เทคโนโลยีจำนวนมากถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายจนหลายครั้งเราไม่สามารถติดตามได้ทันทั้งหมด แต่มีเทคโนโลยีบางชนิดเท่านั้นที่สามารถพลิกโฉมรูปแบบชีวิตและการทำงานได้อย่างชัดเจนซึ่ง ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ได้บรรยายภายในงาน Thailand Tech Show 2019 ในหัวข้อ ’10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies to Watch)’
Thailand Tech Show 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2562 ณ ที่คอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ มีเป้าหมายเพื่อแสดงผลงานวิจัยให้เป็นตลาดเทคโนโลยีผู้ซื้อพบนักเทคโนโลยี เชื่อมโยงงานวิจัยจาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ สู่ภาคธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘นวัตกรรม 360 องศา เพื่อความยั่งยืน (360 ํ Innovation X Sustainability)’ ต่อยอดและต่อชีวิตงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมพร้อมขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสร้างผู้ประกอบการในกลุ่ม OBM ขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจาก สวทช.
สำหรับ 10 เทคโนโลยีที่ต้องจับตามองนั้นเป็นการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบได้อย่างชัดเจนใน 5 – 10 ปีข้างหน้า และขณะนี้บางเทคโนโลยีอาจใกล้จะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ๆ ได้แล้ว บางชนิดอาจจะยังเป็นต้นแบบหรือการทดสอบเบื้องต้น แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบกับชีวิตและธุรกิจในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานอุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่ามีบทบาทเป็นทั้งผู้ใช้งาน ผู้ผลิต และผู้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น
1. เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G/6G (Mobile Network 5G/6G)
โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone) กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน (Smart Phone) ที่มีให้ใช้กันอย่างทั่วถึง ซึ่งระบบเครือข่าย 4G ที่ใช้กันในปัจจุบันสามารถทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 3G ซึ่งเป็นระบบเดิมที่ใช้กันมาอย่างยาวนานอีกราว 50 เท่า และสำหรับ 5G จะมีการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นไปอีก 20 เท่าจาก 4G โดยมีจุดเด่นในการใช้งานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึงเร็วถึง 500 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถส่งข้อมูลต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 100 เท่า และมีคุณภาพการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมากกว่าระบบสัญญาณ 4G ดังนั้น 5G สามารถทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น AI, Big Data, Cloud, IoT และ IIoT เป็นต้น ทำให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น สามารถรองรับระบบการขับขี่ยานยนต์อัตโนมัติ การใช้งานระบบเครือข่ายภายในโรงงงานซึ่งโดยปรกติจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณและการติดตั้งที่สามารถทำได้ยาก
2. วิศวกรรมและการประมวลผลด้วยควอนตัม (Quantum Computing & Engineering)
ทศวรรษหน้า โลกจะสามารถรองรับข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ที่ละเอียดและยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการหน่วยประมวลผลที่ดีขึ้น เทคโนโลยีควอนตัมสามารถทำให้เกิดการประมวลผลที่รวดเร็วและใช้ทรัพยากรน้อยกว่าคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบดั้งเดิมที่ต้องทำการทดสอบข้อมูลทีละชุด ในขณะที่การประมวลผลด้วยควอนตัมจะสามารถดำเนินการขั้นตอนตรวจสอบเหล่านั้นได้พร้อม ๆ กัน โดยจะมีบทบาทในการทำงานที่หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นหลายพันเท่าสามารถถอดรหัสดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตที่ยาวมากเป็นพัน ๆ ล้านหน่วย สามารถสร้างแบบจำลองเพื่อค้นหายาใหม่ ๆ ที่ใช้ได้อย่างแม่นยำกับผู้ป่วย ใช้ตรวจวินิจฉัยโรคในการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอผลแล็บหลายวัน ชิปสำหรับนาฬิกาอะตอม (Atomic Clock) ใช้เทียบค่าเวลาสากลที่มีความแม่นยำมาก ถึงระดับนาโนวินาที (nano-second) รองรับการซื้อขายในระบบธนาคาร หรือคำสั่งซื้อในตลาดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณถึง 100 ล้านคำสั่งต่อวินาทีได้
3. ปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต (Future AI)
ระบบปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาอย่างยาวนานในชีวิตของมนุษย์ทั้งในความเป็นจริงและนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนการทำงานได้หลากหลายไม่ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจอัตโนมัติที่เกิดจากระบบการเรียนรู้และทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัญญประดิษฐ์แห่งอนาคตที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นจะมีส่วนที่เป็นหัวใจหรือสมองของระบบที่คล้ายคลึงกับปัญญาประดิษฐ์ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป ได้แก่ เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ด้วย เครือข่ายประสาทเทียม ที่เรียกว่า Deep Neural Network ซึ่งสร้างโดยเลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์ ความสามารถของ AI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber-Physical System) ที่ส่งผ่านข้อมูลระหว่างโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกจริงทางกายภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ AI ประมวลผลและสั่งการควบคุมการขับรถได้ในเวลาเสี้ยววินาทีด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่มากขึ้น โดยบริษัท McKinsey ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2030 ระบบแบบนี้จะทำให้ตำแหน่งงานหายไป 400 – 800 ล้านตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดงานใหม่ ๆ ขึ้นมาจำนวนมากแต่จะเป็นทักษะที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
4. เทคโนโลยีบริการสำหรับการเดินทาง (Mobility–as–a–Service, MaaS)
ในมหานครที่การจราจรซับซ้อนการให้บริการนำผู้โดยสารไปยังที่หมายอย่างสะดวกสบายที่สุด ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าเป็น Mobility–as–a–Service หรือ แมส (Maas) มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนี้ในปัจจุบัน ตัวอย่างผู้ให้บริการแมสรายใหญ่ 2 รายคือ อูเบอร์ (Uber) ของสหรัฐฯ กับ ตี๊ตี๊ (DiDi) ของจีน ข้อมูลปี พ.ศ. 2560 ระบุว่ามูลค่าของบริษัทตี๊ตี๊อยู่ที่ราว 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อูเบอร์มากกว่าคือ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่น่าสนใจคือ ตี๊ตี๊ เป็นบริษัทที่โตอย่างก้าวกระโดดจากการเทคโอเวอร์บริษัทอูเบอร์ในจีน เมื่อปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบัน นอกจากการนำผู้โดยสารไปยังที่หมายแล้วยังบริการส่งของต่าง ๆ อย่างบริการ GrabFood และ Line Man ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้สถาบันวิจัย BIS Research ประเมินว่าอนาคตอันใกล้ ตลาดของแมสกำลังเติบโตด้วยความเร่ง โดยปัจจัยสำคัญคือ ความสามารถในการสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการยานพาหนะ และความสามารถในการให้บริการแบบ On Demand รวมถึงการสนับสนุนอย่างเหมาะสมโดยภาครัฐ
5. เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell)
เซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไกต์ มีโครงสร้างผลึกคล้ายแร่แคลเซียมไทเทเนียมออกไซด์ (CaTiO3) หรือแร่เพอรอฟสไกต์ ที่ดูดซับแสงและเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ดี ยังสามารถขึ้นรูปได้ในลักษณะสารละลายคล้ายกับน้ำหมึกพิมพ์ เพื่อนำไปพิมพ์บนแผ่นฟิล์มหรือพื้นผิวต่าง ๆ โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ คือ 30 – 50% ของเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิคอน
