Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

RENEWABLE ENERGY ในเมียนมา ช่องว่างและโอกาสทองของนักลงทุน

หลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเมียนมา ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองเริ่มนิ่งขึ้นเมียนมาเปิดประเทศ และถูกจับตามองจากนักลงทุนทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา นอกจากในฐานะฐานการผลิตที่ทั้งสดใหม่แล้ว เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศ กำลังลงทุนเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานไฟฟ้า

RENEWABLE ENERGY ในเมียนมา ช่องว่างและโอกาสทองของนักลงทุน

ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกเริ่มตระหนัก ทำให้โลกกำลังหมุนไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น กล่าวคือ พลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล กลายเป็นเทรนด์ที่จะปฏิเสธไม่ได้

ท่ามกลางคำถามว่า เมียนมายังมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคด้านใด ควรลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างไร และใครคือผู้ได้โอกาส ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์ ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และคณะกรรมการการค้าข้ามแดน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการและองค์กรภาครัฐทั้งไทยและเมียนมาจะมาให้คำตอบกับเรื่องเหล่านี้

‘พร้อมใช้ เสถียร และทั่วถึง’ คือ โจทย์ใหญ่

ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์ เกริ่นถึงภาพกว้างของประเทศเมียนมาว่า หลังจากการเลือกตั้งทำให้ประเทศมีเสถียรภาพด้านการเมืองสูงขึ้น ประกอบกับนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติมองหา คือ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ ถนนหนทาง การขนส่ง ท่าเรือ สนามบิน แหล่งน้ำและที่สำคัญคือ พลังงานไฟฟ้า

ม.ล.ลือศักดิ์ ให้ความรู้เบื้องต้นว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มักต้องไปสร้างไกลจากความต้องการใช้ไฟฟ้า กล่าวคือ ไปสร้างในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชน จึงต้องลากสายส่งตั้งแต่ระดับไฟฟ้าแรงสูง หรือ Transmission และลดกำลังลงในระดับ Distribution จนทำให้เหลือในระดับที่จ่ายลงไปใช้ในครัวเรือน ซึ่งโครงสร้างทั้งหมดนี้ต้องลงทุนสูงมาก และใช้เวลานาน

ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของเมียนมา ทำให้สามารถสรุปได้ว่า โจทย์ คือ ต้องพร้อมใช้เสถียร กระจายทั่วประเทศ

“ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในเมียนมานั้น เขาต้องการใช้ตอนนี้เลยจึงควรจะขยายให้เร็ว และต้องสร้างแล้วพร้อมใช้ได้เลย หากเลือกโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเขื่อนพลังน้ำ ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติก็ตาม ต้องลงทุนสูงและใช้เวลาก่อสร้างนาน อย่างเขื่อนพลังน้ำอาจต้องใช้เวลาสำรวจและก่อสร้างนานกว่า 6-7 ปี ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการ ความล่าช้านี้จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชากร” ม.ล.ลือศักดิ์ วิเคราะห์

ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์
ม.ล.ลือศักดิ์ จักรพันธุ์ ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และคณะกรรมการการค้าข้ามแดน

เมื่อก๊าซธรรมชาติไม่ใช่คำตอบ
พลังงานทดแทนต่างหาก คือ โอกาสทอง

ดูเหมือนมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เห็นได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติให้ไทยและจีน แต่ ม.ล.ลือศักดิ์ กลับมองเห็นอุปสรรคหากเมียนมาเลือกลงทุนผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ

“ก๊าซธรรมชาติที่เมียนมาสำรวจแล้วก็ติดสัญญาขายให้ไทยและจีน ไม่มีใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงในประเทศตัวเอง แต่แหล่งก๊าซธรรมชาติก็ยังมีแหล่งใหม่ที่ยังไม่ได้สำรวจ ซึ่งหากเทียบกันแล้ว อุปสรรคสำคัญไม่ใช่เรื่องเงิน หรือเทคโนโลยี แต่คือเวลา ทั้งเวลาที่ใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ เวลาในการขุดสำรวจเวลาในการลงทุนสร้างท่อส่ง เป็นต้น” ม.ล.ลือศักดิ์กล่าว

กล่าวคือ ก๊าซธรรมชาติ ไม่ตอบโจทย์ที่ว่า “ต้องพร้อมใช้ กระจายทั่วประเทศและเสถียร

ทางเลือกที่น่าสนใจในสายตา ม.ล.ลือศักดิ์ คือ Renewable Energy หรือพลังงานทดแทน ด้วยเพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาเป็นประเทศเกษตรกรรม เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้าจะใช้พื้นที่น้อยไม่กระทบต่อการเกษตรมากนักหรือการที่ภาครัฐเองก็มียุทธศาสตร์ด้านสินค้าเกษตร โดยนโยบายเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ทั้งกลุ่ม Food และ Non-Food ผลผลิตจากภาคการเกษตรต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มอาหาร จึงน่าสนใจจะนำมาต่อยอดเป็นพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล

แม้จะเพิ่งเริ่มลงทุนวางรากฐานด้านอุตสาหกรรม แต่นี่ไม่ใช่จุดอ่อน ในทางกลับกันกลายเป็นจุดแข็งและโอกาสที่เมียนมาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อก้าวข้ามไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา พลังงานทดแทนเองก็เป็นหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมเช่นกัน

“การที่มองว่าพลังงานทดแทนมันแพงหรือถูก และควรได้รับการสนับสนุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตั้งสมมติฐาน หากคิดแค่เรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มันจะไม่ได้คำตอบที่หลากหลาย เราต้องคิดบนสมมติฐานที่มีตัวแปรอื่นๆ เช่น ต้องลงทุนแล้วใช้ได้เลย พลังงานทดแทนจะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจทันที

นอกจากนี้ ยังได้การลงทุนจากหลากหลายกลุ่ม หลายระดับ ไม่ต้องรอบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนทำโรงงานก๊าซธรรมชาติหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ รัฐบาลท้องถิ่นสามารถอนุมัติโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ได้เองด้วย” ม.ล.ลือศักดิ์ ให้มุมมอง

ก้าวข้ามมายาคติพลังงานทดแทน

ม.ล.ลือศักดิ์ ยังมีประเด็นน่าสนใจว่า ผู้ประกอบการทั้งไทยและเมียนมาส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังจากนโยบายมหัพภาค จนกลายเป็นมายาคติว่า เมียนมาไม่พร้อมสำหรับพลังงานทดแทน

“ทุกรัฐ ไม่ว่าเมียนมาหรือไทย ชอบบอกว่า ต้องทำโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ให้พอใช้ทั่วประเทศเสียก่อน แล้วจึงมาลงทุนเรื่องพลังงานทดแทน ในขณะที่ฝั่งเอกชนมองกลับกันอย่างสิ้นเชิงเลย เขามองว่าพลังงานทดแทน คือโอกาส เป็นช่องว่างที่เป็นโอกาสทองในประเทศที่ขาดแคลนพลังงานด้วยซ้ำไป

นโยบายรัฐชี้นำทิศทางได้ส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง โลกธุรกิจจะดำเนินไปอย่างไร สิ่งไหนจะเป็นความได้เปรียบ นวัตกรรมใดจะถูกตกผลึก ไม่ได้ผูกติดกับนโยบายรัฐเลย แต่ขึ้นอยู่กับพวกคุณ ขึ้นอยู่กับนักอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการต่างหาก” ม.ล.ลือศักดิ์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924