Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

5 อาชีพเสี่ยงโดน AI เข้ามาแทนที่ได้แบบไม่รู้ตัว !

‘AI กำลังเข้ามาแย่งงานมนุษย์’ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงต้องเคยได้ยินประโยคนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ว่าความสามารถที่ก้าวล้ำและประสิทธิภาพที่เหนือมนุษย์ของ AI ในปัจจุบันนั้นกำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์อยู่

ปัจจุบันผู้คนในหลาย ๆ อาชีพจึงต่างก็เกิดคำถามผุดขึ้นมาในใจ ว่าอาชีพที่เรากำลังทำอยู่นั้นเป็นหนึ่งในอาชีพเสี่ยงที่อาจจะถูก AI เข้ามาแทนที่ได้แบบที่เรายังไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า ? นั่นเพราะแม้ว่าบางอาชีพจะยังดูห่างไกลจากการที่ AI จะสามารถเข้ามาแย่งงานไปได้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี AI นั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้นในทุก ๆ ปีจนหลายท่านอาจจะไม่มั่นใจว่าสายงานของตนเองนั้นยังมั่นคงอยู่จริง ๆ รึเปล่า วันนี้ Modern Manufacturing จึงได้รวบรวมเอา 5 อันดับของอาชีพที่มีความเสี่ยงอาจจะถูก AI แทนที่ได้เหล่านี้มาไว้ให้ทุกท่านแล้วครับ

1. อาชีพด้าน IT (Programmers/Software Engineers/Data Analysts)

งานด้านการเขียนโค้ดและการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า AI จะไม่สามารถเข้ามาทดแทนทักษะและสายงานเหล่านี้ได้

โดยในปัจจุบันเทคโนโลยี Generative AI ขั้นสูงอย่าง ChatGPT นั้นสามารถทำการเขียนโค้ดได้เร็วยิ่งกว่ามนุษย์เสียอีก ซึ่งความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง Mark Muro นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Brookings ซึ่งได้ทำการวิจัยผลกระทบของ AI ต่อแรงงานชาวอเมริกันนั้นก็ได้ระบุว่าการเข้ามาของ AI นั้นจะทำให้จำนวนของ Programmer ที่ต้องใช้ในแต่ละโปรเจกต์ถูกลดจำนวนลงได้ สิ่งที่เคยต้องใช้ทั้งทีมเพื่อพัฒนาขึ้นนั้นอาจถูกลดให้เหลือแค่โปรแกรมเมอร์เพียงไม่กี่คนที่เสริมด้วย AI แทนได้อย่างง่ายดาย

แต่ทั้งนี้มุมมองของศาสตราจารย์ Oded Netzer จาก Columbia Business School นั้นกลับมองว่า AI จะไม่ได้เข้ามาทดแทนโปรแกรมเมอร์ทั้งหมดไป นั่นเพราะงานส่วนใหญ่นั้นจะยังต้องการการตรวจสอบและการปรับปรุง ทำให้ AI น่าจะมีบทบาทเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้เหล่าโปรแกรมเมอร์แทนมากกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งต่างก็มองเห็นตรงกันก็คือความสามารถด้านการเขียนโค้ดของ AI นั้นสามารถทำออกมาได้ค่อนข้างดีจริง ๆ นั่นเอง

2. อาชีพด้านสถาปัตย์และวิศวกรโครงสร้าง (Structural Engineer/Mechanical Design Engineer/Architect)

สำหรับท่านที่อาจสงสัยว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมได้จริง ๆ หรือ ? คำตอบของคำถามนี้ก็คงจะเป็นคำว่า ‘แทนที่ได้’ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

การเข้ามาของ AI ในงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมนั้นจะทำให้งานอย่างการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและเครื่องจักรกลต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนสูงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดย AI นั้นยังสามารถทำการวิเคราะห์และนำเสนอตัวเลือกใหม่ ๆ ในการผลิตออกมาได้อย่างหลากหลายและสร้างสรรค์อีกด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าความสามารถและความเข้าใจในด้านการออกแบบโครงสร้างหรือการทำภาพพิมพ์เขียวของ AI นั้นจะยังไม่สามารถทดแทนความรู้ ความสามารถของเหล่าสถาปนิกและวิศวกรได้ภายในอนาคตอันใกล้นี้ได้ แต่พัฒนาการอันรวดเร็วของ AI ในช่วงไม่กี่ปีนี้ก็ทำให้เรายังต้องสงสัยว่าความสามารถของ AI นั้นจะกว้างขึ้นไปจนถึงจุดไหนกันแน่

