กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ 13 พันธมิตรร่วมลงทุนสนับสนุน InnoSpace (Thailand) ร่วมกันสร้าง National Platform หวังยกระดับ Startup ไทย ให้ถึงระดับ Unicorn
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทย มีอุปสรรคในหลายด้าน และขาดการเติมเต็มระบบนิเวศของการสร้างและพัฒนา Startup แต่ในต่างประเทศ มีองค์กรอย่าง HK Cyberport ที่ดูแลการส่งเสริมและพัฒนา Startup อย่างจริงจัง ประเทศไทย จึงต้องมีหน่วยงานขับเคลื่อนในรูปแบบเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทุกภาคส่วน
ด้วยการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น InnoSpace (Thailand) จึงเป็นคำตอบของกลไกในการส่งเสริมและสร้าง Startup ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นทั้งในภาคการผลิต (Real Sector) เช่น การเชื่อมโยงภาคการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ด้านการบิน ด้านโทรคมนาคม และภาคบริการ (Service Sector) โดยให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นอกจากนี้ InnoSpace (Thailand) จะตั้งอยู่ที่ VISTEC ใน EECi ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องด้าน “Smart City” เพื่อสร้าง Innovation Platform จึงจะช่วยให้เกิดแหล่งรวมของเทคโนโลยี งานวิจัย นักลงทุน และ Startup ที่มีศักยภาพ อีกทั้งโครงการ EEC ยังเป็นโครงการที่สำคัญ เป็นประตูสู่ CLMV และภูมิภาคอาเซียน เป็นข้อต่อสู่ Greater Bay Area ของประเทศจีน ซึ่งจะทำให้ Startup ไทย มีโอกาสก้าวไกลสู่นานาชาติได้
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงาน InnoSpace (Thailand) เดินหน้าไปได้ จะต้องมีเสาหลักที่แข็งแรง ทั้งสถาบันการศึกษา จะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและผลงานวิจัย สถาบันการเงิน เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการเร่งเข้าสู่ธุรกิจ ภาคเอกชน ให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพ และหน่วยงานภาครัฐ ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ
“การลงนามความร่วมมือพันธมิตรด้านการลงทุน ในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเริ่มต้น ระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในวันนี้ จะก่อให้เกิดการดำเนินงานที่คล่องตัว และเกิดความร่วมมือในการลงทุน เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้ Startup ไทย สามารถพัฒนาและเชื่อมโยงไปสู่เวทีระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นกลไกที่ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตที่ดีขึ้น และนำพาประเทศไทยก้าวสู่ Innovation-driven Economy ตามที่มุ่งหวังไว้” นายสมคิด กล่าว
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผลักดันโครงการ InnoSpace (Thailand) เพื่อเป็นแพลทฟอร์มในการเสริมสร้าง และเติมเต็มระบบนิเวศของการพัฒนา Startup ให้ครบถ้วนตลอดวงจรชีวิต และผลักดันให้ Startup ไทย แข่งขันในเวทีโลกได้ InnoSpace (Thailand) จึงมีจุดเด่นในการเชื่อมโยง บูรณาการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นเครือข่ายร่วมดำเนินงาน ทั้งในลักษณะ พันธมิตรด้านการลงทุน (Investment Partner) พันธมิตรด้านการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Partner) และ พันธมิตรด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (Technology & Knowledge Partner) ทั้งในด้านการวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการสร้าง Startup ที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ดังนั้น เพื่อให้ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด มีการดำเนินงานที่คล่องตัว และสามารถเร่งขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเริ่มต้น ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้โดยเร็ว การลงนามความร่วมมือในวันนี้ พันธมิตรด้านการลงทุนทั้ง 13 หน่วยงาน จึงพร้อมใจกันแสดงพลังอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะผลักดันให้บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น National Startup Platform เพื่อเป็นกลไกที่จะบูรณาการความเข้มแข็งและบูรณาการกิจกรรมของทุกฝ่าย ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ช่วยสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง ยกระดับ Startup ไทย ให้ถึงระดับ Unicorn และให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
ด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อินโนสเปซ (ประเทศไทย) เป็นการร่วมมือกันของพันธมิตร ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา จากแนวนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อเป็น National Platform ขับเคลื่อนการสร้าง Innovative Ecosystem ที่เอื้อต่อการบ่มเพาะและพัฒนา Startup ไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ เป็นรากฐานของพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายจะสนับสนุนตลอดวงจรชีวิต (Life cycle) ของ Startup ตั้งแต่ในช่วง Pre-Seed หรือ Seed ทั้งในกลุ่ม Deep Tech และในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ
การลงนามความร่วมมือพันธมิตรด้านการลงทุนในวันนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ ที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งด้านประสบการณ์ เครือข่าย และเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 500 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 6.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด 8.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 11.บริษัทในเครือสหพัฒน์ 12.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 13.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
“การทำงานของบริษัทฯ เน้นการเชื่อมโยงกิจกรรมของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาที่สนับสนุน Startup ให้เกิดการบูรณาการ (Synergy) สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน(Alignment) และเติมในส่วนที่ขาด (Gap Filling) โดยไม่ทับซ้อนกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของนวัตกรรม (Innovation-driven economy) ยกระดับ Startup ไทยให้ถึงระดับ Unicorn และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0” นายเทวินทร์ กล่าว