Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

2 ทรรศนะนักวิชาการไทย ถึงเวลาที่อุตสาหกรรมต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ทั้งด้วยวิกฤตแรงงาน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับการประกาศนโยบายอุตสาหกรรม ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว ไปสู่ New S-Curve ซึ่งนอกจากเป็นทางรอดเดียวของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคได้อีกด้วย

อุตสาหกรรมต้องปรับอย่างไร...

อุตสาหกรรมต้องปรับอย่างไร…

ฉบับนี้เรามีทรรศนะจากนักวิชาการ 2 ท่าน มานำเสนอ ทรรศนะหนึ่งมุ่งเน้นผลักดันให้อุตสาหกรรมปรับตัวสู่อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และทรรศนะหนึ่งมุ่งเน้นในเรื่องเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ จุดร่วมของทั้ง 2 ทรรศนะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การทำให้อุตสาหกรรมไทยไม่ใช่เรื่องในอุดมคติที่พูดกันหนาหูแต่ทำจริงไม่ได้อีกต่อไป

ดร.วงศ์วิทย์ เสนะวงศ์ดร.วงศ์วิทย์ เสนะวงศ์
Biomedical ความหวังใหม่อุตสาหกรรมไทย

เกริ่นให้เห็นสถานการณ์ของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ หรือ Biomedical ว่า หลังจากมีการระบุให้อุตสาหรรมทางการแพทย์เป็นหนึ่งใน New S-Curve กระทรวงอุตสาหกรรมก็พยายามให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากในอดีตไทยเคยผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่บริษัทแม่จะย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์บางส่วนต้องปรับตัวมาทำงานชิ้นส่วนที่ยากและละเอียดมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์

ดร.วงศ์วิทย์ แนะนำว่า ผู้ประกอบการต้องรวมตัวกัน และแจ้งความจำนงว่าจะผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยขณะนี้ ภาครัฐสนับสนุนเต็มที่อีกทั้งด้านงานวิจัยและพัฒนา สถาบันการศึกษาเองก็มีองค์ความรู้ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดให้ภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นการทำงานในลักษณะหุ้นส่วน (Partnership) หรืออาจเป็นการทำความตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาก็ได้พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการนำความเก่งของแต่ละฝ่ายมารวมกัน

“รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย อุปกรณ์การแพทย์มีรายละเอียดมาก ทั้งตัวอุปกรณ์ อย่างวัสดุ ก็มีตั้งแต่ยาง พลาสติก เหล็ก ส่วนระบบก็มีทั้งกลไกแบบแมคคานิคและกลไกคอมพิวเตอร์ ในเชิงกายภาพ โรงงานอาจต้องทำคลีนแล็ป ควบคุมอุณหภูมิ ความดัน และความชื้น รวมถึงยกระดับทักษะบุคลากรสายเทคนิค ทั้งมาตรฐานต่างๆ ที่ต้องได้รับการรับรอง ISO พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ และ CE Mark

“การรวมตัวกัน นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความรู้แล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น กระทรวงพาณิชย์บอกว่า ประเทศไทยนำเข้าเครื่องควบคุมสารละลายทางเส้นเลือดดำมากที่สุด ก็จะส่งโจทย์ไปให้อุตสาหกรรมว่า ทำไมไทยไม่ผลิตเอง เพราะมีความต้องการมาก ผลิตแล้วมีคนซื้อแน่” ดร.วงศ์วิทย์ ให้รายละเอียด

เทคโนโลยีใหม่ ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้นนอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างแม่พิมพ์ชิ้นส่วนยานยนต์ กับแม่พิมพ์เครื่องมือการแพทย์ยังมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ถนัดผลิตแยกชิ้นกัน แล้วนำมาประกอบ ในขณะที่อุปกรณ์การแพทย์ไม่สามารถผลิตแยกชิ้นได้ เพราะเครื่องมือแพทย์เป็นงานละเอียด สเกลเล็ก ต้องไม่มีรอยต่อ ดร.วงศ์วิทย์ ชี้ให้เห็นว่า ต่อจากนี้ไป ผู้ประกอบการต้องทำความคุ้นเคยกับสินค้า Made to Order การเปลี่ยนแม่พิมพ์บ่อยๆ รวมถึงทำความคุ้นเคยกับการทำงานบนสรีระมนุษย์ร่วมด้วย

