Android ระบบปฏิบัติการณ์สำหรับสมาร์ทโฟนเพิ่มสัดส่วนการใช้งานภายในกระบวนการทำงานของโรงงานที่มีอุณหภูมิต่ำ จากผลสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์รายหนึ่งพบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีแผนการใช้งาน Android เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่กำลังมาถึงนี้
Android ดีกว่าระบบเดิมยังไง?
สำหรับการใช้งานระบบปฏิบัติการณ์ที่เราคุ้นชินในโรงงานอย่าง Windows จาก Microsoft อาจกลายเป็นเรื่องที่ล้าหลังในเวลาไม่นาน จุดเด่นหลักที่รู้กันโดยทั่วไป คือ Android นั้นสามารถปรับแต่งระบบได้หลากหลายเนื่องจากเป็นระบบเปิด แต่จุดเด่นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการทำงานประมวลผลภายใต้อุณหภูมิต่ำ
การพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำได้ด้วยสภาพแวดล้อมระบบที่สะดวกง่ายดาย ทำให้สามารถและปรับแต่งให้เข้ากับอุปกรณ์ I/O ได้ง่าย ทำให้เกิด GUI ที่สามารถใช้ได้กับงานในอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังมีความต้องการทรัพยากรที่น้อยกว่าระบบที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีความต้องการใช้ตัวประมวลผลที่ไม่ต้องใช้พลังงานเยอะซึ่งส่งผลให้มีขนาดอุปกรณ์ที่เล็กลงด้วยเช่นกัน โดย Android สามารถใช้ตัวประมวลผล ARM ได้ในขณะที่ Windows นั้น Intel กลายเป็นตัวประมวลผลที่แทบจะผูกขาดและมีราคาที่สูงกว่า นอกจากนี้ Android ยังเป็นระบบปฏิบัติการณ์ที่ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ในการใช้งานอีกด้วย ทำให้แผงควบคุมที่ใช้งาน Android มีราคาที่ถูกกว่า Windows
หากลองจินตนาการถึงการใช้งานอุปกรณ์ Android ในปัจจุบันภายใต้การทำงานอุตสาหกรรม คุณจะนึกถึงอะไรกัน? ผมนึกถึงสมาร์ทโฟนที่มีตัวเลือกความสามารถหลากหลายในตลาด ทั้งความสามารถกันน้ำ กันฝุ่น กันกรแทก มีระบบอินฟาเรด ตรวจจับความร้อน หรือทำงานได้ในอุณหภูมิติดลบ เช่น CAT S61 ที่มีการใช้งานในบางอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่นก่อสร้าง งานซ่อมบำรุงต่าง ๆ หรือถ้าจะมองให้ตลาดกว่านั้นผมนึกถึง Sony Xperia Active ที่มีความทนทานสูงและผลิตขึ้นเมื่อปี 2011 (ซึ่งนานมากแล้ว) นอกจากนี้ Android ในปัจจุบันยังมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ IoT ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นหากเป็นการใช้งานสำหรับแผงควบคุมในงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ คุณสมบัติเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ Android นั้นมีความน่าสนใจมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ ในปัจจุบัน
คุณสมบัติสำคัญสำหรับแผงควบคุมในงานอุตสาหกรรม
การทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความทรหดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในพื้นที่ที่มีปัจจัยแปรปรวน มีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่มากมาย ซึ่งคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องการสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่วนควบคุมนั้นจะมีความต้องการเบื้องต้น ดังนี้
ทนต่อสภาพอุณหภูมิ สามารถทำงานได้ภายใต้อุณหภูมิที่กำหนด อาทิ อุตสาหกรรมอาหารต้องทำงานภายใต้อากาศที่หนาวเย็นเพื่อรักษาคุณภาพอาหาร หรือมีความทนทานความร้อนหรือมีระบบระบายอากาศที่ดี
กันน้ำ-ฝุ่นละออง การทำความสะอาดสำหรับการบำรุงรักษาหรือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ความสามารถในการกันน้ำและฝุ่นละอองจะเป็นการยืดอายุการทำงานให้กับอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี
ทำความสะอาดง่าย ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสุขภาพและคุณภาพการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถเกิดการหมักหมมของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
มีขนาดกะทัดรัดและทนทาน พื้นที่การผลิตนั้นต้องมีการบริหารจัดการใช้งานอย่างเหมาะสม บ่อยครั้งจะพบว่าตำแหน่งของอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ ก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน และหลายครั้งก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกระทบกระแทก ขนาดและความทนทานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ตอบสนองต่อการทำงานในระบบสัมผัสได้ดี การใช้งานในพื้นที่จำกัดนั้นระบบควบคุมที่ถูกออกแบบมาเพื่อการสัมผัสโดยเฉพาะจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการทำงานได้ดีกว่า
จากประเด็นที่ถูกหยิบยกมานำเสนอสำหรับแผงควบคุมในโรงงานอุตสาหกรรม หลายคนคงเคยเห็นกล่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ถูกติดตั้งตามพื้นที่และเครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงาน หรือสำหรับโรงงานอาหารจะพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้มักถูกติดตั้งอยู่ในกล่องป้องกัน ซึ่งนั่นเป็นข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของระบบปฏิบัติการณ์ ซึ่งระบบ Android นั้นสามารถพลิกโฉมความต้องการเหล่านั้นให้มีคุณภาพที่ดีกว่า ขนาดเล็กกว่า ประหยัดและทนทานได้มากกว่าระบบที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนในปัจจุบันเป็ตัวผลักดันและสามารถโยกย้ายมาปรับใช้ได้กับงานอุตสาหกรรมเช่นกัน
แม้ในวันนี้ระบบ Android อาจยังไม่ถูกมองว่าจะสามารถมีส่วนในการทำงานของอุตสาหกรรมได้มากนัก แต่ด้วยจุดเด่นและเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งาน เปิดกว้างสำหรับการดัดแปลงเติมแต่ง เมื่อพิจารณาตามความเป็นไปได้และข้อมูลแล้ว Android สามารถกลายเป็นทางเลือกสำหรับอุปกรณ์ควบคุมในโรงงานยุค 4.0 ที่ต้องการการเชื่อมต่อและความยั่งยืนในการทำงานได้เป็นอย่างดี
ที่มา:
Foodengineeringmag.com