สมอ. กำหนดมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหาร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคและสนับสนุนลดการใช้พลาสติก
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้กระดาษมาบรรจุอาหารอย่างแพร่หลาย เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกและโฟมซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากทำให้เกิดปัญหาด้านขยะและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2561 พบว่า มีการนำเข้ากระดาษสัมผัสอาหารสำหรับใช้ในประเทศ มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท และพบว่ามีการใช้กระดาษสำหรับงานพิมพ์และเขียนมาทำเป็นภาชนะกระดาษสำหรับสัมผัสอาหาร ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ เนื่องจากกระดาษดังกล่าวอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้น สมอ. จึงได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระดาษสัมผัสอาหาร ขึ้น โดยเบื้องต้นได้กำหนดมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารที่ใช้บรรจุอาหารทั่วไป และอาหารบรรจุขณะร้อน เช่น แก้วกาแฟ โดยกำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป มอก. 2948-25xx คาดว่าจะดำเนินการประกาศเป็น มอก. ภายในปี 2562 และหลังจากนั้นจะกำหนดมาตรฐานกระดาษสัมผัสอาหารที่ใช้กับ เตาอบ เตาไมโครเวฟและการใช้ที่อุณหภูมิสูง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ปี 2563
สำหรับ กระดาษสัมผัสอาหาร หมายถึง กระดาษ กระดาษแข็ง และภาชนะกระดาษ ที่นำมาใช้ห่อหุ้ม บรรจุ หรือรองรับอาหารในรูปของ จาน ชาม ถาด ถ้วย กล่อง ถุง ที่ทำจากกระดาษหรือกระดาษแข็ง รวมถึงภาชนะทำจากเยื่อกระดาษที่ขึ้นรูปเป็นภาชนะแล้วนำไปทำให้แห้ง
ทั้งนี้ข้อกำหนดในมาตรฐานจะมีการควบคุมและทดสอบปริมาณสารอันตรายที่มีโอกาสปนเปื้อนกับอาหาร เมื่อใช้งานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้ โรงงานผู้ผลิตกระดาษต้องมีการควบคุมคุณภาพในการผลิต และฉลากผลิตภัณฑ์ต้องมีการระบุข้อความที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้งาน อาทิ ประเภทอาหารที่ใช้หรือห้ามใช้กับกระดาษสัมผัสอาหารนี้ เช่น เหมาะสำหรับอาหารทั่วไป ห้ามใช้กับอาหารที่มีไขมัน อุณหภูมิสูงสุดในการบรรจุอาหาร และมีสัญลักษณ์แสดงว่าสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือแสดงข้อความ “ใช้สัมผัสอาหารได้” เพื่อให้ผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอาหาร สามารถนำกระดาษสัมผัสอาหารดังกล่าวไปใช้ได้อย่างปลอดภัย