Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

Creativity & Innovation: ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการแปรความคิดไปสู่นวัตกรรม

ในประเทศไทยจะมีใครสักกี่คนที่ทราบว่า “ธนญชัย ศรศรีวิชัย” เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับหนังโฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก (The Most Awarded Directors in The World) คนไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงการโฆษณาระดับโลกได้ สิ่งใดเล่าที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ถึงเพียงนี้?

Creativity & Innovation: ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการแปรความคิดไปสู่นวัตกรรม

ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวเราทุกคน เพียงแต่ใครจะสามารถดึงความสามารถในการใช้ความคิดนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ทักษะ กระบวนการคิดที่เป็นระบบ ที่สำคัญต้องอยู่นอกกรอบความคิดเหล่านั้นด้วย

การคิด” เป็นกระบวนการทางการรับรู้ที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษย์ เกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนหน้าหรือสมองใหญ่ ที่เรียกว่า Cerebrum สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับความจำ สติปัญญา การตัดสินใจ อารมณ์และการเรียนรู้ สมองซีกซ้ายช่วยคิดด้านตรรกะการวิเคราะห์ ส่วนสมองซีกขวาจะคิดเรื่องอารมณ์ สัญชาติญาณและความคิดสร้างสรรค์

ความคิดต่างจากจินตนาการ เพราะจินตนาการเป็นการคาดคะเนในเหตุการณ์ สิ่งของหรือปรากฏการณ์ ส่วนการคิดเป็นกระบวนการแก้ปัญหาหรือหาเหตุผลของมนุษย์ การคิดอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้และอาจขัดแย้งกับการรับรู้ ซึ่งผลของการรับรู้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทิศทางเดียวกับการคิด และการคิดยังแตกต่างจากอุปนิสัยความเคยชิน เพราะการคิดเป็นกระบวนการที่ดำเนินกลับไปกลับมาตามลำดับขั้นต่าง ๆ

การคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking) แสดงให้เห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบที่พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันขององค์ประกอบเหล่านั้น การคิดเชิงระบบให้แนวทางใหม่ในการสร้างความเข้าใจถึงความซับซ้อน (Complexities) ของชีวิตและบ่งชี้ปัญหาที่ยากต่อการรับมือ เมื่อเรามีวินัยในการคิดเชิงระบบ เราจะเริ่มมองเห็นโลกในลักษณะที่แตกต่างไป สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเรามีความตระหนักรู้ในเชิงระบบมากขึ้น เราอาจเปลี่ยนท่าทีจากแค่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นมีการตอบโต้แบบสร้างสรรค์หรือท่าทีที่ทำด้วยความตั้งใจ ทำให้สามารถออกแบบระบบที่สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนแก่องค์กรได้ นั่นคือจะต้องมีการคิดอย่างมีหลักคิด มีเหตุผล มีการจัดระเบียบและเป็นกระบวนการ

การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เราสามารถสร้างได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • ไม่ตีกรอบความคิดผู้อื่น
  • ไม่คิดถึงปัญหา อุปสรรค ขีดจำกัดหรือความเป็นไปไม่ได้
  • รู้จักวิธีการรวมและการแยก หมายถึง รวมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดีขึ้นไหมหรือทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม ถ้าหากแยกกันจะเกิดอะไรขึ้น มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนและทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร
  • การตั้งคำถามว่า “ทำไม” “ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร” หรือการตั้งคำถามเปรียบเทียบเชิงพัฒนา “อะไรที่เราทำแล้วแต่คนอื่นทำดีกว่า” หรือการใช้คำถามต่อเนื่อง เช่น ทำอะไร ทำได้ไหม ทำอย่างไร จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร หรือทำด้วยวิธีการเลียนแบบแต่การเลียนแบบนี้จะต้องทำให้แตกต่าง ก้าวหน้า ดีกว่าเดิมแล้วก้าวกระโดดไปสู่สิ่งใหม่ หรือการปรับแต่งให้ดีขึ้นกว่าแปรรูปจากของเดิมเป็นสิ่งใหม่
  • นำของเก่ากลับมาใช้ใหม่โดยทำให้เสียน้อยที่สุดและมีการประกันความเชื่อมั่นในสิ่งนั้น ๆ ด้วย

“ลดภาวะความเครียดทางใจ ใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุข สนุกกับการทำงาน อยู่ในโลกของเหตุผลไม่เพ้อฝันและไม่ทำร้ายตัวเอง” เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถพัฒนาสมองให้พร้อมสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดสู่ผลการทำงานที่สัมฤทธิ์ผลได้ในอนาคต


Source:

  • จากการบรรยายหัวข้อ “Creativity & Innovation: ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการแปรความคิดไปสู่นวัตกรรม”
    โดย ดร.สมประสงค์ โกศลบุญ ในงามสัมมนา Productivity Talk ประจำเดือนกันยายน วันที่ 29 กันยายน 2554
  • ที่มาของข้อมูล: http://tingtongbear.wordpress.com
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924