Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

7 ที่มาปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้งานหุ่นยนต์จาก OSHA

ในปัจจุบันระบบอัตโนมัติถือเป็นอีกหนึ่งระบบที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้ผลิต กลายเป็นเทรนด์การผลิตในยุคปัจจุบันที่ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อแก้ไขปัญหาในการผลิตต่าง ๆ เช่น ความล่าช้า ความสูญเสีย เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันระบบอัตโนมัติสามารถเกิดความผิดพลาดและสร้างความเสียหายต่อสายการผลิตและธุรกิจได้เช่นเดียวกับการใช้แรงงานมนุษย์หากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยย่อยในระบบอัตโนมัติที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับสาเหตุของความล้มเหลวในการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการทำงาน

7 ที่มาปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้งานหุ่นยนต์จาก OSHA

“จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างในสวีเดนและญี่ปุ่นพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากหุ่นยนต์มักไม่เกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติการณ์ปกติ แต่กลับเกิดขึ้นระหว่างการเขียนโปรแกรม การซ่อมแซม การติดตั้ง การทดสอบ การปรับตั้งค่า หรือขั้นตอนที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ว่าผู้ปฏิบัติงาน นักเขียนโปรแกรม ช่างซ่อมบำรุง อาจอยู่ในระยะทำการของหุ่นยนต์ซึ่งเกิดการทำงานโดยไม่ตั้งใจและส่งผลให้เกิดปัญหาและอาการบาดเจ็บขึ้นได้” ข้อมูลจากการศึกษาของ OSHA หรือคณะกรรมการบริหารงานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพแห่งสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ถึงปัญหาหลักของอุบัติเหตุการใช้งานหุ่นยนต์นั้นอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานมากกว่าขั้นตอนการดำเนินการจริง ในขณะที่การรับคำสั่งที่มีการตั้งค่าหุ่นยนต์ที่หลากหลายจากระบบมากกว่า 1 ระบบ อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่อาจคาดเดาได้โดยเฉพาะการวางแผนซ่อมบำรุงภายใต้ระบบที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงเทคนิคและการทำงานที่ต้องได้รับการวางแผนที่ครอบคลุม ในส่วนของปัญหาที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปของการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบ่งได้เป็น 7 สถานการณ์ ดังนี้

1. Human Errors

การเชื่อมต่อกับระบบนั้นสามารถสั่งการทำงานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการเผลอไปกดคำสั่ง อุบัติเหตุจากการพิมพ์โค้ดโดยไม่ตั้งใจ หรือการเชื่อมต่อเซนเซอร์แบบ Live Input-Output เข้ากับตัวประมวลผลล้วนสร้างความอันตรายที่เกิดจากการเคลื่อนไหวหรือการดำเนินการที่ผิดพลาดของหุ่นยนต์จากความผิดพลาดของมนุษย์ได้  หนึ่งในกรณีที่พบได้บ่อยคือการเปิดใช้งานโหมดการสอน “Teach Pendant”  และปัญหาที่หนักที่สุด คือ ความเคยชินในขณะแก้ไขคำสั่งโปรแกรมหุ่นยนต์หรือทำการซ่อมบำรุงในขณะที่ระบบยังทำงานและอยู่ในระยะการปฏิบัติงานของแขนกลซึ่งสร้างความสูญเสียได้อย่างไม่คาดคิด

2. Control Errors

ความผิดพลาดจากส่วนควบคุมไม่ว่าจะเป็นซอฟท์แวร์ การถูกคลื่นสัญญาณแม่เหล็กก่อกวน หรือสัญญาณวิทยุที่ทำให้ส่วนควบคุมเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งสามารถส่งผลต่อากรทำงานผิดพลาดในส่วนของไฮดรอลิก นิวแมติก หรือส่วนควบคุมย่อยระบบไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกับระบบหรือตัวหุ่นยนต์ได้

3. Unauthorized Access

การเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่ได้รับการปกป้องของหุ่นยนต์นั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงได้หลากหลายประการหากผู้ที่เข้าถึงนั้นไม่คุ้นเคยกับการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้เกิดการทำงานผิดพลาดได้ในระดับพื้นฐานข้อมูลของหุ่นยนต์ไปจนถึงการสร้างปัญหาให้กับระบบที่เชื่อมต่ออยู่ด้วยเช่นกัน

4. Mechanical Failures

ความผิดพลาดในการทำงานเชิงกลสามารถส่งผลเสียต่อระบบและการทำงานได้อย่างร้ายกาจ ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด เช่น การเสื่อมสภาพของข้อต่อหุ่นยนต์ ยางรองรับแรงที่หมดอายุการใช้งาน

5. Environmental Sources

การรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กหรือความถี่วิทยุนั้นต้องได้รับการป้องกันและตรวจสอบให้ดี เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานของหุ่นยนต์และเพิ่มโอกาสให้กับการบาดเจ็บของแรงงานได้ การแก้ปัญหาควรมีการบันทึกรายละเอียดการเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน นอกจากนี้ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมสามารถเป็นปัญหาที่คาดไม่ถึงได้อย่างง่ายดาย เช่น ความชื้น ไฟฟ้าสถิตย์ การตรวจสอบค่าต่าง ๆ ในสภาวะแวดล้อมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำงานที่อ่อนไหวจึงยิ่งมีความสำคัญ

6. Power System

ไฮดรอลิก นิวแมติกและแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สามารถเกิดควมผิดพลาดใการควบคุมหรือส่งกำลังให้กับพลังงานของหุ่นยนต์สามารถก่อกวนสัญญาณไฟฟ้าให้กับส่วนควบคุมหรือสายพลังงานได้ หากมีการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังอาจทำให้เกิดอัคคีภัย หรือเกิดการติดไฟจากน้ำมันไฮดรอลิกได้

7. Improper Installation

การออกแบบ อุปกรณ์หรือสิ่งที่จำเป็นต้องมี เลย์เอาท์ของอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบหุ่นยนต์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีความพร้อมและมีคุณภาพที่ดี ความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องมือและการติดตั้งที่ถูกต้องกลายเป็นพื้นฐานของความปลอดภัยเนื่องจากทำให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้ง่ายและรวดเร็ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่ OSHA ได้ระบุไว้ส่วนมากสามารถป้องกันได้โดยการทำแผนการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่รัดกุมรอบคอบ รวมถึงการแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงพื้นที่ข้อมูลสำคัญของหุ่นยนต์ที่ผู้ใช้งานต้องมีความเชี่ยวชาญและได้รับมอบหมายเท่านั้น สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการวางแผนเชิงเทคนิคที่เป็นปัญหาการตรวจสอบและแก้ไขต้องดำเนินการในหลายระดับเพื่อแบ่งแยกปัจจัยย่อยและทดสอบภาพรวมเพื่อหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น


ที่มา:

  • Osha.gov
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924