แต่ทั้งนี้แม้ว่า AI จะมีข้อได้เปรียบในการทำงานที่เหนือกว่าอยู่บ้างเมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ แต่ส่วนสำคัญอย่างความสามารถในการตัดสินใจ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานจริงนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่แค่ภายในตัวผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในสาขาวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเท่านั้นจึงจะมีได้ การปรับตัวเพื่อสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI นั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าการที่เหล่าวิศวกรจะถูกแทนที่ไปได้ 100% นั่นเองครับ

3. อาชีพด้านการผลิตคอนเทนต์และสื่อออนไลน์ (Graphic Designer/Journalist/Marketing)

ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าความสามารถในด้านงานเขียนและการผลิตภาพ รวมไปถึงการวางแผนการตลาดของ AI นั้นได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนแม้แต่บริษัทด้านสื่อจำนวนมากอย่าง CNET หรือ BuzzFeed เองก็ยังได้เริ่มนำเอา AI เข้ามาใช้ในการเขียนและผลิตเนื้อหา ซึ่งทางด้านนักเศรษฐศาสตร์อย่างคุณ Paul Krugman ก็เคยออกมาแสดงความเห็นว่า ChatGPT นั้นอาจจะผลิต เขียนและทำรายงานได้ ‘มีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์’ เสียอีก

สำหรับในด้านการวางแผนการตลาดนั้น ความคิดเห็นส่วนใหญ่ต่างก็ชี้ให้เห็นว่า AI จะสามารถทดแทนการทำ ‘การตลาดแบบเก่า’ หรือ Traditional Marketing ซึ่งเป็นการทำการตลาดเพื่อสื่อสารทางเดียวได้ อีกทั้ง AI ยังสามารถช่วยในการรวบรวมข้อมูล การสำรวจแนวโน้มเพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์และสร้างแคมเปญที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาให้ได้อีกด้วย

แต่ปัจจุบันการนำ AI มาใช้เพื่อผลิตสื่องานเขียนและภาพนั้นก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่อย่างกว้างขวางถึงเรื่องของความเหมาะสมในการใช้ AI ในงานเหล่านี้ นั่นเพราะงานที่เกิดขึ้นโดยผู้คนในอาชีพเหล่านี้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินด้วยอารมณ์และจริยธรรมของมนุษย์เข้ามาร่วมอยู่ด้วย อีกทั้งงานส่วนใหญ่ที่ทำโดยผู้คนในงานด้านสื่อนั้นก็ยังไม่สามารถถูกผลิตขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นการนำ AI เข้ามาใช้ในงานด้านสื่อจึงถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังต้องมีการทดสอบและติดตามดูผลลัพธ์กันต่อไปในอนาคต

4. อาชีพด้านงานกฎหมาย (Paralegals/Legal Assistants)

แม้แต่อาชีพที่ดูจะจำเป็นต้องใช้การตัดสินใจของมนุษย์เป็นหลักอย่างงานด้านกฎหมายนั้นก็ไม่ได้ปลอดภัยจากการเข้ามาของ AI โดยรายงานล่าสุดจาก Goldman Sachs นั้นได้ระบุว่า Generative AI นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อเหล่านักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาได้

โดยสาเหตุนั้นก็มาจากรูปแบบการทำงานของเหล่านักกฎหมายบางส่วน ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลในแต่ละคดีความที่รับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ AI สามารถเข้ามาทำสิ่งนี้ได้โดยไม่เกิดอคติขึ้นจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมานั่นเอง

แต่ทั้งนี้ก็เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเห็นด้วยหากจะกล่าวว่าอย่างไรเสียมนุษย์ก็ยังคงต้องการผู้แนะนำด้านกฎหมายที่เป็นมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า AI เพราะการทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นก็เป็นความสามารถประเภทหนึ่งที่ AI ยังไม่สามารถก้าวข้ามมนุษย์ไปได้

5. อาชีพด้านการบริการลูกค้า (Customer Service/Admin)

ปัจจุบันการได้พูดคุยสื่อสารกับฝ่ายบริการลูกค้าที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็น AI Chatbot นั้นดูจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว นั่นเพราะความสามารถของ AI ในยุคปัจจุบันนั้นสามารถที่จะคำนวณและลอกเลียนแบบการทำงานของมนุษย์บางส่วนได้ ทำให้ AI สามารถทำการโต้ตอบกับลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลหรือตอบคำถามได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ

โดยการศึกษาในปี 2022 ของบริษัทวิจัยเทคโนโลยีอย่าง Gartner ยังได้คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีแชทบอทนั้นจะกลายมาเป็นช่องทางหลักของการให้บริการลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ กว่า 25% ภายในปี 2570 นั่นหมายความว่า AI นั้นจะกลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญขององค์กรรอบโลกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและช่วยลดการทำงานของพนักงานทั่วไปลงได้เป็นอย่างมากนั่นเอง

ที่มา : Business Insider

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924