Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

3 องค์กรเสริมแกร่งธุรกิจนวัตกรรม

NIA จับมือ ตลท.และ เอ็ม เอ ไอ เดินหน้าโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรม ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คาดภายใน 5 ปี ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างน้อย 20%


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อยกระดับธุรกิจนวัตกรรมให้มีการเติบโตยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุน เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจ รวมถึงการจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ และยังเป็นแรงจูงใจในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อให้แนวนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ NIA จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ดำเนินโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตในตลาดทุน ซึ่งโครงการ IDE to IPO นี้มีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดองค์ความรู้ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการสร้างความแตกต่างให้กับบริการและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศมีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากโครงการจะมุ่งเน้นการผลักดันกลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างสูง (S-Curve และ New S-Curve) เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ฯลฯ

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการดำเนินงาน 2 รุ่นที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่ร่วมโครงการมีการเติบโตสูงในด้านการลงทุนและมีความสามารถในการบริหารจัดการที่มากขึ้น โดยผลการจัดหลักสูตรในรุ่นที่ 1 มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 56 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และจากระบบติดตามการเติบโต มีจำนวน 8 บริษัทที่วางแผนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนในรุ่นที่ 2 นั้น มีผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 100 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ และจากระบบติดตามการเติบโต พบว่ามีจำนวน 16 บริษัท ที่วางแผนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับการดำเนินโครงการในรุ่นที่ 3 NIA และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการบริการและการท่องเที่ยว โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 80 สาขาธุรกิจที่มีศักยภาพและเชื่อมโยงกับกับกิจกรรมการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร เอนเตอร์เทนเมนท์ การเดินทาง-ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรและกิจกรรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และปัจจัยที่จำเป็นต่อการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดทำแผนธุรกิจ การบริหารจัดการองค์กร กฎหมาย การวางระบบบัญชี การเตรียมพร้อมบุคลากร เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้รวดเร็วขึ้นทาง NIA ยังมีกลไกสนับสนุนด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม ทั้งโปรแกรมการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิด นวัตกรรมแบบมุ่งเป้า พร้อมด้วยทุนที่ปรึกษาธุรกิจ Mind Credit ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดพัฒนานวัตกรรมในองค์กร สามารถรับทุนสนับสนุนจาก NIA เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการนวัตกรรมเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า การดำเนินหลักสูตร IDE to IPO รุ่นที่ 3 นี้ ทั้ง NIA และ ตลท.มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ขณะนี้ควรจะต้องเชื่อมโยงหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เติบโตด้วยวิธีการที่ทันสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทรงพลังที่สุดในโลกธุรกิจและการค้าในยุคปัจจุบัน

นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในรุ่นที่ 3 พบว่า สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเข้าร่วมของผู้ประกอบการในธุรกิจหลากหลายสาขาแล้วก็คือ อายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้าร่วมโครงการซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 40 ปี และอายุเฉลี่ยของแต่ละกิจการอยู่ที่ไม่เกิน 13 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ดำเนินธุรกิจยุคใหม่ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการเตรียมตัวและปรับปรุงศักยภาพในด้านต่างๆ ขององค์กรเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในทิศทางที่ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการ – สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ ให้ความสนใจในการปรับปรุงระบบภาษีและบัญชี รวมถึงการรวมกลุ่มทางธุรกิจในลักษณะเครือข่าย โดยมุ่งหวังให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการเติมเต็มจุดเด่น-จุดด้อยตามที่แต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบหลักสูตร IDE to IPO จะมีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างน้อย 20% หรือจำนวน 16 รายภายในระยะเวลา 5 ปี รวมถึงเห็นโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ และเป็นผู้ประกอบการในระดับยูนิคอร์นโลดแล่นในเวทีโลกอย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10 สัปดาห์ สิ่งที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับก็คือ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม

กลยุทธ์ทางการตลาดดิจิทัล การสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบบัญชี กฎหมาย และภาษีสำหรับบริษัทที่เตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์จากกรณีศึกษาและการถ่ายทอดประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ ที่จะให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ในบรรยากาศแบบใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การรวมตัวทางธุรกิจร่วมกันกันในอนาคตอีกด้วย

ขณะที่ นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า IDE to IPO ถือเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่สำคัญของสถาบันวิทยาการนวัตกรรม ซึ่งสถาบันมีกิจกรรมในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรมให้กับทั้งเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และองค์กรในทุกระดับ พร้อมผลิตบุคลากรให้มีลักษณะความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากลเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ดำเนินการเปิดสถาบันดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี พบว่า นักศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีการตื่นตัว และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมมากขึ้น โดยอยู่ที่ระดับประมาณหลักหมื่นราย ดังนั้น เพื่อให้ความสำเร็จดังกล่าวมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีมากขึ้น ในปีนี้และปีถัดไป NIA Academy จะมีการออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมที่ครอบคลุมทกับโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สาขาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงออกแบบให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากสื่อและภายใต้ระบบวิธีศึกษาทางไกล ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพทางนวัตกรรมก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924