Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

Automotive Summit | อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

ปี 2563 นี้ จะมียอดซื้อยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยเกินกว่า 50,000 คัน

Smart Mobility ไม่ใช่แค่ประหยัดพลังงานแต่ยังให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้โดยสาร

ถ้าพูดกันในวันนี้ก็คงจะฟังดูเป็นเรื่องยากห่างไกลเหลือเกิน เพราะเอาแค่รถยนต์ Hybrid ก็ยังไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ ทั้งกลัวปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ ราคาที่ยังค่อนข้างสูง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง Plug-in Hybrid หรือ Electric Vehicle ที่ต้องพึ่งพาสถานี Charger อีก

แต่นี่คืออนาคตที่หลีกอย่างไรก็ไม่พ้น อยู่ที่ใครจะมีวิสัยทัศน์ปรับตัวได้เร็วกว่า แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ตาม แต่เราก็มีแผนนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เริ่มเดินหน้าแล้ว และเอกชนนี่แหละคือแรงผลักดันที่สำคัญ โดยในงานแถลงข่าว ‘ปรับทัพอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย รับกระแส Smart Mobility สู่การผลิตแห่งอนาคต พร้อมเปิดตัว Automotive Summit 2019’ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน – กรรมการสถาบันยานยนต์ ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งทีมงาน Modern Manufacturing ขอนำมาสรุปเป็นประเด็นดังนี้

ยานยนต์ยังเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางมรสุมสงครามการค้า
อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นเสาหลัก 1 ใน 10 เสา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ หรือที่เราเรียกกันว่า New S-Curve ซึ่งตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น มีการปรับตัวและฟื้นตัวจากทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และจากนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้การผลิตและจำหน่ายรถยนต์หลังจาก 2560 มีการเติบโตจากราว 1.5 ล้านคัน เป็นกว่า 2 ล้านคันในปี 2561 ที่ผ่านมา

สำหรับการคาดการณ์ของปีนี้ น่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อยอดการส่งออกรถยนต์ แต่ความต้องการภายในประเทศเติบโตราว 10% ดังจะเห็นได้จากยอดการผลิตรถยนต์ในไตรมาสแรกที่ 716,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน – กรรมการสถาบันยานยนต์

แนวโน้มยานยนต์สมัยใหม่มีความต้องการสูงขึ้น
ยานยนต์สมัยใหม่เริ่มทำตลาดตลาดเมืองไทยใน 2560 โดยมีตัวเลขยอดขายที่มีการจดทะเบียน 8 พันกว่าคัน และโตก้าวกระโดดเกิน 300% มาเป็น 25,000 คัน ในปี 2561 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงค์มาจาก Plug-in Hybrid จึงไม่แปลกที่จะคาดว่ายอดในปีนี้มีโอกาสสูงเกินกว่า 36,000 คัน และจะแตะระดับ 50,000 คันได้ในปี 2563

ค่ายรถยนต์จับมือภาครัฐ เดินไปปรับไป
เมื่อยานยนต์สมัยใหม่เป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น รัฐบาลเองก็พยายามเข็นมาตรการส่งเสริมอย่างหนักซึ่งก็ต้องทั้งชื่นชมและเห็นใจ เพราะต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีด้านนี้ยังใหม่กับประเทศไทยมาก ดังนั้นการเริ่มต้นให้เร็วแม้จะยังไม่ชัดเจนที่สุดนี้ คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าอกเข้าใจและร่วมกันพัฒนา จนถึงขณะนี้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI ได้แล้วทั้งสิ้นถึง 9 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วยการผลิตรถยนต์ Hybrid จำนวน 4 บริษัท / ผลิต Plug-in Hybrid จำนวน 4 บริษัท และอีก 1 บริษัทยื่นขอการสนับสนุนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle

ทั้งหมดนี้มีกำลังการผลิตเต็มที่ได้ถึง 500,000 คันต่อปี ถ้าเทียบกับตัวเลขราว 2 ล้านคันในปีนี้ ก็นับเป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศเลยทีเดียว แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นี้เพราะยังมีอีก 7 บริษัทที่กำลังอยู่ในกระบวนการขอผลิต EV

