ผมอยากชวนให้ทุกคนมาดู American Factory สารคดีเจ๋งๆ ที่เผยแพร่อยู่บน Netflix คุณจะมองเห็นปัญหาผ่านระดับการบริหาร สังคม เชื้อชาติ วัฒนธรรม รวมถึงจิตวิญญาณบางอย่างที่สอดแทรกอยู่ในการทำงานตลอดเวลา ถ้าคุณยังไม่มีเวลาดูผมมีเรื่องมาเล่าให้ได้อ่านกันผ่านบทความพิเศษจาก Modern Manufacturing x Tool Makers.co ที่ได้เกสท์สุดพิเศษอย่างคุณศิวดี อักษรนำมาร่วมเล่าเรื่องในครั้งนี้ด้วยกันครับ
การลงทุนข้ามชาติในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในธุรกิจ และการเข้าซื้อสาธารณูปโภคพื้นฐานเดิมที่ถูกทอดทิ้งดูจะเป็นวิธีที่สามารถทำงานได้อย่างว่องไวที่สุด เช่นเดียวกันกับบริษัทผลิตกระจก Fuyao จากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าซื้อโรงงานเก่าของ General Motors (GM) ในรัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการผลิตกระจกและเพื่อยืนยันว่าชาวจีนนั้นสามารถลงทุนและทำธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการบอกเล่าผ่านภาพยนตร์สารคดี American Factory ที่ฉายอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Netflix และยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านเทศกาลอันโด่งดันอย่าง Sundance และขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าบทความนี้มีการ Spoil อย่างแน่นอน!
พลิกฟื้นตำนานบทเก่า
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ GM ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา หรือถ้าจะบอกชื่อรถยนต์ที่คุ้นหูก็คงต้องเป็น Chevrolet แต่จำกันได้ไหมครับว่า GM นั้นประสบปัญหาทางด้านธุรกิจอย่างหนักและต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งสายการผลิตในเมือง Dayton รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในสายการผลิตที่ถูกปิดในปี 2008 และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา คือ การสูญเสียรายได้ของแรงงาน ซึ่งบางคนถึงกับชีวิตพังทลายไร้ที่อยู่เลยก็มี
7 ปีต่อมา Fuyao จากจีนได้มีการลงทุนเข้าซื้อโรงงานดังกล่าวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวในเดือนตุลาคมปี 2016 โดยมีทั้งทีมงานที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศจีนและทีมงานที่ได้มาจากในพื้นที่จำนวนมากมาทำงานร่วมกันก่อนที่จะเปิดโรงงาน ซึ่งแรงงานจากทั้งสองประเทศดูจะสนิทสนมกลมเกลียวและรักใคร่กันเป็นอย่างดีภายใต้การทำงานร่วมกันครั้งแรก
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
หัวเรือใหญ่ของ Fuyao อย่าง Cao Dewang ได้เดินทางลงมาพูดคุยและดูแลโรงงานใหม่ในดินแดนเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง และด้วยความแตกต่างของกฎข้อบังคับ (Regulation) และกฎหมายต่าง ๆ ที่สองประเทศให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันได้เป็นเรื่องปรกติ แต่ในขณะเดียวกัน Cao ได้ให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้สึก’ และ ‘การยอมรับ’ จากชาวอเมริกันชนที่ต้องทำงานภายใต้บริษัทข้ามชาติจากจีนด้วยเช่นกัน
