บอร์ด EEC คาด ปี 62 มูลค่าลงทุนใน EEC ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ดัน GDP เติบโตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC คาดว่า ในปี 62 นี้จะมีมูลค่าลงทุนในการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยผลักดันอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น
และตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป EEC จะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพกับคนใน EEC ที่สำคัญคือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน
และหลังจากการขับเคลื่อนผ่านการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้ชัดจากมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดย GDP มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 59 มาเป็น 4.2% ในปี 61 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน
ในส่วนการขับเคลื่อนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา (MRO), โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้เอกชนร่วมทุนครบ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือน เม.ย.นี้
สำหรับภารกิจเร่งด่วนใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการทำงานปีที่ 3 ของ EEC ใน 5 เรื่อง จะเร่งรัดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี ซึ่งจะสร้างงานใหม่ รายได้ดี ไม่น้อยกว่า 4.5 แสนตำแหน่งให้กับเยาวชนไทย รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถดูแลประเทศด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษา, ประสานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IOT และ start-up, สานต่อการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว
รวมทั้งการเดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน
การจัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ ด้วยการประสานงานให้ EECi และ EECd เป็นไปตามแผนงาน, วางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบัง และเกาะสำคัญ (เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด) และสร้างระบบการกำกับดูแลการพัฒนาของมหานครการบินภาคตะวันออก