Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

อีสคาร์ (ไทยแลนด์) ผู้นำเครื่องมือผลิตชิ้นส่วนฯ ออกโปรดักส์ใหม่รับฮับยานยนต์เอเชีย

ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ซบเซาลงในช่วงปีหลังๆ มานี้ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมชะลอการลงทุนลง ที่เห็นชัด คือ สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซึ่งทรุดๆ ทรงๆ มาตั้งแต่นโยบายรถคันแรกเมื่อช่วงปลายปี 2558 ส่งผลเป็นระลอกคลื่นให้ธุรกิจต้นทางอย่างตัวแทนจำหน่ายสินค้าและบริการเกี่ยวกับเครื่องมือสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์พลอยซบเซาลงเช่นกัน

อีสคาร์ (ไทยแลนด์) ผู้นำาเครื่องมือผลิตชิ้นส่วนฯ ออกโปรดักส์ใหม่รับฮับยานยนต์เอเชีย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักก็ยังมีผู้สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง นั่นคือ บริษัท อีสคาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด มาร่วมพูดคุยกับ ‘คุณยุทธนา ธนาภูเศรษฐ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสคาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ถึงทิศทางกลยุทธ์และหลักไมล์ใหม่ของบริษัท รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อีสคาร์ยึดหัวหาดตลาดทูลส์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

บริษัท อีสคาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยนโยบายการร่วมทุนของบริษัท IMC ซึ่งเป็น Holding Company ของบริษัท ISCAR จากประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมืองานกัด กลึง เจาะ ตัด เซาะร่องโลหะแบบครบวงจร

“สำหรับอีสคาร์ (ประเทศไทย) มีนโยบายที่ให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับงานโลหะครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ งานแม่พิมพ์ งานอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนอากาศยาน และงานวิศวกรรมการผลิตอื่นๆ โดยบริษัทมีนโยบายที่จะให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทำงานได้รวดเร็วและลดต้นทุนการผลิต รวมถึงมีทีมบริการหลังการขายและรับปรึกษาเรื่องการลดต้นทุนการผลิตด้วย” คุณยุทธนากล่าวถึงนโยบายของอีสคาร์ (ประเทศไทย)

แม้ว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เสถียรนักแต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ยอดขายของอีสคาร์ (ประเทศไทย) ยังคงเติบโตและขยับขยายอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถทำยอดขายได้ 400-500%

“ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอากาศยานเป็นหลัก

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ในยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแค่รับประกอบรถยนต์ยังไม่ผลิตชิ้นส่วนเองแต่อีสคาร์ก็เริ่มเปิดตลาดเครื่องมือในประเทศไทย สมัยนั้นยังเป็นการเริ่มใช้เครื่องมือ Material Carbide เราเองจึงเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ผ่านการให้บริการด้านผลิตภัณฑ์และ Know How ด้านเครื่องมือมาตั้งแต่ยุคนั้น เราจึงเข้มแข็งมีประสบการณ์และสะสมความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้” คุณยุทธนากล่าวถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของอีสคาร์ในประเทศไทย

คุณยุทธนา ธนาภูเศรษฐ์
คุณยุทธนา ธนาภูเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสคาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

R&D หัวใจของนวัตกรรม

“เราไม่ได้สู้กับเจ้าอื่นด้วยราคายอมรับว่าสินค้าของเรามีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งแต่เรายังขายได้ เพราะสินค้าเรามีคุณภาพ บริการหลังการขายดี นโยบายของเราคือลูกค้าต้องไม่หยุดการผลิต เพราะสินค้าของเรา ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งของล่าช้าเราได้เกรด A จากลูกค้ามาตลอด

ไลน์การผลิตของลูกค้าของเราต้องไม่เจอปัญหา เพราะเราเข้าใจดีว่าไลน์ผลิตต้องทำงาน 24 ชั่วโมง หยุดไม่ได้จนกลายเป็นจุดแข็งของเราไปเลยว่า เราคานึงถึงลูกค้าสินค้าเรามีความเสถียร พร้อมจัดส่ง และพร้อมให้บริการ” คุณยุทธนากล่าวถึงจุดแข็งของอีสคาร์ (ประเทศไทย)

การรักษาลูกค้าเก่าทั้งด้านสินค้าและบริการหลังการขายนั้น คุณยุทธนากล่าวถึงวิธีการว่าหลังจากตกลงเป็นคู่ค้ากับลูกค้าแล้ว อีสคาร์ไม่ได้มีหน้าที่จำหน่ายหรือส่งของเท่านั้น แต่ดูแลและรักษาไลน์การผลิตของลูกค้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ ยังเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการให้ความรู้และลูกค้าได้ทดลองจริง