“กล่าวคือ จากที่งานประเภท Made to Order เคยเป็นงานพิเศษ ก็จะกลายเป็นงานปกติ เมื่อใช้กับร่างกายคน จึงไม่มี Free Size ทุกอย่างต้องฟิตกับสรีระมนุษย์เพื่อการทำงานเต็มประสิทธิภาพของอุปกรณ์”

ดร.วงศ์วิทย์ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยมีนวัตกรรมและศักยภาพ สามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ แต่ขายเองไม่ได้ เพราะรูปลักษณ์ ความสวยงาม การออกแบบ การตลาด และแบรนดิ้งยังอ่อนแอ ดูไม่เป็นสากล

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่ปรับตัวจากชิ้นส่วนยานยนต์มาทำแม่พิมพ์เครื่องมือแพทย์ ก็ขึ้นรูปจาก 3DPrinter ได้ตัวโปรโตไทป์ที่สวยงาม คงทน แต่ราคาแพง เมื่อนำมาผลิตจริงกลับทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องต้นทุนสูงเกินไป

เทคโนโลยีใหม่ ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น

โลกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดขึ้นทุกวัน ทำให้ในยุคใหม่นี้ ผู้ควบคุมข้อมูลคือผู้ชนะ การแข่งขันวัดกันที่การรับ-ส่งข้อมูลในปริมาณมาก และแม่นยำ ไม่เว้นกระทั่งในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจาก 4G และ Wi-Fi ที่ทำให้ Telemedicine และแอปพลิเคชันทางการแพทย์เป็นไปได้จริงแล้ว ดร.วงศ์วิทย์ ยังชี้ให้เห็นว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นเทรนด์ในอนาคต ต้องมีลักษณะเป็น Wearable Devices สามารถสวมใส่พกพาติดตัวได้ ตรวจจับข้อมูลและแจ้งเตือนได้อย่างแม่นยำ และทันท่วงที อย่างสมาร์ทวอช ที่มี Embed System หรือสมองกลฝังตัว สามารถนับก้าวเดิน ตรวจจับความดันและการทำงานของหัวใจได้ นอกจากใช้ในกลุ่มคนรักสุขภาพแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน อีกด้วย

สมาร์ทวอช Embed System

“เทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เช็กระดับน้ำตาลในเลือดได้ว่าสูงหรือต่ำ อาจจะเป็นลักษณะการกินแคปซูลในระดับนำส่งยา ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์อัตโนมัติ ถ้าเรามีน้ำตาลมากเกินไป ยาจะไปเปลี่ยนอินซูลินเป็นไกลโคเจน หรือถ้าน้ำตาลต่ำ ก็จะเตือนผู้ป่วยว่า ต้องเพิ่มน้ำตาลในเลือดแล้วนะ” ดร.วงศ์วิทย์ ยกตัวอย่าง

เปิดตลาดช้อปไอเดีย R&D จากสถาบันการศึกษา
การลงทุนที่วิน – วิน

เมื่อเอ่ยถึงสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ (ThaiBME) นั้น สมาคมนี้เกิดจากการรวมตัวของสถาบันการศึกษา 7 สถาบัน ได้แก่ มหิดล มศว. ลาดกระบัง ม.รังสิต พระนครเหนือ สงขลานครินทร์ และคริสเตียน มีหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพื่อผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมชีวการแพทย์โดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นการตอบรับนโยบายรัฐได้อย่างดี

ผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมชีวการแพทย์

ล่าสุด มีการจัดแข่งขัน Biomedical Engineering Innovation โดยจะเวียนกันจัดใน 7 มหาวิทยาลัย ให้นักศึกษานำเสนอนวัตกรรมแข่งขันกัน โดย ดร.วงศ์วิทย์ กล่าวว่า ในอนาคตจะเชิญผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมาช้อปปิ้งไอเดียไปต่อยอด เนื่องจากหากผู้ผลิตลงทุนงบประมาณส่วน R&D เอง จะมีค่าใช้จ่ายมาก การช้อไอ้ดียจึงเป็นวิธีที่วิน – วิน ทั้งสองฝ่าย

“ทุกสถาบันปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น เพิ่มรายวิชา Internet of Things หรือวิชา Embed System เข้าไปในการเรียนการสอน เรามีหน้าที่สร้างบุคลากร เด็กที่จบมาจะได้ไปรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้ Learning Curve สั้นลง เพราะจบตรงสาย ถูกฝาถูกตัว หรือกระทั่งในแวดวงอาชีวศึกษาเอง ก็ปรับตัวเพื่อพยายามผลิตช่างเทคนิคด้านนี้เช่นกัน” ดร.วงศ์วิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.ชัชพล ชังชูรศ.ดร.ชัชพล ชังชู
ซอฟต์แวร์ + คน ทำงานดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ในงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสเกลเล็กหรือใหญ่ ละเอียดมากหรือน้อย มาร์จิ้นสูงหรือต่ำ ย่อมต้องมีตัวสื่อสารระหว่างเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยกลุ่มซอฟต์แวร์ CAD CAE และ CAM ซึ่งการสั่งการที่แม่นยำจะส่งผลไปยังกระบวนการอื่นๆ ตามมาเป็นเงาตามตัว

เพราะซอฟท์แวร์ที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้อย่างดี จะนำไปสู่การผลิตที่ไม่มี Error ช่วยให้ไม่สูญเสียเวลาจากการแก้ไข ส่งผลไปสู่ชิ้นงานคุณภาพ และทำให้อุตสาหกรรมไทยถูกกล่าวถึงในเชิงบวก รศ.ดร.ชัชพล ชังชู อาจารย์จากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าถึงความจำเป็นในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ CAD CAE CAM ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรไว้อย่างชัดเจน

CAD CAE CAM เวิร์ค = ชิ้นงานเวิร์ค
องค์กรมีแต่ได้ประโยชน์

รศ.ดร.ชัชพล อธิบาย CAD CAE CAM แบบสั้นๆ แต่ได้ประโยชน์ว่า CAD คือการวาดภาพโดยการประมาณเส้น จากนั้นส่งข้อมูลให้ CAE วิเคราะห์และลองคำนวณ สร้างสมมติฐาน ทดสอบความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งาน และคำนวณหาค่าประมาณของคำตอบ (Approximate Solution) ทดสอบเพื่อหาค่าความคลาดเคลื่อน (Error) หากไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ส่งกลับไปแก้ที่ CAD แต่หากผ่านแล้ว ก็ส่งไป CAM ซึ่งมีหน้าที่สื่อสารให้เป็นภาษาเครื่องจักร เพื่อให้เครื่องจักรรับคำสั่งไปปฏิบัติงานต่อ

“CAM คือ ล่ามที่จะแปลภาษาเพื่อสื่อสารกับเครื่องจักร แม้เครื่องจักรจะมีภาษาสากล แต่ CAM ที่ดี จะต้องรู้ภาษาเฉพาะของเครื่องจักรนั้นๆ เพื่อให้เครื่องจักรรับคำสั่งได้ถูกต้อง 100% และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ฉะนั้น การจะลงทุนซื้อ CAM ต้องพิจารณาว่า CAM รู้จักกับ CAD และเครื่องจักรหรือไม่”

“กลุ่มซอฟต์แวร์นี้ส่วนใหญ่ใช้ในเครื่องจักร CNC และแขนกล เขาจะขายเป็นแพ็คเกจ มี CAD เป็นหลัก และ CAM เป็นตัวแถม ซึ่งที่ผ่านมา CAD ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ CAM มักทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะ CAM รู้จักกับเครื่องจักรไม่ดีพอ ข้อมูลที่ถ่ายทอดหรือส่งต่อไปจึงสมบูรณ์

“โรงงานไหน ต้องซื้อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเครื่องจักร ถ้าเขาอยู่ใน Supply Chain เขาต้องมีโปรแกรมตามบริษัทแม่ แต่บางโรงงานต้องการ CAM เยอะมาก เพราะมีลูกค้าหลากหลาย ลูกค้าหิ้วไฟล์อะไรมา ต้องเปิดได้หมด หรือในโรงงานสายออกแบบ ลูกค้าออร์เดอร์อะไรมา ต้องพร้อมออกแบบแม่พิมพ์ ยิ่งหากเป็นลักษณะ Made to Order ยิ่งต้องมีเยอะ เพราะความต้องการของลูกค้าหลากหลาย ดังนั้นอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวไปตามความต้องการของลูกค้าด้วย” รศ.ดร.ชัชพล กล่าว

