เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาผมได้ไปเยี่ยมชมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ IEEE PES Generation Transmission and Distribution (GTD) Grand International Conference and Exposition Asia 2019 เป็นงานแสดงนวัตกรรมและประชุมระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีไฟฟ้า ครอบคลุมระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย พลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมไฟฟ้าครับ ผมนริศ ชัชธรานนท์ ขอพาเพื่อน ๆ สัมผัสกับงานนี้ไปพร้อมกับผมครับ
ปกติงาน IEEE นี้จะจัดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดในประเทศไทยทำให้มีบริษัทต่าง ๆ ในอเมริกามาจัดบูธกันมากเป็นพิเศษครับ ผมก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตัวน้อย ๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้านี้ด้วยเหมือนกัน จึงอยากจะไปดูว่ามีความก้าวหน้าของอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องมือทดสอบทางไฟฟ้าอะไรบ้าง เนื่องจากในช่วงหนึ่งของชีวิต ผมเองได้มีโอกาสไปเสาะแสวงหาความรู้ในเรื่องเครื่องมือทดสอบทางไฟฟ้าโดยเฉพาะไฟฟ้าแรงสูงเพื่อนำความรู้มาใช้ในการเรียนและการทำงานครับ งานนี้ก็คงจะมีผู้ที่ไปทำสัมภาษณ์และทำสกูปข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทใหญ่ ๆ Big name กันมากพอสมควร ดังนั้นผมจะเน้นเฉพาะบริษัทเครื่องมือทดสอบทางไฟฟ้าที่ผมพอจะรู้จักอยู่บ้างให้เพื่อน ๆ ผู้อ่านได้รู้จักอุปกรณ์ของแต่ละยี่ห้อโดยผมขออนุญาตรวบรวมภาพต่าง ๆ ไว้ใน Gallery ด้านล่างครับ
เริ่มกันตั้งแต่หน้าทางเข้างานเป็นผังขนาดใหญ่บอกรายละเอียดบูทแสดงสินค้าและปาถกเรื่องทางวิชาการใน Section ต่าง ๆ ครับ เราต้องไปลงทะเบียนโดยกรอกรายละเอียดลงโน้ตบุ้คที่ทางผู้จัดตั้งไว้ให้ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน เราจะได้รหัสมาแจ้งแก่ประชาสัมพันธ์เพื่อรับบัตรเข้างาน ผมจะเริ่มนำเพื่อนๆไปเยี่ยมชมที่รัฐวิสาหกิจทางด้านพลังงานกันก่อนครับ ลำดับแรกพี่เบิ้ม บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ถัดไปก็พี่ใหญ่การไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ต่อมาก็เป็นหน่วยงานที่ผมสังกัด การไฟฟ้านครหลวง (MEA) นำรถยนต์ไฟฟ้า ยี่ห้อ Nissan รุ่น Leaf มาจัดแสดง ขอชมองค์กรผมหน่อยครับ ผมว่าเป็นบูทที่จัดได้สวยงามทีเดียว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นำรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ FOMM มาจัดแสดง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้มาเดี่ยวครับ จูงลูก PEA ENCOM มาด้วย
ลำดับต่อไปผมจะพาไปชมผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ระดับโลก เริ่มจากที่เราคุ้นเคยกันดีกว่า เจ้านี้นั้นแม้แต่ในบ้านเรามีการใช้งานอุปกรณ์ของเขาและสามารถหาซื้อและจับต้องได้อย่าง Schneider Electric ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม EcoStrucxure มาที่เจ้าใหญ่อีกราย Siemens มากันทีอีกเจ้าครับ ABB และต่อกันที่ GE ครับ เดินมาอีกนิดเจอกับบูธ S&C ฝรั่งนั่งกันเต็มเลยไม่ค่อยมีคนเข้าไปถาม บรรยากาศหงอยใช้ได้เลยครับ ก่อนจะเดินกันต่อไปให้เมื่อยเท้าก็มาแวะนั่งฟังเพลงจากวงดนตรีที่เล่นกันในงานเสียหน่อยครับ ดนตรีเล่นดี นักร้องร้องดีครับ ผมเห็นฝรั่งยิ้มกริ่มกันเลย หลังจากนั่งฟังเพลงพักเหนื่อยแล้วก็เดินมาเจอบูธของพี่จีนครับ PowerChina จริง ๆ แล้วบริษัทจีนมาเปิดบูธกันมากพอสมควรแต่เนื่องจากประเทศเรายังไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของจีนที่ใช้ในระบบไฟฟ้ากันซักเท่าไหร่ผมจึงไม่ได้นำมาลงไว้ในบทความนี้ครับ ย้ายจากจีนก็มาที่เกาหลีกันบ้างครับ เจ้าใหญ่ของเกาหลีที่จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงในไทยก็คือ Hyundai Electric ตบท้ายมาที่ญี่ปุ่นเจ้าที่เรานึกว่าทำแต่มอเตอร์ไซด์อย่างเดียว แต่เขานำเอาแบบจำลอง Gas Turbine มาแสดงด้วยครับ Kawasaki
เอ้า พอหอมปากหอมคอกันแล้ว เจ้าใหญ่เหล่านี้เพื่อน ๆ คงจะรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและน่าจะมีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักนำมารายงานกันบ้างแล้วล่ะครับ ต่อไปผมจะไล่เรียงไปที่เจ้าใหญ่ๆของไทยกันบ้าง เริ่มจาก B Grimm Power, Glow และ ITALTHAI ก็มีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมสอบถามกันพอสมควรครับ
ชุดต่อไปผมจะพาไปเยี่ยมชมบูธผู้ขายอุปกรณ์รายใหญ่ ๆ กันครับ เริ่มจากเจ้าแรก GUNKUL, PRECISE นำเอา Switchgear หม้อแปลงกระแส หม้อแปลงแรงดัน มาจัดแสดง Lucy Electric นำเอา Ring Main Unit มาจัดแสดง KUMWELL ผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าและแรงดันเกิน PMK Group นำเอา Unit Substation Switchgear ของ ABB มาจัดแสดง CHAROENCHAI TRANSFORMER นำเอา Unit Substation มาจัดแสดงเช่นกัน QTC นำเอาเทคโนโลยีหม้อแปลงมาจัดแสดง หม้อแปลง FULL LIGHT, TIRATHAI, MR นำ On Load Tap Changer สำหรับ Power Transformer มาจัดแสดง ผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบไฟฟ้ารายใหญ่ของสเปนก็มาครับ ARTECHE มาดูกันที่อีกบูธหนึ่ง เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับระบบสายใต้ดินรายใหญ่ทางภาคตะวันออกครับ CBA POWER TECHNOLOGY
สถาบันการศึกษาก็มาเปิดบูธเช่นเดียวกันครับ ผมจะแนะนำ 2-3 แห่งดังนี้ แห่งแรก SGTECH ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดแสดงเทคโนโลยีสมาร์ทกริด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องชาร์จสำหรับรถไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเอานวัตกรรมการฉนวนหม้อแปลงไฟฟ้ามาจัดแสดง
กลุ่มต่อไปที่ผมจะนำมาให้ชมกันคือกลุ่มเครื่องมือทดสอบและเครื่องมือวัดทางไฟฟ้าครับ บริษัทแรกเป็นเครื่องมือที่ทุกบริษัทที่มีการทดสอบรีเลย์ด้วยจะต้องมีอย่างน้อย 1 เครื่องอย่างแน่นอนครับ OMICRON จัดแสดงเครื่องทดสอบรีเลย์ เครื่องทดสอบหม้อแปลง หม้อแปลงกระแส หม้อแปลงแรงดัน ต่อมาก็เป็นเครื่องมือที่บริษัทมิเตอร์จะต้องมีไว้เพื่อทดสอบความเที่ยงตรง MTE ซึ่งปีนี้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ เครื่องมือวัด Partial Discharge เครื่องมือวัด Dissolved Gas Analyzer บูธตรงข้ามกับ OMICRON เป็นบูธของ PHENIX ขายอุปกรณ์ทดสอบไฟฟ้าแรงสูงภายในห้องทดสอบ น่าเสียดายที่ผมไม่เห็นบูธของ HAFELY ซึ่งขายอุปกรณ์ประเภทเดียวกันแต่มาจากโซนยุโรป ไหน ๆ ก็พูดถึงเครื่องมือทดสอบไฟฟ้าแรงสูงภายในห้องทดสอบแล้วก็มาที่บริษัทนี้เลยครับ HIGH VOLT พอดีคุยไปคุยมาเป็นคนไฟฟ้าเก่าเลยเม้าท์กันนานหน่อย High Volt จะเน้นที่อุปกรณ์ทดสอบแบบ On Site ครับ มาที่อีกบูธนึงชื่อคล้ายกันแต่อยู่คนละซีกโลก HIGH VOLTAGE Inc. จากอเมริกาจัดแสดงเครื่องทดสอบสายเคเบิลแรงสูงด้วยความถี่ต่ำมากหรือเรียกกันว่า Very Low Frequency Test โดยมี Ed มาสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ครับ ถ้าพูดถึงการทดสอบเคเบิลด้วย VLF ก็จะมีอีกบริษัทหนึ่งที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันนั่นคือ B2HV มาที่บูธของ MEGGER ชื่อที่เรียกกันจนติดปาก นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงหลายอย่างเช่นกันครับ อีกบริษัทที่มีเครื่องทดสอบแนวเดียวกัน คือ BAUR GMBH ในช่วงระยะเวลาหนึ่งของการทำงาน ผมได้เคยอยู่แผนกที่ใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์ระบบไฟฟ้า ซึ่งในงานนี้ก็มีบริษัทมาเปิดบูธเช่นกัน รายแรกเป็นโปรแกรมที่ตอนนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้ามีใช้กันอยู่ครับ DIGSILENT GMBH อีกรายหนึ่งเป็นความก้าวหน้าขั้นสูงของการ Simulation ระบบไฟฟ้าครับ เรียกว่า Hardware Simulation บริษัทที่คิดค้น คือ RTDS TECHNOLOGIES Inc.
บริษัทที่มาออกบูธในงานส่วนใหญ่จะมีชื่อแบบอินเตอร์กันทั้งนั้น แต่ระหว่างที่เดินชมอยู่ผมสะดุดกับชื่อบริษัทนึงครับ ชื่ออย่างไทยมากพาให้ผมเดินเข้าไปชม แหมยิ้มแฉ่งเชียว บริษัทชื่อ MATANEEPAN ขายเครื่องมือวัดยี่ห้อ HT ของอิตาลี่และอื่น ๆ ครับ
ผมใช้เวลาเดินดูตามบูธต่างๆในงานเกือบ 6 ชั่วโมง นับได้ว่างานนี้เป็นงานแสดงอุตสาหกรรมด้านไฟฟ้าที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ครับ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีงานสำหรับคนไฟฟ้าแบบนี้อีก ได้ข่าวมาว่าครั้งถัดไปจะไปจัดที่ประเทศอื่น ๆ เวียนไปและกว่าจะกลับมาที่ประเทศไทยคงอีกนานเลยครับ ผมพยายามเก็บภาพบริษัทสำคัญ ๆ มาให้เพื่อน ๆ ได้ชมกัน อาจจะมีตกบกพร่องบ้างก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
บทความโดย:
นริศ ชัชธรานนท์