Cao นั้นให้ความสำคัญกับแนวคิด ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ ไม่ว่าจะเป็นการตบแต่งพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอเมริกาที่โดดเด่น การเลือกผู้บริหารหลักประจำ Fuyao ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นคนอเมริกัน รวมไปถึงรูปแบบการทำงานตามแบบอเมริกันที่เคยทำกันมา นอกจากนี้ยังมีการอบรมแรงงานจากจีนให้เข้าใจในลักษณะพฤติกรรมและแนวคิดของชาวอเมริกันเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้นโยบาย ‘ไร้สหภาพแรงงาน’
ความทุกข์นของอเมริกันชนกับความลำบากลำบนของชาวจีน
แรงงานในพื้นที่เดิมที่เคยทำงานกับ GM กลับเข้ามาทำงานกับ Fuyao ด้วยค่าจ้าง 12.84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงในขณะที่การทำงานกับ GM นั้นได้ 29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนออกมาผ่านแววตาและควันบุหรี่ได้อย่างเยียบเย็น
สินค้าที่ผลิตออกมาในช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่ามีข้อบกพร่องอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพหรือกำลังการผลิต ซ้ำร้ายเมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่จากหน่วยงานภายนอกยังพบปัญหาด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานภายใต้พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 200 องศาฟาเรนไฮต์ หรือเกือบ 100 องศาเซลเซียส ในขณะที่แรงงานบางคนเล่าว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานกับ GM มากกว่า 10 ปีไม่เคยต้องเจอกับอุบัติเหตุในที่ทำงานแต่การทำงานกับ Fuyao เพียงไม่นานกลับต้องเจอกับอุบัติเหตุใหญ่
ในขณะที่แรงงานชาวอเมริกันกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่นั้น แรงงานชาวจีนกลับมองตัวเองว่าเป็นการเดินทางมาวางรากฐานให้กับโรงงานแห่งใหม่ มาเพื่อสนับสนุนและจัดการความเรียบร้อยให้เกิดขึ้นซึ่งหนึ่งในนั้นได้เล่าให้เพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันฟังถึงการเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลมาโดยไม่ได้รับเงินพิเศษหรือได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใดในการทำงานไกลบ้าน
ทีมงานชาวสหรัฐอเมริกาบางส่วนได้ถูกส่งตัวไปเรียนรู้การทำงานที่ประเทศจีน ที่ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความกดดันให้เป็นอย่างมาก ลองจินตนาการถึงสภาพการทำงานในโรงงานที่สหรัฐอเมริกาที่มีแต่คนตัวใหญ่ ๆ พุงพลุ้ย ๆ ทำงานตามคำสั่งไปอย่างเรียบร้อย แต่ในโรงงาน Fuyao ที่แผ่นดินใหญ่ไม่เป็นแบบนั้น ในตอนเช้ามีการร่วมร้องเพลงบริษัทที่ตอกย้ำถึงความโปร่งใส จริงใจ และคุณภาพในการทำงาน และเมื่อถึงเวลาการทำงานแรงงานจีนกลับทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว ว่องไว ขะมักเขม้น มีการยืนต่อแถวตอนเช้าเพื่อนับจำนวนคนที่มาทำงานและรายงานจำนวนคนที่มาทำงานว่าครบถ้วนหรือไม่ (แบบนับแถวลูกเสือแบบนั้นเลย) หรือในส่วนที่มีการคัดแยกกระจกเพื่อนำไปรีไซเคิลจะพบว่ามีเศษกระจกมากมายที่ต้องคัดแยกในขณะที่แรงงานใส่ถุงมือธรรมดาที่ไม่ได้กันการบาดเฉือนและไม่ได้มีแว่นตาในการป้องกันใด ๆ แรงงานส่วนมากมีโอกาสกลับบ้านปีละครั้งและต้องอยู่ห่างไกลลูกเพียงเพราะต้องทำงานส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัว หรือแม้แต่การแต่งงานของคนในบริษัทหลายคู่ที่จัดขึ้นพร้อมกันในวันเฉลิมฉลองของบริษัท สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนตัวตน วัฒนธรรม และความทุ่มเทที่มาจากจิตวิญญาณในการทำงานของจีนอย่างแกร่งกล้า ชัดเจนและขมขื่นในเวลาเดียวกัน