หากลูกค้าเติบโตและประสบความสำเร็จย่อมถือเป็นความสำเร็จของอีสคาร์ด้วย หรือหากเติบโตไปด้วยกันจะยั่งยืนที่สุด

อีสคาร์ให้ความสำคัญเรื่อง R&D มาก ระบุไว้ชัดเลยว่า 5% ของยอดขายต้องตัดเข้างบทีม R&D ซึ่งมีทีมงานกว่า 200 คน มีศูนย์ R&D อยู่ที่บริษัทแม่ที่อิสราเอล ซึ่งเราก็พาลูกค้าเราไปดูงานเพื่อให้เห็นว่าเราวิจัยอะไร พัฒนาผลิตภัณฑ์แบบไหน สร้างนวัตกรรมอะไรบ้าง เราพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งนับเป็นหัวใจของอีสคาร์เลยก็ว่าได้” คุณยุทธนากล่าวถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

เม็ดมีด Penta-IQ-Gripอีสคาร์เพิ่มขนาดเม็ดมีดใหม่
เน้นงานละเอียดใช้ได้นานลดต้นทุนการผลิต

ด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้อีสคาร์มีโปรดักส์ใหม่เอาใจภาคอุตสาหกรรม โดยไฮไลท์ คือ สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น การเพิ่มคุณภาพและความละเอียดของตัวชิ้นงาน ทั้งงานตัด เจาะ กัด หรือเซาะร่อง รวมถึงขยับขยายมาสู่เครื่องมือทำเกลียวด้วย

เม็ดมีด’ ถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพราะหากเลือกไม่ดีนอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแล้ว ยังอาจทำให้ชิ้นงานไม่ได้คุณภาพหรืออาจมี Error มากได้

คุณยุทธนาแนะนำถึงสินค้าใหม่ของอีสคาร์ที่นอกจากจะเพิ่มอายุการใช้งานแล้ว ยังมีนวัตกรรมเพิ่มความประณีตและความละเอียดของตัวชิ้นงานได้อีกระดับ โดยมีทั้งเม็ดมีดเพื่องานตัด กัด และคว้าน อาทิ….

เม็ดมีด Penta-IQ-Grip สำหรับงานตัดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 มม. และ 32 มม. มี 5 คม สำหรับตัดชิ้นงานที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 400 มม. และตัดที่ความลึกสูงสุด 200 มม. นอกจากได้ความเที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้นแล้ว ยังถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้ง 2 ด้าน คมมีดและรูปทรงคมตัดที่สามารถตัดได้ทั้งแบบ C และแบบ J ทำให้สามารถทำงานได้หลากหลายแบบ และหลากหลายวัสดุเหมาะกับเครื่อง CNC ขนาดเล็ก

DOVE IQ MILL 845 LINE สำหรับงานกัดอยู่ในตระกูล IQ845 เป็นชุดมีดกัดหน้าตั้งฉากที่ประกอบด้วยเม็ดมีดแปดเหลี่ยมจัตุรัสที่มีคมตัด 8 ด้านมีคุณสมบัติในการกัดวัสดุที่แข็งมากโดยด้านคมตัดที่เอียงออกสูง ซึ่งสามารถกัดงานที่ตัวการผิวที่มีคุณภาพสูงในงานผิวขรุขระด้วย

BAYO T-REAM ระบบคว้านความเร็วสูงที่นอกจากจะเพิ่มความเร็วมีดและความเร็วในการป้อนมีด ยังออกแบบให้มีรูนำหล่อเย็นภายในที่เชื่อมต่อกับคมตัดแต่ละคมเพื่อประสิทธิภาพการหล่อลื่นสูงสุดและเพิ่มอายุมีดให้ยาวมากขึ้น และเนื่องจากใช้วัสดุคงทนโดยส่วนหัวเป็นคาร์ไบด์และส่วนด้ามเป็นเหล็กกล้าจึงมีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้นเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ผลิตจำนวนมากๆ

“นวัตกรรมของอีสคาร์จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญ คือ ผู้ผลิตจะได้สินค้าคุณภาพที่คุ้มค่าต่อการลงทุน” คุณยุทธนากล่าว

