อมีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ หรือสามารถให้ระบบอัตโนมัติสั่งเติมสินค้าได้

7. Web Integrated RPA

ธุรกิจที่ดำเนินมาอย่างยาวนานทำให้สามารถมีโรงงานการผลิตที่แตกขยายออกไปรวมไปถึงอาคารสำนักงานต่าง ๆ ทำให้การจัดการข้อมูลในระบบอาจทำได้ยากยิ่งขึ้น การใช้งาน RPA ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตจะทำให้สามารถติดตามข้อมูลได้ง่าย เข้าถึงและอัพเดทการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบที่ทำผ่านเวปไซต์ ลดระยะเวลาการสื่อสารระหวางพื้นที่หรือสาขาได้เป็นอย่างดี

8. ใช้งานกับ PLM

RPA สามารถเพิ่มความสามารถในกระบวนการออโตเมชันได้โดยการลอกเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ใหม่ เพื่อสร้าง BOM ที่รัดกุมและรวดเร็วกว่าเดิม RPA สนับสนุน MES หรือการใช้งานระบบเก่าประยุกต์เข้ากับ PLM เพื่อจัดการกับข้อมูลอย่างอัตโนมัติเช่นเดียวกับกิจกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกที่เกิดขึ้นระหว่างแอปพลิเคชัน

9. เสริมศักยภาพ IoT/IIoT

IoT/IIoT สร้างข้อมูลตำนวนมหาศาลที่ไม่ได้มีการจัดระเบียบข้อมูลซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดใช้งานในกิจการของ Big Data ซึ่ง RPA สามารถใช้ในการวิเคราะห์ (Analysis) สำหรับข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อตรวจสอบและบันทึกกิจกรรม ทำให้สามารถติดตามข้อมูลและเพิ่มความสามารถในการประมวลผลให้ดียิ่งขึ้น

เราอาจเข้าใจมาตลอดว่าคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์นั้นเป็นระบบอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งเท่านั้น การป้อนข้อมูลหรือการทำงานหลายอย่างต้องการมนุษย์เพื่อออกคำสั่งหรือป้อนค่าเข้าไปเป็นขั้นเป็นตอน ไม่แตกต่างจากการทำงานในรายผลิตของแรงงานแต่ RPA นั้นเป็นเหมือนหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติที่คอยช่วยเหลือทำงานซ้ำ ๆ หรืองานที่ไม่ต้องใช้ศักยภาพของมนุษย์อย่างมากอีกต่อไปในส่วนของการทำงานด้านข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ โดยเฉพาะงาน Routine ของแรงงานสำนักงาน

ที่มา:
Unlockinsights.com/blog/rpa-use-cases-in-manufacturing-industry/
Neelsmartec.com/2018/12/how-rpa-can-be-utilized-in-manufacturing-sector-plmerpiiot/
Uipath.com/solutions/industry/manufacturing-automation

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924