สศอ. จับมือ สถาบันฯ สิ่งทอ และผู้ประกอบการสิ่งทอ ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และโรงพยาบาล ร่วมพัฒนาสิ่งทอทางการแพทย์รองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” เป็นสาขาอุตสาหกรรมสำคัญที่อยู่คู่กับการพัฒนาประเทศไทย มานานกว่า 70 ปี เป็นอุตสาหกรรมแรก ๆ ของประเทศที่นำการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีสามารถนำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นที่รองรับแรงงานจำนวนมากกว่า 5 แสนคน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2548-2558 โครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยได้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า เป็นช่วงหนึ่งทศวรรษซึ่งไร้ทิศทางทำให้ภาคเอกชนจำนวนมากต้องเลิกกิจการ บางรายขยายกิจการสู่ภูมิภาค บางรายเปลี่ยนธุรกิจหลักจากการผลิตเป็นการค้า ธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนได้ตัดสินใจขยายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแรงงานและค่าจ้างที่ต่ำกว่า รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน
ดังนั้น ทิศทางและทางรอดของผู้ประกอบการคงหนีไม่พ้นที่จะต้องเร่งหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆในการยกระดับธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งคงต้องเน้นไปที่การผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดิม รวมถึงสร้างความหลากหลายให้กับวัตถุดิบสิ่งทอซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมการผลิตสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษและมีความสามารถในการใช้งานที่หลากหลาย แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม “สิ่งทอเทคนิค” จุดปรับเปลี่ยนที่ท้าทายของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
ประเทศไทยมีผู้ผลิตสิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอเทคนิค จำนวน 553 ราย กระจายอยู่ในกลุ่มสิ่งทอเทคนิคสำคัญ คือ สิ่งทอเทคนิคทางยานยนต์ สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ สิ่งทอเทคนิคสำหรับบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอเทคนิคสำหรับการเกษตร และสิ่งทอเทคนิคสำหรับที่พักอาศัย ซึ่งสิ่งทอเทคนิคดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงถึงเกือบหนึ่งแสนล้านบาท และที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการวิเคราะห์ศักยภาพและความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค ซึ่งพบว่า สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ (Meditech) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงทางการตลาดและมีสัดส่วนกำไรสูง ที่จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของชุดเสื้อกาวน์ผ่าตัดปลอดเชื้อประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable gown) รวมถึง ถุงมือ หมวกคลุมศีรษะ ที่คลุมรองเท้า หน้ากากอนามัย ถุงบรรจุวัสดุ Disposal นอกจากนี้ ผ้าม่าน ผ้าบังเตียงแบบ Self-cleaning ในห้องผ่าตัด ผ้าปูเตียงผู้ป่วยที่สามารถลดการเกิดแผลกดทับ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดีกว่าสิ่งทอทั่วไป สอดคล้องกับกระแสการดูแลรักษาสุขภาพที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน Global Healthcare Industry Outlook 2018 ระบุว่า ในปี 2561 Healthcare Industry มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากปีก่อน สอดคล้องกับ
การคาดการณ์ของ Global Health Care Outlook ที่ประมาณการมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดูแลรักษาสุขภาพของโลกว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.1 ต่อปี ในช่วงปี 2560-2564 โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี และ ปัจจุบันสิงคโปร์และไทยได้ขยับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเริ่มมีแนวโน้มดังกล่าว
ประกอบกับประเทศไทยถูกจัดเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติให้การยอมรับอย่างกว้างขวางด้านการบริการรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพสูง โดยในปี 2560 มีชาวต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยมากถึง 4.4 ล้านคน แสดงให้เห็นศักยภาพและโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่จะเชื่อมโยงสู่ตลาดใหม่ในธุรกิจการแพทย์ที่ครบวงจร ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-curve ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยมีฐานเดิมที่แข็งแรง ไปสู่การยกระดับการให้บริการคุณภาพสูง และการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ ส่งผลให้ สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ หรือ Medical textiles สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตใหม่
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ (Medical textiles) ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิต และการตลาดที่จะนำไปสู่โอกาสและประโยชน์ทางการค้า การลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอสมัยใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคตตามนโยบายรัฐบาล
นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การสัมมนา Medical Textiles : นวัตกรรมสิ่งทอไทย ฟันเฟือนใหม่สู่อุตสาหกรรมอนาคต เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อความต้องการระหว่างผู้ผลิต ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้จัดจำหน่าย และผู้ต้องการใช้สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ ให้พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ที่ตรงตามความต้องการใช้งาน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์แบบครบวงจร ในลักษณะสิ่งทอสมัยใหม่ที่มีความหลากหลาย แตกต่างจากคู่แข่ง และผลิตโดยคนไทย (Made in Thailand)
โดยคาดว่าในอนาคตการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ จะมีมูลค่าเติบโตและเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากมูลค่าการส่งออกสิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ของไทยในปี 2561 มีมูลค่ารวม 59.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 7.0 โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกอันดับต้น ๆ คือ ผ้าพันแผลผ้าก๊อซ ของใช้เพื่อการอนามัยที่ทำด้วยแผ่นเยื่อของเส้นใยเซลลูโลส และ เอ็นเย็บแผล ตามลำดับ นอกจากนี้ตลาดในประเทศยังมีการเติบโตที่ดีมาก ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในการยกระดับสู่อุตสาหกรรมอนาคต