ฮับยานยนต์ไม่ใช่แค่ฝัน

คุณยุทธนายังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯว่า เกือบทุกบริษัทยานยนต์จากทั่วโลกเข้ามาตั้งโรงงานหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยกันหมดแล้ว จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดสาขาหนึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP ฉะนั้น เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดีหรือร้ายขึ้่นอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนหนึ่งเลยทีเดียว

“ปีที่ผ่านมาตลาดรวมในประเทศไทยเราส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่าเกือบ 7 แสนล้านบาท

ปัจจุบันเมืองไทยยังเป็นฐานการผลิตยอดนิยม เราเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 11 ของโลก

ปีที่ผ่านมาเราผลิตรถยนต์ได้ 1.85-1.9 ล้านคัน และสำหรับปี 2560 ทางสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 7.5-8 แสนคัน และส่งออกประมาณ 1.2 ล้านคัน ตลาดปีนี้อาจไม่โตมากแต่ในปีถัดไปมีแนวโน้มโตมากขึ้น ซึ่งอาจจะถึง 3 ล้านคันต่อปีได้เลย

หากเป็นไปตามเป้านี้บริษัทขายซัพพลายทูลส์ อย่างเราย่อมได้รับผลบวกไปด้วย” คุณยุทธนาวิเคราะห์

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีการย้ายฐานการผลิตทั้งการประกอบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย แต่คุณยุทธนามองว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นฐานหลักในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศจีนที่เคยถูกมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญก็ไม่ได้น่ากลัว เพราะค่าแรงสูงกว่าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าส่วนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คิด เพราะแม้ว่าจะมีค่าแรงถูกแต่กลับติดปัญหาหลายอย่าง อาทิ การขอสิทธิพิเศษในการลงทุน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่เสถียร เทคโนโลยีหรือ Know How ต่างๆ ยังไม่เข้มแข็ง และบุคลากรไม่มีประสบการณ์เมื่อเทียบกับประเทศไทย

อีสคาร์ยึดหัวหาดตลาดทูลส์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คุณยุทธนาเชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการลงทุนด้านยานยนต์ มีความหวังและโอกาสมากในการเป็นฮับด้านยานยนต์หรือดีทรอยด์แห่งเอเชีย

New S-Curve และอุตสาหกรรม 4.0

“เกี่ยวกับ 4.0 หรือการใช้ระบบดิจิทัล รัฐอาจไม่ต้องประกาศด้วยซ้ำ เพราะพวกธุรกิจและอุตสาหกรรมอัพเดทเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเองตลอดเวลา เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หน้าที่ของภาครัฐ คือ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เอื้อต่อประชาชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างหาก” คุณยุทธนากล่าวถึงกระแส 4.0

ส่วนภาคอุตสาหกรรมถือเป็นโอกาสในการขยับตัวจากภาคการผลิตเดิมๆ ไปสู่การต่อยอดรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือ New S-Curve อย่างชิ้นส่วนอากาศยานและชีวการแพทย์ คุณยุทธนาวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ว่าชิ้นเล็กหรือใหญ่ต้องมีโลหะเป็นส่วนประกอบไม่มากก็น้อย และในเมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ไทยเข้มแข็งมาก ทั้งด้านประสบการณ์และบุคลากรจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะอัพเดทเทคโนโลยี เพื่อการผลิตที่ละเอียดและประณีตขึ้นรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

ที่น่าสนใจ คือ อีสคาร์เองนอกจากมีสินค้าด้านซัพพลายทูลส์สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้วปีหลังๆ มานี้ ยังหันมาให้ความสำคัญกับชิ้นส่วนอากาศยานและชีวการแพทย์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เกี่ยวกับออโตเมชันและโรบอติกส์ คุณยุทธนากล่าวว่ามีการลงทุนในโรงงานให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ยังยืนยันจะใช้แรงงานคน เพราะต้นทุนแรงงานถูกกว่าและที่สำคัญคือเคยชินยังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง“ตอนนี้อาจดูเหมือนไม่คุ้ม ออโตเมชันและโรบอติกส์ ดูเหมือนลงทุนสูงและปัญหาเยอะ ทั้งโปรแกรมไม่นิ่งเทคโนโลยีไม่เสถียร แต่ในระยะยาวค่าแรงคนแพงขึ้นทุกวัน การเริ่มพัฒนา Know How ตั้งแต่ตอนนี้ก็ได้รู้เร็วกว่าไปได้ไกลกว่า” คุณยุทธนาวิเคราะห์ทิ้งท้าย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924