Industrial Economic, Industry 4.0, F.T.I., Thailand, ยุทธศาสตร์, การจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนรายประเทศ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลต้องการนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยผลักดันแนวคิดประเทศไทย 4.0 วางอุตสาหกรรมให้เป็น S-Curve นั้น สะท้อนชัดว่า หากยังเดินทางเก่า เราอาจไปไม่รอด ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบหลากหลายมิติ แต่ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่อาจมีใครหนีพ้นความเปลี่ยนแปลงนี้ เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนจะมีคนมาเปลี่ยนเรา
ฉบับนี้ พูดคุยกับ ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์’ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ในมุมของนักวิจัย รวมถึงการใช้ประโยชน์ AEC Connect ต่อภาคเศรษฐกิจไทยให้ได้มากที่สุด
ฐานปิระมิดแคบลง
ความท้าทายใหม่ของภาคอุตสาหกรรม
เพราะภาคอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่นำพารายได้หลักมาสู่ประเทศ ดังนั้น การพัฒนาจากการผลิตในรูปแบบ OEM มาสู่ ODM จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดร.สมเกียรติ คือหนึ่งคนที่ยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ทางด้านความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม หากผู้ผลิตยังยืนยันที่จะรับจ้างผลิต หรือ OEM จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ไปไหนอย่างแน่นอน
“ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม โดยยังเน้นการผลิตแบบรับจ้างผลิต ซึ่งทำให้เราเหนื่อย และพบปัญหามากขึ้น ปัญหาแรกที่ทุกคนต่างเห็นด้วยคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ตั้งแต่ผู้จัดการ วิศวกร ช่างเทคนิค และแรงงานระดับล่าง นั่นเพราะโครงสร้างประชากรของเราเปลี่ยนรูปร่าง อัตราการเกิดต่ำ และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ เราเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ปีนี้เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์เมืองไทยที่ประชากรวัยแรงงานของเราลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเรื่อยๆ เช่น เมียนมาร์มีประชาธิปไตย ทำให้อเมริกาเลิกคว่ำบาตร เศรษฐกิจในประเทศเขาดีขึ้น เขาก็กลับไปทำงานที่บ้านเขา เหตุการณ์นี้จึงทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
ปัญหาที่สอง เศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 3% ไปอีก 5-10 ปี ในขณะที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์โตได้ 6% ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ โตได้ถึง 8% ฉะนั้น อุตสาหกรรมไทยที่โดยปกติจะหวังกำไร 10% เป็นไปได้ยากมาก เพราะขายในประเทศได้แค่ 3% หรือหากจะผลิตไปขายให้อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ต้นทุนเราก็สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ค่าจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่า ถ้าเรายังผลิตแบบเดิม ใช้แรงงานเยอะๆ เราเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน” ดร.สมเกียรติ ประธานทีดีอาร์ไอวิเคราะห์
ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “ปัญหาที่ไทยกำลังเจอคือปัญหาเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ทั้งการเป็นสังคมสูงอายุ และขาดแคลนแรงงาน ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศติดล็อก เห็นได้ว่า คนญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในบ้านเรานั้น มาทำงานเป็นวิศวกร เป็นผู้จัดการโรงงาน มาควบคุมการผลิต เพราะต้องหนีจากประเทศตัวเองที่ติดล็อกเช่นกัน สำหรับประเทศไทยขณะนี้ บางส่วนรู้ตัวเร็วและกล้าเสี่ยงออกไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ทั้งตามตะเข็บชายแดนพม่า แม่สอด เมียวดี ด่านเจดีย์สามองค์ หรือฝั่งกัมพูชา ปอยเปต บันเดียน เวียดนามใต้ โฮจิมินห์ ส่วนลาวก็ข้ามมุกดาหารไปสะหวันเขต หรือเวียงจันทร์”
คำตอบของไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่หุ่นยนต์
แต่คือการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างแบรนด์
ใครๆ ก็สามารถพูดได้ว่า หากไม่อยากติดกับดักตลาดล่าง ไทยต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่า หันมาทำสินค้าตลาดไม่ว่าจะเป็น Niche Market หรือ High-End แต่ในเมื่อเราเคยเป็นฐานการรับจ้างผลิตมาตลอด เราจะเคลื่อนไปสู่ ODM ได้อย่างไร นั่นต่างหากคือคำถาม
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เราเคยมีความเชื่อว่า การจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุนตั้งโรงงานในไทยจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต สร้างงาน สร้างรายได้ แต่ขณะนี้ เรามีโจทย์ใหม่ เราขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูง จึงต้องคิดใหม่ คิดกลับกัน อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัว อย่างแรกคือ ย้ายฐานการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเยอะๆ ออกไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเขามีแรงงาน และต้นทุนการผลิตถูก รวมถึงยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ที่งดเว้นภาษีนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ด้วย ส่วนโรงงานในประเทศไทยที่เดิมเคยรับจ้างผลิตก็ต้องหันมาทำวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตของที่ยากขึ้น จำเพาะเจาะจงขึ้น มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
อย่างอุตสาหกรรมแฟชั่น ตัดเย็บเสื้อผ้าใช้แรงงานมาก ตอนนี้ แรงงานระดับล่างขาดแคลน เราต้องไปเปิดโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแทน ทีนี้จะทำอย่างไรให้โรงงานในไทยไม่หดตัว บริษัทหรือโรงงานที่เคยรับจ้างผลิตแบบ OEM ก็ต้องหันมาสร้างแบรนด์ มาออกแบบเสื้อผ้าเอง เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นชาติการค้า ต้องเป็น Trading Nation ต้องทำให้แบรนด์ไทยกลายเป็นแบรนด์อาเซียน กลายเป็นแบรนด์โลก และถ้าคุณจะเอาของออกไปขายให้ได้ดี คุณต้องเข้าใจตลาด ฉะนั้น หากยังตั้งหน้าตั้งตาผลิตอย่างเดียวโดยไม่ทำตลาด จะโตยาก อาจไม่ได้เจ๊งหมด แต่มันจะทำยากขึ้นทุกที
วันนี้เขาแข่งกันที่อะไร ให้ดู iPhone กับ Samsung เขาแข่งอะไรกัน ไม่ใช่แข่งกันผลิตสินค้าตัวเดิมให้ถูกลงๆ แต่ยิ่งผลิตต้องยิ่งล้ำ สร้างนวัตกรรม มีฟีเจอร์ใหม่ๆ จะชนะได้ต้องมีของใหม่ ซึ่งของใหม่ที่ว่าจะเกิดขึ้นได้จากการวิจัยและพัฒนานั่นเอง” ดร.สมเกียรติวิเคราะห์
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติ ยังเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกว่า การรับจากผลิตนั้นอาจทำให้ได้ Gross Margin อย่างมากก็ 10 – 15% ซึ่งต้องถูกบริษัทแม่กดราคาลงเรื่อยๆ ด้วยคำขู่เดิมๆ ที่ว่า จ้างที่อื่นผลิตถูกกว่า แต่หากมองกลับกันคือหันมาสร้างแบรนด์ของตนเอง จะทำให้ Gross Margin เพิ่มขึ้นเป็น 30% ได้ไม่ยาก และหากมีหน้าร้านที่ต่างประเทศด้วยแล้ว อาจทำให้ขยับเป็น 50% ก็เป็นไปได้
“คุณต้องเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ใช่รับจ้างผลิต อย่าง SCG เขาตั้งเป้าเลยว่า จะผลิตสินค้า HVA (High Value Added) ต้องเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าสินค้าทั่วไป 10% เช่น สินค้าในไลน์ปกติได้กำไร 5% สินค้า HVA ต้องกำไรอย่างน้อย 15% ขึ้นไป เช่น SCG Packaging เดิมคือ SCG Paper เขาเปลี่ยนจากทำกระดาษเป็นทำบรรจุภัณฑ์ สินค้าขายดีคือ Flexible packaging คือเป็นกล่องที่ไม่มีรูปร่างตายตัว ยืดหยุ่นได้ ลูกค้าก็ซื้อบรรจุภัณฑ์ไปห่อมะพร้าวน้ำหอมเพื่อส่งออก เดิมอยู่ได้ 15 วัน พอใช้เทคโนโลยีและการวิจัยเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่าเก็บมะพร้าวได้ 45 วัน ผลประโยชน์มหาศาล ต้นทุนถูกลง และกำไรดีขึ้น จะส่งไปขายที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์แบบนี้ ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ ต้องวิจัย ต้องทดลอง ต้องพัฒนา พอได้แล้วมาจดสิทธิบัตร