แนะ 4 เรื่องสำคัญ
ตีโจทย์ให้แตกก่อนซื้อเครื่องจักรและซอฟต์แวร์

เพราะเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ต้องทำงานประสานกันอย่างลงตัว รศ.ดร.ชัชพล จึงฝากเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคิดก่อนตัดสินใจเลือกเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ โดยมีหลักการง่ายๆ ว่า…

หนึ่ง พิจารณาความจำเป็น (Need Requirement) ของโรงงาน
สอง พิจารณาคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่องจักร
สาม พิจารณางบประมาณของบริษัทฯ
และที่จะลืมไม่ได้เลยคือ บริการหลังการขาย ซึ่งได้แก่ การซ่อมบำรุง อะไหล่ ประกัน ศูนย์บริการ และความน่าเชื่อถือของตัวแทนจำหน่าย

สี่ข้อสั้นๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินความคุ้มค่าในการเลือกใช้เครื่องจักรและซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้ไม่ยาก

คนคือหัวใจหลัก คอมพิวเตอร์ก็แค่เครื่องคิดเลข
INPUT ผิด จะไม่มีวันได้ OUTPUT ที่ถูก

“แม้ว่าเทคโนโลยีก้าวหน้า แต่คอมพิวเตอร์ ก็คือเครื่องคิดเลข ใช้เลขฐานสอง และหาได้เพียงค่าประมาณ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเครื่องคิดเลขจะดีเพียงใดก็ตาม แต่ถ้า Input ข้อมูลผิด Output ก็ย่อมผิด ฉะนั้น CAD CAE และ CAM ไม่ใช่พระเจ้าที่ทำทุกอย่างได้

“นอกจากนี้ แม้ว่าจะคุยภาษาเดียวกันแล้ว เครื่องจักรรับคำสั่งไปอย่างถูกต้อง 100% ก็ตาม แต่เครื่องจักรทำตามคำสั่งได้ไหม และถ้าทำได้ ทำได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ผลิตต้องระวัง

“ตัวที่จะทดสอบ Error หรือความคลาดเคลื่อนมีทางเดียว คือ ทดลองทำจริงเท่านั้น ไม่ว่ากระบวนการไหน ต้องลองทำจริงแล้วดูผล เพราะสุดท้ายมันจะมีปัจจัยที่บอกเราว่า นี่คือลิมิต ทำเกินนี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าบุคลากรมีประสบการณ์ คุ้นเคยกับเครื่อง เขาจะบอกได้คร่าวๆ ว่า อันไหนเครื่องทำได้ อันไหนทำไม่ได้…

“หัวใจหลักยังอยู่ที่คน เพราะคนเป็นคนป้อนข้อมูล” รศ.ดร.ชัชพล ยืนยันถึงความสำคัญของคน

เมื่อคนเป็นผู้แลระบบ สภาวิศวกร จึงบรรจุการใช้ซอฟต์แวร์ CAD CAE และ CAM ลงในหลักสูตรให้เป็นวิชาบังคับ เพื่อให้คนทำงานมีความรู้พื้นฐานไปต่อยอดสู่การลงมือทำจริง

รศ.ดร.ชัชพล ยืนยันว่า ต้องเรียนและฝึกภาคปฏิบัติเพิ่ม มหาวิทยาลัยสอนได้แค่พื้นฐาน คือ หนึ่งสอนให้เด็กรู้วิธี Input ข้อมูลให้ถูก และสองสอนให้เด็กรู้วิธีอ่าน Output ให้เป็น

“นักศึกษาก็เป็นคน ยังต้องเทรน ต้องฝึก ไม่มีสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน ไม่ฝึกไม่ได้” รศ.ดร.ชัชพล เน้นย้ำ

จากข้อมูลที่ ดร.วงศ์วิทย์ และ รศ.ดร.ชัชพล เล่ามา พอสรุปได้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองร่วมกับการหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกับภาครัฐฯ และภาคการศึกษา จับมือกันเป็นสามประสาน ใช้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ ใช้องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา และใช้ศักยภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมให้เต็มที่ เป็นสิ่งสำคัญที่

ผู้ประกอบการต้องเก็บไปคิดเป็นการบ้าน และตีโจทย์ให้แตก และตัดสินใจทำอย่างเร่งด่วน 
เพราะคนที่ปรับตัวได้เร็วกว่า คือผู้ที่มีโอกาสรอดมากกว่านั่นเอง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924