Wednesday, November 27Modern Manufacturing
×

ปรับค่าแรง 400 บาท ต่างด้าวได้ประโยชน์ SMEs เจ๊ง

ส.อ.ท. วอน ภาครัฐทบทวน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ทำโครงสร้างอัตราค่าแรงเสียทั้งระบบ อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ถึงขั้นปิดกิจการ พร้อมระบุ ผู้ได้ประโยชน์ขึ้นค่าแรงคือ แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs อาจถึงขั้นเลิกกิจการเพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องนั้น จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ และจะกำหนดเป็นราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้

ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน(ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน ปี 2562) พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.82 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.63 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.0 หมื่นคน (จาก 38.37 ล้านคน เป็น 38.38 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 6.3 หมื่นคน (จาก 4.26 แสนคน เป็น 3.63 แสนคน)

ขณะที่ปริมาณแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศไทย (สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมิถุนายน 2562 กรมการจัดหางาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,268,285 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั่วไป 2.98 ล้านคน แรงงานประเภทฝีมือ 1.79 แสนคน แรงงานตลอดชีพ 241 คน ชนกลุ่มน้อย 6.2 หมื่นคน และแรงงานไป-กลับ ตามฤดูกาลอีก 4.33 หมื่นคน จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือแรงงานต่างด้าวที่จะขนเงินกลับประเทศ ทำให้ค่าแรงส่วนนี้ไม่กลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเห็นว่าค่าแรงปัจจุบันของคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงโดยทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ นายสุพันธุ์ กล่าว

ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน กล่าวว่า ส.อ.ท. ขอเสนอ นโยบายค่าจ้างและการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลัก คือ

1.การปรับอัตราค่าจ้าง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรสัมพันธ์กับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย (พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน) เช่น อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ความสามารถของนายจ้าง, ความจำเป็นของลูกจ้าง และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่อัตราเดียวทั่วประเทศ ทั้งนี้ให้พิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นหลัก และเสนอให้พิจารณาปรับคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเป็นพหุพาคี (โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชนที่สำคัญ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง) นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้นายจ้างและผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีค่าจ้างแบบกระบอกเงินเดือน (แท่งค่าจ้าง) โดยให้กระทรวงแรงงานสำรวจและจัดทำข้อมูลอ้างอิงให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานตามกำหนดของกระทรวงแรงงานอย่างทั่วถึง

2.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรกำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) ควรส่งเสริมในเรื่องการ Re Skill และ Up Skill ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานโดยให้มีแรงจูงใจจากภาครัฐ, จัดอบรมการ Up Skill หลักสูตรระยะสั้นในระดับกลางและระดับสูง (Hybrid Learning System) เพื่อให้บุคลากรมีความรู้เพิ่มพูนทักษะ, ส่งเสริมให้สถานประกอบการเพิ่มผลิดภาพ (Productivity) อย่างเป็นระบบ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยโดยมีแรงจูงใจด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มผลิดภาพของประเทศโดยรวม, จัดตั้งหน่วยงานกลางร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และกำหนดแนวทางการรับรองหลักสูตรและมาตรฐานการพัฒนาฝีมือแรงงานของภาครัฐ (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) ให้ชัดเจน, ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตบุคลากรของประเทศ โดยขยายความร่วมมือภาคเอกชนและภาคการศึกษาในการปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้สามารถผลิตบุคลากรสอดคล้องกับตลาดแรงงาน รวมทั้งขยายให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

3.การเพิ่มกำลังคนทดแทน เสนอให้วางระบบ Re -Employment สำหรับแรงงานสูงอายุ สร้างมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ โดยให้ปฏิรูประบบค่าจ้างของประเทศเพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยการส่งเสริมการจ้างแบบยืดหยุ่น และหักค่าใช้จ่ายได้ตามค่าจ้างที่เป็นจริง พร้อมทั้งควรศึกษาความต้องการแรงงานและความจำเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ส่งเสริมการนำแรงงานนอกระบบ อาทิ แรงงานชายขอบ เข้าสู่ระบบการทำงานและการจ้างงาน, จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของกระทรวงแรงงาน โดยให้กระทรวงแรงงาน (จัดหางานจังหวัด) และหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมจัดทำการสำรวจความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ อาทิ จัดทำฐานข้อมูลบัณฑิต (ปริญญาตรี) โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลต่างๆ เพื่อหาวิธีการส่งเสริมให้มีงานทำและรายได้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924