เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนอย่างมาก ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อังกฤษโหวตขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ตามมาด้วยการประกาศนโยบายที่ร้อนแรงของทรัมป์และความไม่แน่นอนทางการเมืองในฝั่งยุโรปที่ยังคงมีอยู่ส่งผลให้แต่ละประเทศจะต้องคิดกลยุทธ์ เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของตนเอง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่จะต้องปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในทุกๆ ด้านตั้งแต่ฐานรากและวางอนาคตอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน
ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นและด้านที่เป็นความท้าทาย ซึ่งผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนต้องเตรียมความพร้อมปรับตัวทั้งในเชิงรุกและรับอย่างเท่าทัน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดงานสัมมนาและนิทรรศการ ‘Opportunity Thailand’ ขึ้น โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน เปิดการสัมมนา พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘โอกาสกับประเทศไทย 4.0’ ดังมีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
ปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจ
ก้าวข้ามกับดักการพัฒนาประเทศ ด้วย ‘Thailand 4.0’
ตั้งแต่อดีตประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจมาหลายครั้งเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยเริ่มจาก ‘Thailand 1.0’ ที่เน้นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่ ‘Thailand 2.0’ ที่เน้นอุตสาหกรรมเบาโดยใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มุ่งเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นสำคัญ จากนั้นประเทศไทยได้ก้าวสู่ ‘Thailand 3.0’ ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ภายใต้ ‘Thailand 3.0’ นั้น แม้จะทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องเผชิญกับ ‘กับดักประเทศรายได้ปานกลาง’ ‘กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง’ และ ‘กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา’ ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างครอบคลุมสมดุลและยั่งยืนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ ‘ประเทศไทย 4.0’ ที่จะก้าวข้ามกับดักต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งนำพาประเทศไทยให้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
วางเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่
พร้อมปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุน
ในด้านเศรษฐกิจประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อก้าวข้ามไปสู่โมเดลใหม่ของประเทศที่เรียกว่า ‘ประเทศไทย 4.0’ ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy)
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้วางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้าง ‘เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่’ (New Engines of Growth) โดยนำ ‘วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’ มาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับภาคเศรษฐกิจเดิมที่เรามีพื้นฐานดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างอุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ ที่มีศักยภาพให้เกิดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศในอนาคตได้
ล่าสุดรัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายด้านการลงทุนที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น นับจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ ‘ประเทศไทย 4.0’ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต
เร่งพัฒนาความพร้อมรองรับการลงทุน
และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC
นอกจากการที่รัฐบาลจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำนึงถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีในแต่ละสาขาแล้วรัฐบาลยังคำนึงถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึง และทำให้ประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียนั้น เกิดกิจกรรมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านกลไกของ ‘18 กลุ่มจังหวัด และ 76 จังหวัด’ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปของ ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ’ ทั้ง 10 จังหวัด ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่การพัฒนาพื้นที่ตอนในโดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าในภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในรูปแบบ ‘คลัสเตอร์’ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเชื่อมโยงทั้งทางบกทางน้ำและทางอากาศให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคที่แท้จริง
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นในด้านภูมิประเทศและมีศักยภาพที่จะรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่นำร่อง
ทั้งนี้ ในพื้นที่ EEC รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
มุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
ใน 5 มิติสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 นั้น การลงทุนของภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง นโยบายด้านการลงทุนในอนาคตจะเน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนใน 5 มิติที่สำคัญ ได้แก่
- มิติด้านเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีหลัก (Core Technologies) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่หลากหลาย ทั้งภาคเกษตร อาหารพลังงาน สุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติมาสู่ผู้ประกอบการและบุคลากรไทยอย่างเป็นระบบ
- มิติด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในประเทศเพื่อสร้าง ‘คนไทย 4.0’ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต รวมถึงการดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีทักษะสูง (Talents) จากต่างประเทศในสาขาที่ขาดแคลนมาช่วยกันพัฒนาประเทศด้วย
- มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมต่อ (Connectivity Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (Intellectual Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social Infrastructure)
- มิติด้าน Enterprise เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งทั้งการส่งเสริมให้เกิด Startup ในธุรกิจต่างๆ และการยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs เช่น การปรับเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การออกแบบและสร้างแบรนด์ของตนเองมากขึ้น (ODM & OBM) การส่งเสริมให้มีการนำเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการรวมถึงการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่มาช่วยพัฒนา Local Supplier ด้วย
- มิติด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นการส่งเสริม ให้เกิดการลงทุนและการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นฐานอุตสาหกรรมอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล
ขับเคลื่อนการลงทุน
ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
การปรับเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว จะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับใช้ในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าสูงโดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงหรือมีการวิจัยและพัฒนา ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่านโยบาย Thailand 4.0 นั้นเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสามารถสร้างรายได้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Gateway of ASEAN) อย่างแท้จริงต่อไป
EXECUTIVE SUMMARY
Thai Government under the lead by Prime Minister General Prayuth Chan-Ocha has paid attention to the country development with economic model, ‘Thailand 4.0’ by creating ‘New Set of Engines of Growth’ comprised of science, innovative technology and creative thinking, which is the key to elevate economic sector that has already had good foundation to achieve better level of competency as well as create potential industries and new services as the long term country development base by aiming to create economic value that will lead to the country’s sustainability in the future. In addition to investment policy in the future, the government will promote investment for adjusting the country’s economic structure in 5 dimensions.
Source:
- งานสัมมนาและนิทรรศการ Opportunity Thailand จัดโดย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)