มีการประเมินว่าในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้าตลาดของเซลล์แสงอาทิตย์น่าจะเติบโตไปได้จนถึง 1.4 แสนล้านเหรียญ และด้วยข้อดีของเซลล์แบบนี้ที่มีน้ำหนักเบาและโค้งงอได้ไม่เสียหาย ปัจจุบันจึงมีภาคเอกชนจากสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และจีน ตั้งเป้าผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกท์ออกขายในปีหน้า สำหรับประเทศไทยนักวิจัย สวทช. พัฒนาทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างวัสดุในการส่งผ่านอิเล็กตรอน สารเคลือบผิวชนิดกันน้ำและสะท้อนความร้อน รวมทั้งพัฒนากระบวนการเคลือบฟิล์มบางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้
6. แบตเตอรี่ลิเทียมแห่งยุคถัดไป (Next Generation Lithium Ion Batteries)
ในปี พ.ศ. 2561 มูลค่าตลาดของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อยู่ที่ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตปีละ 13% และจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แม้จะยังไม่มีแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง แต่ก็มีแบตเตอรี่ที่น่าสนใจหลายแบบ เช่น แบตเตอรี่แบบ Solid–state Lithium Ion ที่จุพลังงานได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า และมีความปลอดภัยมากขึ้น แบตเตอรี่ลิเทียม–ซัลเฟอร์ (Lithium-sulfur) ที่คนหันมาสนใจกัน เพราะจุพลังงานได้มากกว่าแบบลิเทียมไออน 2 – 4 เท่า แต่ราคาถูกกว่า ตัวอย่างบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ เช่น Oxis Energy และ Sion Power นอกจากนี้ยังมีแบเตอรี่ลิเทียม–แอร์ (Lithium-air) จุพลังงานมากขึ้นถึง 10 – 100 เท่า ทั้งนี้ เอ็มเทค สวทช. มีงานวิจัยด้านวัสดุใหม่ ๆ และการออกแบบขึ้นรูปเซลล์ในแบตเตอรี่แบบ Solid-state Lithium Ion และ Lithium-air โดยเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มอายุการใช้งาน และลดราคาต้นทุน
7. Exoskeleton
Exoskeleton หรือโครงเสริมภายนอกกาย เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์มีพละกำลังเสริม และยังป้องกันอันตรายบางอย่างต่อร่างกายได้ ซึ่งมีการนำ Exoskeleton ใช้ช่วยเพิ่มความสามารถทำภารกิจต่าง ๆ ใช้ในทางทหาร ใช้กู้ภัย ใช้ช่วยเรื่องฝึกฝนและสร้างสมรรถภาพของนักกีฬาได้ และในทางการแพทย์ก็ช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการหรือผู้สูงอายุโดยทั่วไปได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็สามารถใช้นการสนับสนุนแรงงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ชุด EskoVest ของ Esko Bionics ในโรงงานประกอบรถยนต์ของ Ford ทั่วโลก ชุด Chairless chair ของ Noonee ที่เป็นอุปกรณ์สวมใส่ติดอยู่บริเวณเอว ขา และเท้าของผู้ใช้สามารถกางออกเป็นเก้าอี้ได้ ซึ่งใช้งานแล้วมากกว่า 350 ชิ้น
8. ไฟเบอร์สารพัดประโยชน์จากจุลินทรีย์ (Microbial Multifunctional Fiber)
มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถสร้างเซลลูโลส แต่เซลลูโลสในจุลินทรีย์ต่างจากเซลลูโลสในพืชตรงที่ สามารถทำออกมาให้บริสุทธิ์ได้ง่ายกว่า แข็งแรงกว่า ขึ้นรูปได้ง่ายและยังอุ้มน้ำได้ดีด้วย ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ผลิตเซลลูโลสได้ ได้แก่ พวก Acetobacter และ Agrobacteria โดยเซลลูโลสที่จุลินทรีย์เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งเป็นสารตั้งต้นทำอาหาร เช่น เติมในวุ้นมะพร้าว เต้าหู ไอศกรีม หรือโปรตีนเกษตร ในทางการแพทย์สามารถเปลี่ยนน้ำตาล Mannitol ได้ เมื่อผ่านกระบวนการอีก 2 – 3 ขั้นตอนจะเกิดเป็นไบโอฟิล์ม (biofilm) ที่เหมาะทำเป็นผลิตภัณฑ์ปิดแผล หรือผิวหนังเทียม (artificial Skin) นักวิจัยจาก ETH Zurich University พัฒนาเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นองค์ประกอบนำมาผลิตนาโนฟิลเตอร์ ใช้กรองสารพิษได้ ส่วนในด้านอุตสาหกรรม บริษัท Nanollose ในออสเตรเลีย ตั้งต้นของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมและการเกษตรนำไฟเบอร์ที่ได้มาผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยไม่ต้องตัดพืช ซึ่งต้องอาศัยความรู้สาขาใหม่ด้านชีววิทยาการสังเคราะห์ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา
9. ร่างกายจำลองทดสอบยา (Companion Diagnostics)
ในปี พ.ศ. 2558 สวทช. เคยกล่าวถึงเทคโลยีการเพาะกลุ่มเซลล์สมองที่เรียกว่า Brain Organoid ที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับสมองของตัวอ่อนในครรภ์อายุ 5 สัปดาห์ มีขนาดเท่าก้อนยางลบดินสอ และส่งถ่ายกระแสประสาทได้จริง จึงใช้เป็นโมเดลในการทดลองต่าง ๆ แก้ปัญหาจริยธรรมเรื่องการใช้มนุษย์ทดลองยาโดยตรง
