สถาบันอาหาร แจงภาพรวมส่งออกอาหารของไทย 5 เดือนแรกปี2562 (ม.ค.–พ.ค.) มีมูลค่า 435,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ส่วนตลาดอาหารอนาคตในประเทศ คาดปี 2562 มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.96 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากปี 2561 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมา สถาบันอาหาร ได้ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ดำเนินโครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ ประจำปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา จากการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 250 ราย เพื่อเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการบริหารจัดการธุรกิจแนวใหม่ แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อการออกแบบธุรกิจยุคดิจิทัล การออกแบบคุณค่า รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยการยกระดับองค์ความรู้สู่อุตสาหกรรม 4.0 และกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การยกระดับผลิตภาพด้วยกระบวนการ Lean Process และเทคนิคกลยุทธ์การตลาดในยุค Cashless Society เป็นต้น
ขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาต่อยอดเชิงลึกสู่นักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่จำนวน 25 กิจการ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาในการยกระดับผลิตภาพ และปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจในประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของกิจการโดยทีมที่ปรึกษาเข้าดำเนินการให้คำปรึกษารายกิจการ ณ สถานประกอบการ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หลักสูตรการพัฒนานักรบผู้สร้างคุณค่าเพิ่ม(Creating Value Warriors) โดยมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายนักรบ ได้แก่ Team Building , Study Visit และ Knowledge Sharing เป็นต้น
“ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกในปี 2562 จำนวน 25 ราย เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต (Future food) 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Food / Functional Food) 19 กิจการ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ (Organics) 4 กิจการ กลุ่มผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical food) 1 กิจการ และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัดสมุนไพร (Food Supplementary & Herb Extract) 1 กิจการ โดยแต่ละรายจะได้รับการยกระดับในด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น เช่น บริษัท บ้านโป่งโนวิเทจ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทางแพทย์ ยกระดับด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น บริษัท นราห์ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชาและอาหารเสริมจากพืชสมุนไพรออร์แกนิค ยกระดับด้านกระบวนการผลิตด้วย Lean Process การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร บริษัท อินทัชธนกร จำกัด ผู้ผลิตบิสกิตเพื่อสุขภาพ จากน้ำนมถั่วเหลืองเพื่อทดแทนเนย และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากถั่วเหลือง ยกระดับด้านการเพิ่มมูลค่าจากถั่วเหลือง บริษัท ซีซ่า ฟูดส์ จำกัด ยกระดับด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้อบแห้ง บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แหนม ไส้กรอก พรีไบโอติก ยกระดับด้านการจัดการกระบวนการผลิตด้วย Lean Process เพื่อลดความสูญเสีย เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 นี้”
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สถาบันอาหารยังได้จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” โดยร่วมกับผู้ประกอบการยกระดับอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้นวัตกรรมใหม่(Food Innovation for Anti-Aging) มุ่งให้ได้รับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ จัดทำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วรวม 4 ผลิตภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเป้าหมายหลายแห่งเพื่อจัด “กิจกรรมต่อยอดเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคเป้าหมาย” ล่าสุดได้นำผลิตภัณฑ์ไปแนะนำในงานประชุมที่รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในโครงการโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังและสัปดาห์โภชนาการให้ความรู้ผู้ป่วย ญาติ และผู้สนใจ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด สามารถสนองตอบความต้องการของผู้สูงอายุ และผู้ใส่ใจดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “ทอดมันกุ้งไข่ขาว” โดยบริษัท บีเลิฟเนอร์สซิ่งโฮม จำกัด จ.นครสวรรค์ เก็บรักษาแบบแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการโปรตีนในมื้ออาหารหลัก ย่อยง่าย ได้พลังงาน รับประทานง่ายไม่มีกลิ่นคาว ในอนาคตมีแผนจะจับมือกับศูนย์ดูแลสุขภาพผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ และเปิดเป็นร้านอาหารให้บริการอาหารไข่ขาวที่มีความหลากหลายทั้งคาว-หวาน
ผลิตภัณฑ์ “ขนมธัญพืช 7 ชนิด” โดยบริษัท ไทยฟู้ดส์ทูโก จำกัด จ.กำแพงเพชร อาหารว่างที่ประกอบด้วยธัญพืช รวม 7 ชนิด ได้แก่ ถั่วแดงเมล็ดเล็ก ถั่วแดงเมล็ดใหญ่ ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วดำ ลูกเดือยและข้าวเหนียวดำ ผ่านกระบวนการให้ความร้อนต้มเคี่ยวทั้งวัน จนได้เนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวง่าย อุดมด้วยโปรตีนและใยอาหารสูง เก็บรักษาแบบแช่เยือกแข็ง มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทานแบบเย็นคล้ายไอศกรีมต่อไป แนวโน้มมุ่งทำตลาดกลุ่มลูกค้าที่ให้บริการ catering ฟิตเนส ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และร้านค้าสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ “ข้าวหุงสุกเร็วผสมธัญพืช” โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดกมลไท เกษตรภัณฑ์ จ.อุทัยธานี ผลิตจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เผือกหอม มันแครอท และฟักทองที่ปลูกโดยเกษตรกร ปลอดสารเคมี ผ่านการทำให้สุกและอบแห้ง เหมาะสำหรับหุงเป็นทั้งข้าวสวยและข้าวต้ม ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ก็หอม นุ่ม พร้อมรับประทาน ได้คุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งผู้ประกอบการได้พัฒนาต่อยอดปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ข้าว กข.43 ทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมากยิ่งขึ้น เพราะเป็น Low GI และผลิตภัณฑ์ “ผงกล้วยผสมผงถั่วขาวพร้อมดื่ม” โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทุ่งโพธิ์พืชผล จ.พิจิตร เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดผง ที่มีส่วนผสมหลักคือผงกล้วยและถั่วขาวผง ที่ชงดื่มง่าย ได้ประโยชน์ สามารถผสมกับเครื่องดื่มที่ชื่นชอบ แทนครีมเทียม แต่ได้ประโยชน์ด้านการเคลือบกระเพาะ ช่วยระบบขับถ่ายและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี หลังจากนี้จะทยอยแนะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในวงกว้างต่อไป
“สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 435,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,581 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในส่วนของตลาดอาหารอนาคต(Future Food) ในประเทศ คาดว่าในปี 2562 จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.96 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากปี 2561 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาหารฟังก์ชันนัลคือกลุ่มหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 60 รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ กลุ่มอาหาร free-from เช่น ปราศจากเนื้อสัตว์ ปราศจากกลูเตน และอาหารอินทรีย์ แนวโน้มการเติบโตของอาหารอนาคตในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน ก็มีทิศทางเดียวกัน ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารต่างๆ มาใช้ในการผลิต เพื่อเป็นการยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรสู่อาหารแปรรูปในรูปแบบอาหารอนาคตอย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดส่งออกต่อไป”