นี่แหละคือไทยแลนด์ 4.0 ต้องไปด้วยวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ของใหม่ที่มูลค่าเพิ่ม” ดร.สมเกียรติยกตัวอย่าง
ออกไปแตะขอบฟ้า อย่ากลัว
ดร.สมเกียรติประธานทีดีอาร์ไอยังวิเคราะห์ด้วยว่า วิสัยทัศน์ S-Curve และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว เพราะทำให้ผู้ประกอบการฉุกคิด ทว่าตัวนโยบายรัฐกลับยังขัดแย้งกันเองอยู่
“ที่สับสนคือ รัฐบาลเอาไทยแลนด์ 4.0 ไปผสมกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ที่แม่สอด รัฐบาลอยากให้มีแรงงานเมียนมาร์เดินทางจากเมียวดี เดินทางมาทำงานที่แม่สอด ถ้าเป็นอย่างนั้น เรายังใช้แรงงานต่างด้าวราคาถูกมาผลิตสินค้าจำนวนมากขายราคาถูกๆ อยู่ นั่นแปลว่า เราไม่ได้หวังจะผลิตสินค้าเกรดดีๆ นี่คือสัญญาณที่สับสน
สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องขนเงินของคุณออกไปตั้งโรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เอาคนงานจากเพื่อนบ้านเข้ามา ส่วนโรงงานในไทย คุณต้องต่อยอดให้โรงงานเราทำของที่ยากขึ้น คุณต้องย้ายโรงงานไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย เพราะนั่นหมายความว่า คุณจะเจอค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเหมือนเดิม และคุณจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ตัวอย่างที่ผมยกคือ SCG เขาเอาของง่ายๆ ออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านหมดแล้ว ตอนนี้ฐานการผลิต SCG อยู่ครบทุกประเทศอาเซียนแล้ว ขาดแค่บรูไนประเทศเดียว ในอินโดนีเซียไปซื้อโรงงานเขาเลย เพราะถ้าจะไปขออนุญาตโรงงานปูน น่าจะใช้เวลาเป็น 10 ปี ซึ่งไม่ทันกิน ซื้อโรงงานเลยง่ายกว่า แต่โรงงานเหล่านั้น ยังมีคุณภาพการผลิตไม่ถึงขั้น SCG ก็เอาเทคโนโลยีการบริหารจัดการโรงงานเข้าไปใส่ เข้าไปบริหาร เขาไปปรับปรุงโรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพ ส่วน SCG ในไทย ก็ทำ R&D ต่อไป เพื่อทำของที่ยากขึ้น นี่คือ 4.0”
หากคำตอบคือ “ต้องออกไป” แล้วเรารออะไรกันอยู่
เพราะการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องยาก ดร.สมเกียรติ เล่าว่าปัจจุบันหลายกลุ่มยังลังเล และรู้ตัวช้ากว่า เพราะคิดว่าอยู่เมืองไทยสบายกว่า ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและอาหารการกิน หลายบริษัทที่ตัดสินใจออกไปลงทุน แต่เจอปัญหาว่าพนักงานไม่ยอมตามไปด้วย เหมือนที่ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่จุดนั้นแล้ว
“เราต้องวิ่งออกไป ไม่งั้นเราโตไม่ได้…
ผู้จัดการ หัวหน้าคนงาน ทุกคนอยากอยู่เมืองไทย คุณต้องออกไป บริษัทใหญ่อย่าง SCG มีนโยบายเลยว่า คุณจะได้เลื่อนขั้นก็ต่อเมื่อเคยอยู่ต่างประเทศมาก่อน คุณกานต์ ตระกูลฮุน CEO คนใหม่ เคยไปอยู่อินโดนีเซียมาก่อน ไปทำความเข้าใจตลาดก่อน จะเข้าใจตลาดจริงก็ต่อเมื่อไปอยู่เท่านั้น
นี่คือยากที่สุดสำหรับคนไทย เพราะใจมันไม่ไป ไปอยู่กัมพูชาหรือพนมเปญ อาหารไม่อร่อย ลูกเรียนที่ไหน เสาร์อาทิตย์จะทำอะไร ตีกอล์ฟ ดูหนังฟังเพลงได้ที่ไหน แต่พวกนี้ โตขึ้นเร็วมาก เปลี่ยนไปทุกปี ตอนนี้ กัมพูชา เวียดนามมีห้าง AEON มีร้านอาหารแบรนด์ไทยไปลงกันเต็มไปหมด FUJI Black Canyon MK โรงหนัง Major Cineplex สิ่งแวดล้อมทำให้อยู่ง่ายขึ้น เป็นจังหวะที่ควรออกไปได้แล้ว ค่าแรง กระบวนการผลิต ภาษีที่ได้ ถ้าคุ้ม บริษัทต้องตัดสินใจออกไปตั้งแต่ตอนนี้ ปรับทันคติให้เปิดกว้างและอินเตอร์
ต้องออกไปครับ ถ้ายังไม่กล้าไปลงทุน ออกไปเที่ยวก่อน ไปเดินห้างก่อน ไปเข้าใจไลฟ์สไตล์ ไปอยู่นานขึ้นๆ ต้องไปอยู่นานถึงจะเห็นแล้วเข้าใจ
เราต้องออกไป ยิ่งออกช้า โอกาสยิ่งน้อยลง” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย