บีโอไอ เดินสายโรดโชว์ 2 เมืองธุรกิจออสเตรเลีย เผย นักลงทุนออสเตรเลียให้ความสนใจอีอีซี และการใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจสู่อาเซียน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนที่นครเมลเบิร์น เมืองหลวงของรัฐวิคตอเรีย และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ และนครแอดิเลด เมืองหลวงของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองเมืองเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของประเทศออสเตรเลีย โดยได้พบปะหารือกับกงสุลกิตติมศักดิ์ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ และนักธุรกิจรายสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ กลุ่มดิจิทัล และธุรกิจด้านการศึกษา
ทึ้งนี้บีโอไอได้จัดสัมมนาการลงทุน Thailand : Unbeatable Business Opportunity ใน 2 เมืองใหญ่ของออสเตรเลีย มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80 ราย ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี และได้ซักถามในหลายประเด็น เช่น โอกาสใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นในอาเซียน การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีกับประเทศต่างๆ หลักเกณฑ์การถือครองหุ้นของต่างชาติ โอกาสทางการตลาดของธุรกิจด้านการศึกษา และความคืบหน้าของโครงการอีอีซี ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานบีโอไอที่ออสเตรเลียติดตามนักธุรกิจกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่ผ่านมาชาวออสเตรเลียรู้จักประเทศไทยในแง่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว แต่ในงานสัมมนาครั้งนี้ บีโอไอได้เน้นนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในด้านการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสำคัญที่ออสเตรเลียให้ความสนใจ ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะที่จะดึงการลงทุนจากออสเตรเลีย เนื่องจากต้นทุนค่าแรงในออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นมากติดอันดับโลก
อีกทั้งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้บริษัทออสเตรเลียเริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีอัตราการขยายตัวสูงและมีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้สถาบันการศึกษาชั้นนำในออสเตรเลียหลายแห่งก็แสดงความสนใจจะมาจัดตั้งวิทยาเขตหรือศูนย์พัฒนาบุคลากรในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างอีอีซีด้วย
และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 (มีนาคม) มีโครงการลงทุนจากออสเตรเลียยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 207 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 62,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อาหารสัตว์ อุปกรณ์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์โลหะ กิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น