การมาเยือนโรงงานจีนในครั้งนี้ของแรงงานอเมริกันสร้าง Culture Shock เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเจตคติในการทำงาน มาตรฐานความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่โรงงานในสหรัฐฯ ได้รับนั้นถือว่าดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศจีนอย่างมากแบบเทียบไม่ติด ซึ่งคนที่ไปดูงานมาต่างก็พยายามปรับใช้บางวิธีที่พอเห็นเป็นโอกาสได้แต่แรงงานโดยทั่วไปดูแล้วก็ไม่ได้เต็มใจให้ความร่วมมือสักเท่าไหร่
จากความแตกต่างสู่ความแตกแยกในองค์กร
ผลลัพธ์ที่เกิดจากการลงทุนและทำงานในสหรัฐอเมริกานั้นยังห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในแผ่นดินแม่อยู่มาก ทำให้โครงสร้างการบริหารเดิมแบบชาวอเมริกันถูกรื้อถอนและเปลี่ยนเป็นชาวจีนแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่ชาวจีนมองว่าคนอเมริกันนั้นเติบโตมาด้วยการถูกสร้างความมั่นใจจนเกินจริง ในขณะที่ตัวเองมีสติปัญญาสูงส่งกว่า
ความกดดันและการจัดการที่มีปัญหามาจากความแตกต่างสร้างรอยร้าวในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แรงงานอเมริกันรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเคารพในการทำงาน มีการเททิ้งสารเคมีลงในท่อโดยไม่ได้บำบัด มีหลายสิ่งที่แรงงานอเมริกันรู้สึกว่าไม่เข้าที่เข้าทางและนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้กิดสหภาพแรงงานขึ้นมา
ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของจีนต้องการให้มีการทำงานล่วงเวลาโดยไม่สนใจกฎหมายในพื้นที่ โดยยึดถือว่าในประเทศจีนก็ยังสามารถทำได้ แรงงานของจีนคนหนึ่งให้ความเห็นว่าเป็นเพราะความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้การทำงานกดดันมากกว่าที่จีนเสียอีก ด้วยการกระทบกระทั่งไปมาทำให้เกิดการแทรกแซงของ UAW (United Auto Works) หรือ สหภาพแรงงานยานยนต์ของอเมริกาเข้ามาเพื่อโหวตผลการจัดตั้งสหภาพในขณะที่ทาง Fuyao ได้ว่าจ้างหน่วยงานดูแลแรงงานสัมพันธ์เข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าว และเมื่อผลโหวตออกมาปรากฎว่ามีแรงงานไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานสูงถึง 60%
แม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งสหภาพฯ แล้ว แต่การขึ้นค่าจ้าง 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงให้กับแรงงานจำนวนมากก็ยังเป็นภาระกับ Fuyao อยู่ดี และด้วยปัญหาที่มากขึ้นรวมถึงความแตกต่างที่เข้มข้นมากกว่าเดิม แรงงานจำนวนมากถูกไล่ออกเพราะมีความสามารถในการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าพวกเขาจะมีทัศนคติและความัสัมพันธ์อันดีกับทีมงานชาวจีนก็ตาม ซึ่งหนึ่งในทางแก้ไขที่ตามมาของนโยบาย Fuyao คือ การใช้ระบบอัตโนมัติ ซึ่ง Fuyao ทำกำไรตั้งแต่ปี 2018 โดยยังคงค่าจ้างเริ่มต้นไว้ที่ 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง มีแรงงานอเมริกันจำนวน 2,200 คน และชาวจีน 200 คน
‘คน’ ปัจจัยที่แปรผันแล้วแปรผันอีก!
