Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

บริหารองค์กรสู่ความยั่งยืน…ด้วยแนวทางสีเขียว

แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ปี โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ “บริหารองค์กรสู่ความยั่งยืน ด้วยแนวทางสีเขียว” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณกุลชุดา ดิษยบุตร และคุณอุรศา ศรีบุญลือ วิทยากรที่ปรึกษา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมบรรยายไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Green Think บริหารองค์กรสู่ความยั่งยืน...ด้วยแนวทางสีเขียว

CSR ไม่ใช่การบริจาค ไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร และไม่ใช่การทำคนเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมร่วมกัน การทำ CSR นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ CSR In Process เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการหลักขององค์กรหรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ และ CSR After Process เป็นการดำเนินการที่ต่างจากกระบวนการหลักขององค์กร เช่น การแจกจ่ายสิ่งของ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ การบรรเทาความทุกข์ เป็นต้น

ทำไมต้องเป็นองค์กรสีเขียว

การทำธุรกิจเพื่อให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ทั้งความรับผิดชอบภายใน อาทิ การบริหารความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การเพิ่มคุณภาพ การลดต้นทุน การลดของเสีย และกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ละทิ้งความรับผิดชอบภายนอกในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตอบสนองความต้องการของลูกค้า การตื่นตัวในการสร้างนวัตกรรม และการสร้างชื่อเสียง (Brand Image) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทำอย่างไรให้องค์กรเป็นองค์กรสีเขียว

การใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการทำลายและการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ผู้ส่งมอบ ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ผู้ขนส่ง และผู้ค้าปลีก เพื่อให้ทุกองค์กรมีเป้าหมายเดียวกันหรือสอดคล้องกัน

การจัดหาผู้ส่งมอบสีเขียว ถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญ โดยการส่งเสริมให้ผู้ส่งมอบนำแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมไปใช้ และมุ่งเน้นในเรื่องวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแนวทางปฏิบัติของผู้ส่งมอบ

ทั้งนี้ สิ่งที่องค์กรจะได้รับนั้นมีทั้งการลดต้นทุน เพิ่มกำไร สามารถใช้สินทรัพย์ได้อย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และดึงดูดความสนใจให้แก่นักลงทุน

มาตรฐานสีเขียวกับความยั่งยืน

มาตรฐานสีเขียวมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่มาตรฐานหลักๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีอยู่ด้วยกัน 3 มาตรฐาน คือ ISO 14001, ISO 50001 และ ISO 26000

  • ISO 14001 : มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นกรอบงานสำหรับระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยให้มีการจัดการผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ป้องกันการเกิดมลพิษ
  • ISO 50001 : มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน เป็นกรอบงานสำหรับการจัดการพลังงาน เพื่อให้องค์กรมีระบบและกระบวนการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานมีผลทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบอื่นๆ
  • ISO 26000 : มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ให้แนวทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งหวังให้ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกภาคส่วน ซึ่งไม่มีข้อกำหนดในการนำ ISO 26000 ไปใช้ในการรองรับและไม่ใช้มาตรฐานบังคับแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องการนำไปใช้ด้วยความสมัครใจ

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางสีเขียวนั้น เป็นการตอบสนองความต้องการคนรุ่นปัจจุบัน ที่ไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานตรงกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต้องคำนึงถึง 3 เสาหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ ให้คนในสังคมอยู่ดีมีสุข

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924