ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า ผู้ให้บริการในการจัดการขนส่ง พิธีการศุลกากร และผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ประมาณ 14% ของจีดีพี ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง ซึ่งหากภาครัฐเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ก็จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การขายที่ซบเซา ประกอบกับเป็นช่วงโลซีซั่น จึงทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ พยายามจะงัดกลยุทธ์ทุกวิถีทางที่หลากหลายนำมาใช้บริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเพื่อรักษาการเติบโตและเป้าหมายตามรายได้ที่กำหนดไว้ ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจมักดำเนินการอยู่ขณะนี้ผู้เขียนมักพบเห็นจึงนำมาฝาก 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ความเคลื่อนไหวในการจัดทำการส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) ซึ่งประกอบด้วยการลด แลก แจก แถม ส่งคูปองชิงโชคมีกันเกลื่อนตลาด ณ เวลานี้ โดยกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค กลับกลายเป็นว่าจะใช้ “ราคา” จากส่วนที่ลดลงเป็นตัวกำหนดในการทำตลาด หรือเข้าข่ายลักษณะสงครามราคา “Price War” แต่จะใช้การส่งเสริมการขายที่เป็นส่วนลดเป็นอาวุธจากที่เคยใช้ส่วนลด 20-70% จะกลายเป็นการให้ส่วนลดถึง 80% นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มทำควบคู่กับการส่งเสริมการขายก็คือ ความพยายามลดต้นทุนในการบริหารสต็อกเพื่อให้สอดคล้องกับการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ขาดหายไป โดยผ่านการส่งเสริมการขายแล้ว แต่ละธุรกิจยังจะต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอีกด้วย
เมื่อมีการจัดทำการส่งเสริมการขาย ดังนั้น การควบคุมสต็อกให้ใกล้เคียงกับยอดขายแล้ว ยังก่อให้เกิดกำไรอีกด้วย เพราะหากบริหารสต็อกไม่ดี ปริมาณสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีการจัดการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องและลดราคาอย่างแรง จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น หากบริหารสต็อกไม่ดีก็จะส่งผลต่อการดำเนินงานทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน อนึ่ง การบริหารสต็อกมีความสำคัญอย่างมากท่ามกลางสภาวะที่ไม่แน่นอนของตลาด จึงต้องควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกำลังซื้อและยอดขายที่หายไป ซึ่งบางแห่งก็ใช้วิธี Outsource หรือจ้างผลิต 80% บางแห่งก็ใช้วิธีการลดความถี่ในการออกสินค้าใหม่ลง ก็จะทำให้สามารถบริหารสต็อกสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
ประเด็นที่สอง นอกจากหันมาดูแลเรื่องสต็อกเพื่อให้กระแสเงินหมุนเวียนที่ดีแล้ว ยังมีการทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำลงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันในขณะนี้ บางบริษัทมีการปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับยอดการสั่งซื้อที่ลดลง โดยการลดโอที แล้วก็หันมาทำกิจกรรมทางการตลาดในลักษณะ Event Logistics ให้มากขึ้น รวมทั้งการเจรจาราคาวัตถุดิบแบบระยะยาวกับซัพพลายเออร์
ประเด็นที่สาม ผู้ประกอบการบางแห่งได้สร้างจุดเด่นในการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ Mobile Racking จะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์จัดเก็บสินค้าได้ด้วยระบบอัตโนมัติ จึงช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาและเคลื่อนย้ายสินค้า รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการบริหารพื้นที่คลังสินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนพัฒนาองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าและระบบการบริหารจัดการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับลูกค้าและหน่วยงานแต่ละฝ่ายภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานการจัดการขององค์กรธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ประการสุดท้าย ธุรกิจบางแห่งต้องการวางระบบการจัดการโลจิสติกส์ให้ครบวงจรในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพื่อว่าหากอีก 1-2 ปีข้างหน้าสภาวะเศรษฐกิจพลิกฟื้นดีขึ้น จะทำให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันทันที โดยไม่ต้องรอเวลาให้สภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางระบบลดต้นทุนในทุกรูปแบบตั้งแต่ลดของเสียในกระบวนการผลิตการ คลังสินค้า รักษาคุณภาพสินค้า วางระบบการรักษาความปลอดภัย ความรวดเร็ว และการประหยัดพลังงาน รวมถึงการบริการจะต้องสร้างความประทับใจทั้งลูกค้าภายในและภายนอก
อนึ่ง การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจะต้องเป็นความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐกับภาคเอกชน หรือภาคเอกชนกับภาคเอกชน ซึ่งจะต้องยกระดับทำให้ระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไต่เพดานถึงระดับสากลรูปธรรมอย่างแท้จริง จึงจะเกิดความสามารถทางการแข่งขันได้