แบตเตอรี่ | พระเอกยุคใหม่ ทรงคุณค่า ค่าตัวแพง
หลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำเปรียบเปรยจากวงการ Smartphone ที่ว่า เทคโนโลยีแบตเตอรี่ล้าหลังและพัฒนาช้ากว่าความสามารถของ Smartphone หลายสิบเท่า อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน และนี่คือปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคยังรู้สึกไว้วางใจเครื่องยนต์สันดาปมากกว่ายานยนต์สมัยใหม่ แต่ผู้ประกอบการไทยก็มีความกล้าเสี่ยงและมองการณ์ไกลทีเดียว โดยมีผู้ขอรับการส่งเสริมในการผลิตแบตเตอรี่แล้ว 5 บริษัท และมี 2 บริษัทที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้วคาดว่าจะเปิดได้ในปีนี้เลย

คนไทยต้องปรับตัวอย่างไร
ที่จริงยานยนต์สมัยใหม่ก็มีอะไรที่คล้าย ๆ รถยนต์ทุกวันนี้อยู่ไม่น้อย บางส่วนก็แค่แตกต่าง แต่บางส่วนก็ใหม่ทั้งหมด แต่ประเทศเราเองก็เป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคอยู่แล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องเร่งปรับตัวให้เป็นซัพพลายแก่ยานยนต์สมัยใหม่ เลิกเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต แต่ต้องเข้าร่วมพัฒนาชิ้นส่วนหรือเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบรถยนต์และเรียนรู้ยานยนต์สมัยใหม่รูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เห็นทิศทางในการปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เหมาะสมที่สุด เช่น ทำอย่างไรให้สามารถผลิตตัวถังที่เบาขึ้นด้วยวัสดุใหม่ ๆ หรือการออกแบบมอเตอร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภาครัฐเตรียมความพร้อมหลายด้าน
การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้มันต้องมีมาตรการผลักดัน เพราะถ้าอยู่กันเฉย ๆ ก็คงไม่เกิด สำหรับภาครัฐก็กำลังจัดเตรียม Infrastructure และกลไกต่าง ๆ เช่น การวางกฎระเบียบ การกำหนดมาตรฐานปลั๊กชาร์จ รวมถึงศูนย์ทดสอบยานยนต์แห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนซึ่งมีการวางแผนให้มีหน่วยทดสอบคุณภาพแบตเตอรี่แห่งเดียวในอาเซียนอีกด้วย ทำให้เรามีโอกาสให้บริการทดสอบแก่บริษัทจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำให้เราเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ แม้ในตอนนี้เรายังไม่มีคณะรัฐมนตรี แต่ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยถือวันชัดเจนมากพอสมควรและรอไม่ได้ รับรองว่าปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังทำงานเต็มที่ไม่มีเกียร์ว่างแน่นอน – คุณอดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ทำไมต้องมา Automotive Summit 2019
นี่คือโอกาสที่คนไทยจะได้สะสมองค์ความรู้ เพราะในงานจะมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ ที่มาถ่ายทอดให้ฟัง ไม่ใช่แค่รู้ว่ายานยนต์สมัยใหม่นั้นดีอย่างไร มีชิ้นส่วนอะไรบ้าง แต่ลงลึกเลยว่าขั้นตอนการพัฒนาของแต่ละส่วนนั้นคืออะไร ทำไมบางเทคโนโลยีต้องปรับ และบางเทคโนโลยีต้องเปลี่ยนทั้งหมด

ยานยนต์สมัยใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องยนต์ขับเคลื่อน แต่รวมถึงเรื่องของการเชื่อมต่อสรรพสิ่ง คน รถรอบข้าง สถานที่ รวมถึงพาหนะที่ขับขี่ด้วยตัวเอง ซึ่งรถทุกวันนี้ก็มีพื้นฐานความฉลาดเหล่านี้แล้วบ้าง เช่น ระบบ Cruise Control ระบบเบรคอัตโนมัติ หรือออพชั่นด้านความปลอดภัยอย่างกรณีที่เด็กติดอยู่ในรถยนต์แล้วเราต้องสามารถควบคุมการเปิดประตูได้จากระยะไกล