ตลอดระยะเวลาการชมสารคดีนี้ ผมพบว่าตัวเองต้องอยู่ระหว่างการตั้งคำถามกับความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Productivity ของการทำงานจากชาวจีนหรือชาวอเมริกัน ตัวละครหลักในเรื่องนี้หากแบ่งตามบทบาทการทำงานแล้วต้องแยกออกเป็นฝั่งจีนและฝั่งอเมริกา ซึ่งในแต่ละฝ่ายต่างมีแนวความคิดของตัวเอง
ความเห็นของชาวอเมริกันที่บอกว่า “GM คือ ที่ที่ดีที่สุดในการทำงานของผม” สะท้อนถึงความปลอดภัยในการทำงานและเงินตอบแทนที่ดีมากด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า “เฮ้ย แล้วไอ้ที่ GM มันเจ๊งไปเนี่ยเพราะแบบนี้หรือเปล่า?” เพราะไม่ควบคุมต้นทุน หรือ QC ไม่ดี หรือขายของเกินราคา หรืออาจจะรวม ๆ ทั้งหมด ซึ่ง GM ที่ไทยก็เพิ่งปลดคนงานฟ้าผ่าไป 300 คน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมานี้เอง
ในปัจจุบันพบว่าสมาชิกของสหภาพต่าง ๆ นั้นลดน้อยลง ในขณะที่ยอดเงินการลงทุนกับหน่วยงานด้านแรงงานสัมพันธ์กลับสูงขึ้น หลายองค์กรมองว่าการมีอยู่ของสหภาพฯ สามารถส่งผลต่อศักยภาพการทำงานของแรงงานได้เป็นอย่างมาก และหากสหภาพฯ นั้นไร้ซึ่งวิสัยทัศน์หรือมุมมองทางธุรกิจแบบตายด้านจะเห็นได้ทันทีเลยว่าสหภาพนั้นเป็นการฉุดรั้งซึ่งนำไปสู่การล่มสลายขององค์กรได้เช่นกัน
ทางด้านวัฒนธรรมการทำงานของฝั่งจีนที่ดูเหมือนเป็นการทำงานที่ถวายหัว ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ ความก้าวหน้าและการเติบโตขององค์กรอย่างชัดเจนไม่แตกต่างจากออโตเมชันในร่างมนุษย์ที่ไม่ใช่จะทำได้กันทุกคน ความแตกต่างของคนจากทั้งสองชาติเมื่อมาเจอกันย่อมเกิดความไม่ลงรอยและความไม่เข้าใจกัน แต่เมื่อความสัมพันธ์ถูกสร้างขึ้น เมื่อมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราว มันทำให้สามารถหาพื้นที่ตรงกลางในการอยู่ร่วมกันได้
ผมเห็นข้อดีและความแตกต่างของทั้งสองชนชาติตลอดระยะเวลาที่รับชมสารคดีนี้ รวมถึงการทำลายอคติบางอย่างที่อาจติดค้างอยู่ในใจด้วยเช่นกัน อาทิ การที่เรามักคิดเสมอว่าชาวตะวันตกหรืออเมริกันจะต้องฉลาด สมาร์ท ทำงานเก่ง หรือภาพจำที่พูดต่อ ๆ กันมาเรื่องจีนแดง สินค้าไร้คุณภาพ คนไม่เก่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้กลับสวนทางกันอย่างชัดเจน เห็นได้ชัดอย่างยิ่งในระดับของแรงงาน Blue Collar จากทั้งสองเชื้อชาติที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยม วัฒนธรรม และลักษณะจำเพาะบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานและใช้ชีวิต
อีกหนึ่ง ‘คน’ ที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ คือ Cao Dewang ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดแห่ง Fuyao ที่ต้องเดินทางทุกเดือนเพื่อทำการปรับจูนโรงงานใหม่ให้เข้าที่ ผมประทับใจในความพยายามและความใส่ใจของ Cao ในการปรับตัวเข้ากับพื้นที่และสังคมใหม่ ๆ สิ่งที่ Cao แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านวัฒนธรรมองค์กร คือ ‘ความเป็นครอบครัว’ แน่นอนว่าบทบาทของ Cao เป็นเหมือนพ่อหรือ ‘พี่ใหญ่’ ที่ต้องคอยดูแลและใส่ใจคนในองค์กรซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดที่ Fuyao ประเทศจีน ที่ซึ่งทุกคนทุ่มเทถวายหัวทำงานให้องค์กรด้วยความคิดที่ว่าทุกคนลงเรือลำเดียวกันและถ้าแรงงานอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้
เมื่อเกิดความเหนื่อยล้า Cao มักจะนึกถึงเรื่องราวในอดีตและการเดินทางที่ผ่านมา “เมื่อก่อนประเทศจีนสมัยที่ผมยังเด็กนั้นด้อยพัฒนา แต่ผมก็มีความสุขกว่านี้ ตอนนี้ผมอยู่ในยุคใหม่ของความเจริญรุ่งเรืองแต่ผมรู้สึกสูญเสีย ผมคิดเถึงเสียงกบ แมลงและทุ่งดอกไม้สวยงามในวัยเด็ก ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ผมตั้งโรงงานขึ้นมากมาย ผมได้พรากความสงบสุขและทำลายสภาพแวดล้อมใช่ไหม? ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นผู้ให้หรืออาชญากร” แม้ว่าจะอยู่ในฐานะผู้จ้างงานแต่ในขณะเดียวกัน Cao ยังคงคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของเขาในมิติอื่นด้วยเช่นกัน
“ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน คุณไม่คิดแบบนั้นเหรอ?”