ไม่เพียงแต่สมองจิ๋ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ อีกหลายอย่างก็เพาะเลี้ยงได้เช่นกัน เรียกรวม ๆ ว่าเป็น ออร์แกนอยด์ (Organoid) ที่แปลว่า ‘อวัยวะเล็ก ๆ’ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ทดสอบที่สำคัญได้ เช่น ตรวจความเป็นพิษ และศึกษาปฏิสัมพันธ์ของเซลล์กับสารออกฤทธิ์
ความก้าวหน้าครั้งใหญ่เกิดขึ้นจากระบบที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อออแกนอยด์ของอวัยวะต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านระบบของเหลว จนได้ผลลัพธ์คล้ายเป็นร่างกายเทียมขนาดจิ๋ว หรือเป็นที่นำมาใช้ทดสอบยาได้ จุดเด่นของระบบแบบนี้คือ สามารถออกแบบให้ใช้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ จึงเป็นการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) แบบหนึ่ง ระบบนี้เรียกรวม ๆ ว่าเป็น Companion Diagnostics หรือ ‘ร่างกายจำลองทดสอบยา’ ทำให้การทดสอบยากับเซลล์เพาะเลี้ยงแต่ละชนิดเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะสามารถเลียนแบบการตอบสนองของร่างกายจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบีบตัวของเซลล์หัวใจ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์กระดูก การส่งถ่ายและกำจัดสารต่าง ๆ ออกจากเซลล์ไต รวมไปถึงการเผาผลาญทำลายสารต่าง ๆ ในเซลล์ตับ เป็นต้น
10. วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Vaccine)
การรักษาโรคมะเร็ง โดยการฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาแบบเหมารวม ไม่จำเพาะกับบุคคล แต่ละคนจึงตอบสนองกับยาหรือรังสีแตกต่างกันไป นอกจากนี้มักเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง และบางครั้งผู้ป่วยที่หายแล้ว ก็อาจเป็นมะเร็งเดิมได้อีกวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีความพยายามที่จะทำวัคซีนหรือยาสำหรับโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลขึ้น โดยมีวิธีการคือ เริ่มจากนำเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยออกมาเพื่ออ่านรหัสดีเอ็นเอ จากนั้นเปรียบเทียบรหัสในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อหาว่ามีตำแหน่งใดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีน จากนั้นใช้ซอฟต์แวร์ทางชีวสารสนเทศ หรือ Bioinformatics มาจัดลำดับความสำคัญของส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจุดตั้งต้นในการนำมาสร้างเป็นวัคซีนชนิดพิเศษ เรียกว่า นีโอแอนติเจนวัคซีน (Neoantigen Vaccine) ซึ่งอาจจะเป็นสาย RNA หรือ DNA ก็ได้
จากนั้นจะฉีดวัคซีนดังกล่าวเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย โดยอาจจะใส่เข้าไปแบบนั้น หรืออาจห่อหุ้มด้วยสารพอลิเมอร์ หรือ ไลโปโซม (Liposome) ซึ่งวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้จดจำเซลล์มะเร็งได้ ก่อนเริ่มการค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ โดยไม่ยุ่งกับเซลล์ปกติ
ในปี พ.ศ. 2559 บริษัท BioNTech ของเยอรมนี ร่วมมือกับบริษัท Genetech ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทยายักษ์ใหญ่ Roche เริ่มวิจัยความเป็นไปได้ที่จะสร้างวัคซีนมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล และในปีต่อมาก็เริ่มทดสอบในผู้ป่วย 560 คน ที่เป็นมะเร็งแบบต่าง ๆ มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอสรุปผลการวิจัย
ในเมืองไทยมีกลุ่มวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เช่น กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ และทีม โดยได้ศึกษาการสร้างวัคซีนจากผู้ป่วย 25 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อจะนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วย หากได้ผลดีจะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการรักษาโรคมะเร็งที่ไม่จำเป็นต้องตายเสมอไป
บทความที่เกี่ยวข้อง:
Mobility is King เมื่อความคล่องตัวในการทำงานเป็นเรื่องของความสำเร็จ
Chairless Chair เก้าอี้ที่ไม่ได้มี 4 ขาสำหรับหนุ่มสาวชาวไลน์(ผลิต)