Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

6 ลำดับขั้นของยานยนต์อัตโนมัติแห่งอนาคต

นอกเหนือไปจากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้วยานยนต์อัตโนมัติก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะไม่มีพื้นที่ข่าวมากเท่ากับยานยนต์ไฟฟ้า แต่นอนาคต ‘ความอัตโนมัติ’ นี้เองจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับวงการการเดินทางและขนส่ง ไม่ว่าจะในแง่ธุรกิจหรือชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันเราก็อาจจะพบเจอยานยนต์อัตโนมัติบนท้องถนนกันอยู่บ่อยครั้งแต่แค่ยังไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

ใครหลายคนอาจมีคำถามในใจว่า “เอ๊ะ แล้วรถอัตโนมัตินี่มันมีไว้ทำไมกัน?” คำตอบที่ง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ความสะดวกสบาย’ ที่มาพร้อมกับ ‘ความปลอดภัย’ ในแง่การใช้ชีวิตยานยนต์อัตโนมัติจะช่วยลดภาระและความเหนื่อยล้าจากการเดินทางได้ เปลี่ยนผู้ขับขี่ให้มีสถานะเป็นผู้โดยสาร ในขณะภาคธุรกิจเองยานยนต์อัตโนมัติสามารถบริหารจัดการและวางแผนด้านโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่ปีเราอาจได้ยินข่าวเกี่ยวกับยานยนต์อัตโนมัติมาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ Tesla ซึ่งเป็น EV ที่มาพร้อมกับระบบขับขี่อัตโนมัติและมีการใช้งานจริงบนท้องถนนกันบ้างแล้ว และในอนาคตใครหลาย ๆ คนก็ตั้งเป้าให้เกิดยานยนต์อัตโนมัติที่ไม่ต้องให้คนมาคอยอยู่กล้ ๆ เพื่อควบคุมอีกต่อไป

ในปี 2019 ที่ผ่านมา Society of Automotive Engineer (SAE) ได้ปล่อยมาตรฐานที่แบ่งระดับของยานยนต์อัตโนมัติออกมา โดยแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ดังนี้

ระดับ 0 ‘ไม่มีการสนับสนุนใด ๆ’

ยานยนต์ส่วนใหญ่บนท้องถนนอยู่ในระดับนี้ เป็นระดับที่มนุษย์นั้นเป็นผู้ควบคุมการขับเคลื่อนทั้งหมดแม้จะมีระบบสนับสนุนการขับขี่ช่วยเหลือ เช่น ระบบเบรคฉุกเฉิน แต่ฟังก์ชันนี้ไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนยานยนต์จึงไม่ถูกนับว่าเป็นระบบอัตโนมัติ

ระดับ 1 ‘มีการสนับสนุนผู้ขับขี่’

ยานยนต์อัตโนมัติระดับ 1 สามารถจำกัดมุมองศาของพวงมาลัยไปจนถึงระบบเร่งความเร็วอย่าง Cruise Control และเบรคได้ แต่ไม่ใช่ในสถานการณ์ทั้งหมด และผู้ขับขี่ต้องพร้อมที่จะเข้ามาควบคุมเสมอ

ระดับ 2 ‘มีการสนับสนุนบางส่วน’

ระบบขับเคลื่อน พวงมาลัย และการเบรคนั้นสามารถทำงานอัตโนมัติได้บางส่วน และยานยนต์เองก็สามารถให้ผู้ขับขี่ควบคุมได้เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการ ตัวยานยนต์เองสามารถติดตามสภาพแวดล้อมโดยรอบและการจราจรได้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ระบบไม่สามารถตัดสินใจได้จะแจ้งเตือนไปยังผู้ขับขี่ให้เข้ามาควบคุมซึ่งยงจำเป็นต้องรับผิดชอบและตัดสินใจอยู่

ระดับ 3 ‘การสนับสนุนภายใต้เงื่อนไข’

ยานยนต์จะติดตามสิ่งรายล้อมทั้งหมดและดูแลเรื่องการควบคุมพวงมาลัย การเบรค การใช้งานคันเร่งทั้งหมดเองภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะ เช่น การจราจรที่เคลื่อนตัวได้ช้าหรือบนทางด่วน ยานยนต์อัตโนมัติจะเปลี่ยนเลนเองได้ตัดสินใจเองได้หากคิดว่าปลอดภัย แต่ตัวผู้ขับขี่ต้องพร้อมเข้ามาช่วยเหลือหากได้รับการร้องขอ ความแตกต่างระดับ 2 และ 3 คือแม้ว่าทั้งคู่จะมีการเปลี่ยนเลนเองได้ควบคุมรถเองได้ แต่ระดับ 3 นั้นไม่ต้องการให้ผู้ขับคอยควบคุมด้วยตลอดเวลา

ระดับ 4 ‘การควบคุมอัตโนมัติระดับสูง’

ยานยนต์จะทำการควบคุมคันเร่ง เบรค พวงมาลัย ไปจนถึงการสังเกตสิ่งรายล้อมและการจราจรในระดับขอบเขตที่กว้างยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม เงื่อนไขต่าง ๆ และความเร็ว ยานยนต์สามารถพาตัวเองจากตำแหน่ง ก. ไปยังตำแหน่ง ข. ได้หากเงื่อนไขลงตัว อย่างไรก็ตามในสถานการณืที่ไม่ปกติหรือสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายก็ยังต้องการผู้ขับขี่ในการควบคุมอยู่ดี

ระดับ 5 ‘ระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ’

ในระดับ 5 นั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องมีพวงมาลัยหรือแป้นเหยียบต่าง ๆ ผู้โดยสารจะทำหน้าที่กำหนดตำแหน่งเป้าหมายและเริ่มต้นการเดินทางของยานยนต์ จากนั้นตัวยานยนต์เองจะควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ

ที่มา:
Stuff.co.nz

เนื้อหาที่น่าสนใจ:
การจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์อาจเปลี่ยนไปในปี 2030
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924