Cao Dewang
จุดที่ผมคิดว่าแม่น้ำสองสายมาบรรจบกันได้เป็นอย่างดี คือ การสร้างมิตรภาพระหว่างแรงงานสองชนชาติและการไปดูงานที่ประเทศจีน มิตรภาพที่เกิดขึ้นของแรงงานจากทั้งสองประเทศใน Fuyao อเมริกานั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ การแบ่งปันและการอยู่ร่วมกันที่สร้างการเติบโตให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง และสำหรับการเดินทางไปดูงานที่เมืองจีนนั้นทำให้แรงงานชาวอเมริกันเข้าใจถึงมาตรฐานรวมถึงความแตกต่างกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ในอเมริกา ซึ่งก็มีทั้งเรื่องที่น่าตกใจและเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้งานได้เช่นกัน
หากตั้งคำถามถึงความสำเร็จของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ การได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลหนัง Sundance ก็นับเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากอยู่แล้ว แต่การที่ Barack Obama อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับอย่างเป็นทางการนั้นถือเป็นอีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จ
เมื่อแรงงานเป็นทั้งคำตอบและ ‘ไม่ใช่คำตอบ’
สำหรับคำตอบใน American Factory จะเห็นได้ว่ามนุษย์สามารถเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่ภาระ ไปจนถึงออโตเมชันแบบมนุษย์ ขึ้นอยู่กับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร ในขณะเดียวกันกับที่เรื่องราวของผู้ใช้แรงงานและระดับบริหารมากมายได้ก่อตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะความพยายามเข้ามามีส่วนของสหภาพฯ การขาด Productivity อย่างแสนสาหัสของแรงงานอเมริกัน และการทำงานที่บ้าบิ่นไม่ลืมหูลืมตาของแรงงานจีน เราจะมองเห็นถึงความไม่แน่นอนแน่นอนที่เกิดขึ้นจากแรงงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะการเจ็บป่วย ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ และเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย
ในขณะที่การทำงานที่โรงงานในจีนนั้นดูเรียบร้อย ว่องไว และทำงานได้เป็นอย่างดี ผมกลับอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นเพราะการที่ประเทศจีนมีประชากรจำนวนมหาศาลด้วยหรือไม่ที่ทำให้เกิดออโตเมชันมนุษย์ขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาคุณก็สามารถเปลี่ยนแรงงานออกสลับไปมาได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างกันกับจำนวนประชากรในพื้นที่ของโรงงานที่อเมริกาที่มีอย่างจำกัด รวมถึงมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่มีในประเทศจีนทำให้ไม่สามารถดำเนินการแบบเดียวกันได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การลงทุนในสหรัฐอเมริกาของ Fuyao ดูจะศูนย์เปล่าลงไปได้ง่าย ๆ ลองจินตนาการดูว่าคุณประเมินตัวเลขการทำงานจากฐานการผลิตเดิมด้วยมาตรฐานที่ทำได้ในปัจจุบัน และเมื่อคุณมาลงทุนในประเทศใหม่คุณก็ต้องคาดหวังผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับพลาดเป้าไปไกลและยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย นั่นทำให้การแก้ปัญหาที่แตกต่างจากรากฐานภายในเป็นสิ่งที่บั่นทอนและกัดกินอย่างมาก
แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ขึ้นค่าแรง ยอมให้มีการโหวตสหภาพ แต่สิ่งสำคัญที่แทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คือ แรงงานกับทัศนคติและความรับผิดชอบ แน่ล่ะว่าต้องมีแรงงานที่ทุ่มเทตั้งใจ แต่เมื่องมองในรูปแบบธุรกิจแล้วมันสร้างกำไรหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นโยบายที่เป็นยาแรงสำหรับแก้ไขเรื่องนี้จึงมาพร้อมกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง ‘หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ’
ในท้ายที่สุด Fuyao ที่มีการเปลี่ยนแรงงานมากกว่า 3,000 คน จบลงที่การใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่งให้ผลการทำงานที่แน่นอนมากกว่า ยกตัวอย่างกรณีสุภาพสตรีที่ต้องยกกระจกมาตรวจสอบคนเดียวซึ่งเธอเคยเล่าว่าตำแหน่งเดียวกันนี้สมัยทำ GM ต้องใช้แรงงานถึง 2 คน และในตอนจบของเรื่องกลับกลายเป็นแขนกลหนึ่งแขนในการทำงานแบบเดียวกัน
ภายหลังการปรับตัวอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านศักยภาพแรงงาน วัฒนธรรม จำนวนแรงงาน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ในท้ายที่สุด Fuyao ตัดสินใจใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงานซึ่งให้ผลลัพธ์การทำงานที่ดีกว่า เพราะหุ่นยนต์ไม่มีการเมือง ไม่ต้องการการประคบประหงม และสามารถคาดเดาได้เป็นอย่างดี ทำให้ภายหลังการปรับเปลี่ยนดังกล่าวสร้างผลประกอบการที่มีกำไรอย่างชัดเจนสำหรับ Fuyao ในประเทศสหรัฐอเมริกา พลิกจากจุดเริ่มต้นที่ไม่สามารถส่งสินค้าที่มีคุณภาพได้ การส่งสินค้าไม่ตรงตามเวลา และปัญหาอื่น ๆ ด้วยการลดปัจจัยที่แปรผันสูงอย่าง ‘คน’ ออกไป
แต่อย่าเพิ่งกังวลกันไปไกลเกินกว่าเหตุ บทบาทหน้าที่ของแรงงานนั้นเปลี่ยนไปในการทำงานยุคใหม่ ‘คน’ กลับมีความสำคัญมากกว่าเดิม ด้วยการเปลี่ยนบทบาทจากการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย ใช้ความเสี่ยง มาเป็นการทำงานที่มีความสร้างสรรค์และละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่น งานซ่อมบำรุง งานควบคุมหุ่นยนต์ งานออกแบบต่าง ๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีเทคโนโลยีซ่อมบำรุง แต่มีมนุษย์และจินตนาการในการปรับแต่งต่าง ๆ ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจและแรงงานในระยะยาวมากกว่า เหมือนอย่างที่เรามองผ่านเรื่องราวของ American Factory ที่ทำให้เห็นมิติต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในโรงงาน ถ้าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่ไม่มีปัญหา ทำงานได้ดี มันก็โอเคแหละ แต่ถ้ามันไม่โอเค ต้องเจอสิ่งใหม่ ๆ เงื่อนไขใหม่ หรือปัญหา คุณไม่สามารถใช้มาตรฐานเก่าหรือรูปแบบเดิม ๆ มาแก้ไขได้เหมือนอย่างที่คุณเพิ่งอ่านจบไปนี่แหละครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทำไมการทำงานร่วมกับของมนุษย์กับหุ่นยนต์จึงกลายเป็นทางออกสำหรับการผลิตในอนาคต?