สศอ. เผย MPI เดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ 2.54 ได้รับผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ชี้ตลาดส่งออก CLMV ยังเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง
สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2562 ยังคงแข็งแกร่งแม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอากาศที่ร้อนจัดที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรมีผลผลิตลดลง โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวลงร้อยละ 2.54 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แนะจับตา มองตลาดส่งออกกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 27 เดือน
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2562 ยังคงแข็งแกร่งแม้ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัดที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีจำนวนลดลง รวมถึงการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวลง ร้อยละ 2.54 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 หดตัวลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ควรจับตามองตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV จากที่มีการปรับลดภาษีตามข้อตกลง AFTA เป็นร้อยละ 0 ในกลุ่ม CLMV ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2561เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังประเทศกลุ่ม CLMV มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่27 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI เดือนมีนาคม 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม ยา ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันปาล์ม
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคมมีการขยายตัว ได้แก่
รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง โดยเป็นไปตามความต้องการของตลาดภายในประเทศหลังสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก ผู้ผลิตได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย (บางกอกมอเตอร์โชว์) โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 27 แล้ว รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ส่งผลให้ปริมาณการผลิครถยนต์สูงที่สุดในรอบ 68 เดือน
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ยา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาฉีด ยาผง และยาครีม เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้เร่งการผลิตเต็มที่หลังจากการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ตั้งแต่ต้นปี
ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปีนี้มีปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงการเปิดช่องทางใหม่ ๆ ในการจำหน่ายสินค้า และขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศพม่า มาเลเซีย และกัมพูชา
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและปาล์มบริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัดจึงส่งผลให้ผลปาล์มสุกเร็วขึ้น อีกทั้งเกษตรกรหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนมาปลูกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น
สรุปภาวะอุตสาหกรรมสาขาสำคัญไตรมาสที่ 1 ปี 2562
อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 การผลิตรถยนต์ 561,487 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.04 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 263,549 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ11.16 และเป็นการส่งออก 299,841 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ยังคงทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 และ 0.1 ตามลำดับ แม้จะมีปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับสินค้าเกษตรที่ Over Supply ในปีก่อนอย่างสับปะรดกระป๋อง โดยการผลิตสับปะรดกระป๋องในปีก่อนฐานค่อนข้างสูงและระดับราคาปรับตัวลดลงมาก รวมทั้งการเร่งระบายสต็อกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งที่ผลิตไว้ในช่วงปลายปี และฐานในปีก่อนค่อนข้างสูง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญจากการเร่งกำลังการผลิตน้ำตาลให้ทันช่วงปิดหีบอ้อย อีกทั้งความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และไก่แปรรูปในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศอาเซียน
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 จากการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาปิโตรเคมีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,185 เหรียญสหรัฐ/ตัน