ผู้ประกอบการต้องเข้าใจในความรู้เหล่านี้ก่อนจึงจะเกิดไอเดียในการลงทุนเทคโนโลยีสายการผลิต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานซ้ำ ๆ ได้ดีกว่าคน รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่จำเป็นสำหรับเพิ่มผลิตภาพที่ดีขึ้นเพื่อการแข่งขัน

ในโอกาสนี้ คุณสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ – รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ยังได้เสริมถึงบทบาทของงาน Trade Exhibition ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่างาน Automotive Summit 2019 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Manufacturing Expo 2019 ที่รวบรวมเครื่องมือเครื่องจักรด้านการผลิตกว่า 2,400 แบรนด์จาก 16 ประเทศ โดยภายในงานประกอบด้วย 5 เทคโนโลยีที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่

  1. InterPlas – อุตสาหกรรมพลาสติก
  2. InterMold – อุตสาหกรรมแม่พิมพ์
  3. Automotive Manufacturing – การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
  4. Assembly & Automation – เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเพื่อการประกอบรถยนต์
  5. Surface & Coating – เทคโนโลยีด้านพื้นผิวและวัสดุ
คุณสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ – รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ผู้จัดงาน Automotive Summit 2019

คุณสุทธิศักดิ์เล่าต่อว่า 90% ของผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในซัพพลายเชนของยานยนต์สันดาป การปรับตัวคือสิ่งจำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเรามีการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 182,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 174,000 ล้านบาท โดยประเทศที่เรานำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี แสดงว่าคนไทยมีการปรับตัวด้านเทคโนโลยีการผลิตไม่น้อย

ทั้งนี้ ยานยนต์สมัยใหม่หรือ Smart Mobility นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่รถสี่ล้อ แต่รวมถึงพาหนะอื่น ๆ รถ เครื่องบิน เรือ จักรยาน ซึ่งเชื่อว่าคนไทยเองมีความยืดหยุ่นในการขยายตัวได้ครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับ Automotive Summit นั้นคือแพลตฟอร์มที่รวบรวมเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ที่สุดในอาเซียนมาจัดแสดงเพื่อการ Transform ของผู้ประกอบการไทย เช่น เทคโนโลยี Material ใหม่ ๆ น้ำหนักเบา แบตเตอรี่ เซนเซอร์ เทรนด์ด้านระบบอัตโนมัติที่ช่วยเพิ่มคุณภาพ ลดลีดไทม์ และนอกจากนี้ ยังส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจด้วยแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นจำนวนมากที่ต้องการคู่ค้าในประเทศไทย

Automotive Summit จัดร่วมกับ Manufacturing Expo 2019

ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาร่วมงานนี้ โดยขอแนะนำให้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในงานจากเวบไซต์ของผู้จัด www.manufacturing-expo.com เพื่อวางแผนการใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

ไม่ว่าในปีนี้แม้ว่าบรรยากาศภายในประเทศจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ยานยนต์ก็ยังเติบโตและแข็งแกร่งต่อเนื่องเพราะผู้ประกอบการของไทยเราไม่ยอมแพ้ และเมื่อเราได้รับการส่งผ่านองค์ความรู้กันอย่างทั่วถึง ประเทศไทยก็จะเห็นอนาคตว่าเราควรเดินไปอย่างไร – คุณสุทธิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

Automotive Summit 2019 จัดในวันที่ 19-20 มิถุนายน ณ ศูนย์ประชุมไบเทคสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วได้ที่ www.manufacturing-expo.com โดยงานจัดร่วมกับ Manufacturing Expo 2019 ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน ลงทะเบียนครั้งเดียวสามารถชมงานได้ทุกวันทุกโซน
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924